นักบินอวกาศส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าเมื่อคุณออกจากโลก จะไม่มีอะไรเหมือนเดิมเมื่อคุณกลับมา มันอาจเป็นเรื่องดีขึ้นหรือแย่ลงก็ได้ แนวคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงนี้ดูเหมือนจะเป็นจิตวิทยาสำหรับผู้ที่เดินทางไปในอวกาศส่วนใหญ่
แต่สำหรับ เซอร์เก คริคาเลฟ นักบินอวกาศจากสหภาพโซเวียตได้ตระหนักว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศบ้านเกิดของเขาจะทำให้เขาได้กลับบ้านอย่างปลอดภัยหรือไม่
ย้อนกลับไปในปี 1991 เซอร์เกในวัย 33 ปีได้เดินทางจากฐานปล่อยจรวดไปยังสถานีอวกาศเมียร์ ในช่วงเวลานั้นเอง สถานีอวกาศแห่งนี้จำเป็นต้องได้รับการบำรุงรักษาอย่างหนัก เซอร์เกคือวิศวกรที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการซ่อมแซมและทดลองใช้ชีวิตอยู่ในอวกาศไปพร้อม ๆ กัน นั่นคือการเดินทางสู่อวกาศเป็นครั้งที่ 2 ของเขาและเขาไม่มีวันลืมไปตลอดชีวิต
ซึ่งในช่วงเริ่มต้นของการผจญภัยนี้เขาไม่ได้อยู่คนเดียว
อนาโตลี อาร์ตเซบาร์สกี นักบินอวกาศเพื่อนร่วมชาติของเขาและ เฮเลน ชาร์แมน นักบินอวกาศคนแรกของสหราชอาณาจักรได้ออกเดินทางไปกับเซอร์เกด้วย แต่ทั้ง 2 คนก็อยู่ในอวกาศแค่เพียงไม่นานจนในที่สุดก็เหลือเพียงแค่เซอร์เกคนเดียวที่อยู่บนนั้น
เซอร์เก คริคาเลฟ ควรจะอยู่ในอวกาศแค่เพียง 5 เดือนเท่านั้น ถือเป็นการเดินทางไปอยู่ในอวกาศที่กินระยะเวลาไม่สั้นไม่ยาวจนเกินไป แต่ในขณะที่เขาใช้ชีวิตอยู่ในอวกาศเหตุการณ์ไม่คาดฝันมากมายก็เกิดขึ้นบนโลก ซึ่งส่งผลให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
การล่มสลายของสหภาพโซเวียต
ในขณะที่เขาทำงานในสถานีอวกาศเมียร์ สหภาพโซเวียตซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดของเขาได้ล่มสลายจนกลายเป็นสาธารณรัฐอิสระ 15 แห่งในวันที่ 26 ธันวาคม 1991 การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ได้ส่งผลกระทบต่อการเดินทางในอวกาศของเขา
ประธานาธิบดีมีฮาอิล กอร์บาชอฟ ตัดสินใจลาออกและส่งมอบอำนาจต่อให้กับ บอริส เยลต์ซิน ธงชาติโซเวียตถูกชักลงจากเสาและถูกแทนที่ด้วยธงชาติรัสเซียแทน ทั้งหมดนี้ทำให้สถานะภารกิจของเซอร์เก คริคาเลฟ เริ่มเลือนลาง เนื่องจากประเทศบ้านเกิดที่รับผิดชอบเรื่องการเดินทางของเขาไม่มีอยู่จริงแล้วตอนนี้
พลเมืองโซเวียตคนสุดท้าย
เซอร์เกต้องติดอยู่ในอวกาศอย่างช่วยไม่ได้ และไม่มีใครคิดจะช่วยเขา แถมเขายังได้รับฉายาว่าเป็น “พลเมืองคนสุดท้ายของสหภาพโซเวียต” คำถามที่เกิดขึ้นในตอนนั้นก็คือ เซอร์เกจะกลับสู่โลกอย่างไร ที่ไหน และเมื่อไหร่
สิ่งที่ซับซ้อนไปกว่านั้นก็คือ เซอร์เกเดินทางผ่านจรวดที่ถูกปล่อยขึ้นไปจาก “ไบโคนูร์คอสโมโดรม” ศูนย์ปล่อยอวกาศยานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่กลายเป็นประเทศคาซัคสถานไปแล้วเรียบร้อย และจรวดเหล่านี้ก็ไม่ได้มีราคาถูก
สิ่งที่เหมือนตลกร้ายก็คือ คาซัคสถานได้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจำนวนมากจากรัสเซียสำหรับการใช้ศูนย์ปล่อยอวกาศยานที่เคยเป็นของพวกเขา นั่นส่งผลให้การเดินทางกลับบ้านของเซอร์เกล่าช้าลงมาก เพราะเศรษฐกิจในประเทศรัสเซียกำลังถดถอยอย่างหนัก
โอกาสกลับบ้านที่ต้องแลกกับงานที่เขารัก
เมื่อเวลาผ่านไปถึงจุดหนึ่ง เซอร์เกมีโอกาสที่จะเดินทางกลับมายังโลกด้วย Raduga แคปซูลย้อนกลับที่ใช้สำหรับส่งคืนวัสดุสู่พื้นผิวโลก แต่ถ้าเซอร์เกตัดสินใจกลับมาก็จะทำให้สถานีอวกาศเมียร์ถูกทิ้งร้างไร้คนดูแล
ในที่สุด เซอร์เกได้ปฏิเสธที่จะกลับบ้าน เขาต้องการทุ่มเทให้กับการดูแลสถานีอวกาศเมียร์ต่อไปจนกว่าจะมีวิศวกรคนใหม่มาแทน แต่การอยู่ที่นั่นก็จำเป็นต้องใช้เงินเช่นกัน
การระดมทุนเพื่อสานต่อภารกิจ
รัฐบาลรัสเซียพยายามหาเงินทุนโดยการขายทริปเดินทางไปยังสถานีอวกาศให้กับรัฐบาลอื่น ๆ มีบางประเทศที่ให้ความสนใจทริปนี้ เช่น ออสเตรียที่จ่ายเงิน 7 ล้านเหรียญเพื่อซื้อตั๋ว 1 ใบ และญี่ปุ่นก็ยอมจ่ายเงิน 12 ล้านเหรียญเพื่อส่งนักข่าวคนหนึ่งไปยังอวกาศ แต่สุดท้ายการระดมทุนก็ล้มเหลว
ในที่สุด หลังจากที่รัสเซียและคาซัคสถานเจรจาข้อตกลงกันได้เรียบร้อย นักบินอวกาศชาวคาซัคคนแรกและนักบินอวกาศชาวออสเตรียคนแรกก็ถูกส่งไปยังสถานีอวกาศเมียร์ได้สำเร็จ
ปัญหายังไม่จบแค่นั้น
ฟรานซ์ วีบ็อก นักบินอวกาศคนแรกของออสเตรีย (ซ้าย) และ ทอกตาร์ อูบาคิรอฟกี นักบินอวกาศคนแรกของคาซัคสถาน (ขวา) ที่เดินทางไปพร้อมกับกัปตัน อเล็กซานเดอร์ โวลคอฟ (กลาง)
การเดินทางของนักบินอวกาศชุดใหม่ดูเหมือนจะทำให้เซอร์เกโล่งใจแต่มันกลับไม่เป็นเช่นนั้น เซอร์เกไม่สามารถเดินทางกลับได้ในทันทีเพราะพวกเขาไม่มีความรู้และทักษะเพียงพอที่จะดูแลสถานีอวกาศต่อจากเขา
ในขณะที่ช่วงเวลาดังกล่าวชื่อของ เซอร์เก คริคาเลฟ ได้กลายเป็นข่าวดังบนหน้าสื่ออย่างต่อเนื่อง หลายคนเห็นอกเห็นใจเขาอย่างมาก สื่อแท็บลอยด์ของรัสเซียก็เล่นพาดหัวว่า “โลกลืมเรื่องนักบินอวกาศไปแล้ว”
ในขณะที่สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น ความกดดันก็ถาโถมไปหารัฐบาลรัสเซียจนพวกเขาต้องทำทุกวิถีทางเพื่อพาเซอร์เกกลับมายังโลกให้ได้ รวมถึงแผนการขายสถานีอวกาศเมียร์ให้กับสหรัฐอเมริกา แต่นาซ่าไม่ได้แสดงความสนใจสักเท่าไหร่
กลับมาโดดเดี่ยวพร้อมสุขภาพที่ถดถอย
หลังจากนักบินอวกาศคนอื่นกลับไป ความเบื่อหน่ายไม่ใช่ปัญหาเพียงอย่างเดียวของเซอร์เก ร่างกายของเขาก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน การอยู่ในอวกาศนานเกินไปจะทำให้คุณเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนมากมาย เช่นกล้ามเนื้อลีบ การเจอกับรังสี ระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง หรือแม้กระทั่งมะเร็ง
“ผมสงสัยว่าตัวเองมีพลังมากพอที่จะเอาตัวรอดจนจบภารกิจนี้ได้หรือไม่” เซอร์เกกล่าวท่ามกลางสถานการณ์ที่สิ้นหวัง “ผมไม่เคยแน่ใจเลย”
การกลับมายังโลกอีกครั้ง
ต้องขอบคุณประเทศเยอรมนีที่ตัดสินใจยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือภารกิจครั้งนี้ พวกเขายอมควักเงิน 24 ล้านเหรียญเพื่อซื้อตั๋วเดินทางไปยังอวกาศ โดยการส่ง เคลาส์-ดีทริช ฟลาด นักบินอวกาศชาวเยอรมนีไปแทนเซอร์เก คริคาเลฟ
ส่งผลให้เซอร์เกหมดหน้าที่ดูแลสถานีอวกาศเมียร์และได้เดินทางกลับมายังโลกในวันที่ 25 มีนาคม 1992 ซึ่งรวมเวลาที่เขาใช้ชีวิตอยู่ในอวกาศทั้งสิ้น 311 วัน
กว่า 10 เดือนที่เขาไม่ได้พบเจอกับแรงโน้มถ่วงของโลก ทำให้เจ้าหน้าที่ 4 คนต้องค่อย ๆ พยุงเขาให้ยืนขึ้นหลังจากก้าวออกมาจากแคปซูล
การกลับมาเหยียบโลกอีกครั้งของ เซอร์เก คริคาเลฟ กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก รายงานฉบับหนึ่งระบุว่าสภาพร่างกายของเขา “ซีดเหมือนแป้ง และชุ่มโชกราวกับก้อนแป้งเปียก”
ไม่เคยกลัวที่จะกลับไปอวกาศ
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ หลังจากนั้นอีก 2 ปี เซอร์เก คริคาเลฟ ได้กลับขึ้นไปในอวกาศอีกครั้ง โดยครั้งนี้เขาได้มีโอกาสร่วมงานกับทางนาซ่า และหลังจากนั้นเขาก็ได้มีโอกาสขึ้นไปในอวกาศอีกหลายครั้ง
ภารกิจครั้งที่ 6 คือการเดินทางสู่อวกาศครั้งสุดท้ายของเซอร์เก ซึ่งเป็นภารกิจ Expedition 11 ในปี 2000 เขาใช้เวลาอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาตินานถึง 4 เดือนครึ่ง และนั่นทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในมนุษย์ที่ใช้เวลาอยู่บนอวกาศนานที่สุดในโลก
ที่มา : boredomtherapy | เรียบเรียงโดย เพชรมายา