ถึงแม้มนุษย์เราจะส่งคนไปยังดวงจันทร์ได้นานกว่า 50 ปี หรือส่งรถโรเวอร์ไปสำรวจดาวอังคารได้นานกว่า 22 ปี จนสามารถเก็บภาพถ่ายที่มีความละเอียดสูงกลับมายังโลกได้มากมาย แต่เรากลับไม่สามารถถ่ายภาพใต้มหาสมุทรได้ชัดเจนเหมือนกับการถ่ายภาพบนดาวดวงอื่น นั่นเป็นเพราะเรามีตัวแปรที่สำคัญอย่าง “น้ำ” ที่เป็นอุปสรรคในการบิดเบือนภาพถ่ายให้มีสีสันแตกต่างจากความเป็นจริงนั่นเอง
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดาร์ยา อัคคายนัค นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลและวิศวกรสาวชาวตุรกี ได้ใช้เวลานานกว่า 4 ปี ในการพัฒนา อัลกอริทึมที่มีชื่อว่า “ซี-ทรู” (Sea-thru) ที่จะช่วยลบน้ำที่อยู่ในภาพถ่ายใต้น้ำ จนทำให้เราสามารถเห็นสีจริงของสิ่งที่อยู่ใต้น้ำได้
จากภาพคุณจะเห็นว่า ภาพถ่ายของคุณจะมีสีสันกลับมาสมจริงเหมือนกับภาพถ่ายที่อยู่บนบก โดยไม่มีน้ำเป็นอุปสรรคที่ทำให้สีของภาพผิดเพี้ยนไป
เวลาที่แสงเดินทางผ่านลงมาใต้น้ำ แสงจะถูกดูดกลืนและกระจัดกระจาย สีของสิ่งต่าง ๆ ใต้น้ำที่เราเห็นก็จางลงไป โดยเฉพาะสีแดงและสีเหลือง นั่นทำให้ภาพถ่ายใต้น้ำดูซีดและผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงไปมาก
อลาสเตอร์ ไบลีย์ ช่างภาพใต้สมุทรผู้ผ่านประสบการณ์การดำน้ำมาเกินกว่า 500 ครั้ง ได้อธิบายว่า “การหักเหของแสงจะทำให้คุณเห็นวัตถุปรากฏใกล้ขึ้นและมีขนาดใหญ่ขึ้น อย่างไรก็ตาม หลังจากการดำน้ำสัก 2-3 ครั้ง คุณจะเริ่มรู้สึกว่ามันเป็นไปตามธรรมชาติ”
“น้ำและอนุภาคใด ๆ ก็ตามที่ลอยอยู่ในน้ำ จะมีผลต่อระยะการมองเห็นของคุณ และเมื่อคุณดำลงไปลึกมากขึ้น แสงจะค่อย ๆ ถูกดูดกลืนไป โดยเริ่มตั้งแต่สีแดง”
อเลสเตอร์อธิบายว่า ความท้าทายที่สุดของช่างภาพใต้น้ำก็คือข้อจำกัดด้านทัศนวิสัยและการดูดกลืนแสง โดยมีผลต่อความชัดและคอนทราสต์ของภาพถ่าย ทางเลือกแรกคือคุณต้องพกฟิลเตอร์สีแดงลงไปด้วย ซึ่งใช้ได้ผลในระหว่างความลึกที่พอเหมาะเท่านั้น ส่วนทางเลือกที่สองคือการใช้ไฟแฟลชกำลังสูง
ย้อนกลับมาที่อัลกอริทึม ซี-ทรู ของ ดาร์ยาและทาลี แน่นอนว่ามันจะประโยชน์กับนักชีววิทยาทางทะเลอย่างมาก เนื่องจากพวกเขาจำเป็นต้องพึ่งพาสีที่ถูกต้องในการจำแนกสายพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ รวมถึงการทำความเข้าใจปะการังและระบบนิเวศน์ทางทะเล ที่โดนผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน ผลลัพธ์ก็คือมันจะช่วยลดเวลาการทำงานของนักชีววิทยาทางทะเลได้อย่างมากมายมหาศาล
ผลงานของทั้ง 2 คนไม่ไช่มีแต่เสียงชื่นชม เพราะยังมีนักวิจารณ์บางส่วนมองว่า การนำน้ำออกจากภาพทำให้ภาพถ่ายขาดความน่าสนใจ และบางคนก็มองว่ามันเป็นการ “แก้ไขสีพื้นฐาน” ซึ่งยังห่างไกลกับคำว่าการปฏิวัติวงการถ่ายภาพใต้น้ำ
อย่างไรก็ตาม อัลกอริทึม ซี-ทรู จะแตกต่างจากการตัดต่อภาพด้วย Photoshop อย่างสิ้นเชิง การใช้ Photoshop คือการเพิ่มสีที่น้ำดูดกลืนไปให้ดูเด่นขึ้นมา แต่ ซี-ทรู เป็นการ “แก้ไขความถูกต้องของสี” นั่นหมายความว่า คุณจะเห็นสีของพืชและสัตว์ที่อยู่ใต้น้ำได้เหมือนกับตอนที่มันอยู่บนบกทุกอย่าง
ในขณะที่ความเห็นของชาวเน็ตส่วนใหญ่ชื่นชอบการทำงานของอัลกอริทึมนี้มาก ๆ และหวังว่าจะได้เห็นมันถูกนำไปปรับใช้กับกล้องถ่ายรูปยี่ห้อต่าง ๆ รวมไปถึงกล้องสมาร์ทโฟน ซึ่งจะช่วยให้คนธรรมดา ๆ อย่างเราได้มีโอกาสมองโลกใต้น้ำเปลี่ยนไปอีกด้วย
ที่มา : boredpanda | เรียบเรียงโดย เพชรมายา
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ