มีการศึกษาหนึ่งเกี่ยวกับฝาแฝดที่ถูกเลี้ยงดูจากสถานที่ที่แตกต่างกัน อาจส่งผลกระทบต่อสติปัญญามากกว่าที่เราคิด
ย้อนกลับไปในปี 1974 เด็กหญิงฝาแฝดคู่หนึ่งได้ออกมาลืมตาดูโลกในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ และทั้งคู่ถูกจับแยกกันเมื่อตอนอายุได้ 2 ขวบ หลังจากที่ 1 ในนั้นเกิดหลงทางในขณะที่ไปซื้อของกับคุณยายที่ตลาด
พ่อแม่ของเธอต่างพยายามตามหาลูกสาวที่หายไปอย่างสุดความสามารถ รวมถึงการลงทุนเปิดร้านค้าที่ตลาดแห่งนั้นเผื่อว่าสักวันจะเจอลูกสาวที่หายไป แต่ทั้งคู่ก็ไม่เคยได้พบเธออีกเลย
ในขณะที่เด็กหญิงฝาแฝดที่หลงทางถูกส่งไปยังสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ต่อมาเธอได้รับการอุปการะจากคู่สามีภรรยาชาวอเมริกันคู่หนึ่ง ซึ่งพาเธอกลับไปอาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา.
ภาพวัยเด็กของ ยุน ซังฮี ยังคงอยู่กับครอบครัวในเกาหลีใต้ ส่วน ยุน ซังแอ ไปเติบโตในอเมริกา
ในขณะที่ ยุน ซังแอ ได้ชื่อใหม่คือ เดนิส แม็กคาธี เธอเติบโตมาบนแผ่นดินอเมริกาโดยที่ไม่เคยรู้เลยว่าตัวเองมีพี่น้องฝาแฝด
จนกระทั่งเวลาล่วงเลยมาจนถึงปี 2018 เธอตัดสินใจส่ง DNA ของตัวเองไปยังโครงการของเกาหลีใต้ที่ช่วยตามหาครอบครัวที่พลัดพรากจากกัน และ 2 ปีต่อมา ซังแอค้นพบว่าเธอไม่เพียงมีฝาแฝดเท่านั้น แต่เธอยังมีพี่ชายและพี่สาวอีกด้วย
ยุน ซังฮี ที่ทำงานเป็นข้าราชการ ในขณะที่ ยุน ซังแอ เป็นเชฟ
เมื่อฝาแฝดทั้ง 2 กลับมาพบกันอีกครั้ง พวกเธอถูกนำไปทำแบบทดสอบหลายชุดที่ออกแบบมาเพื่อประเมินความฉลาด สุขภาพจิต และประวัติการแพทย์ ทั้งหมดนี้เพื่อศึกษาว่าฝาแฝดที่ถูกแยกจากกัน เมื่อเติบโตกันคนละสถานที่จะมีไอคิวที่แตกต่างกันขนาดไหน
สิ่งที่น่าเหลือเชื่อก็คือ ยุน ซังฮี ที่เติบโตในเกาหลีมีไอคิวสูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด โดยมีคะแนนไอคิวมากกว่าคู่แฝดของเธอถึง 16 หน่วย
ผลการศึกษาดังกล่าวถูกตีพิมพ์ในวารสาร Personality and Individual Differences ได้ขัดแย้งกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่มีลักษณะคล้ายกัน ที่ระบุว่าฝาแฝดจะมีไอคิวที่แตกต่างกันไม่เกิน 7 หน่วยเท่านั้น
ในขณะที่นักวิจัยไม่สามารถสรุปได้ว่า ความแตกต่างของไอคิวนั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับประเทศที่พวกเธอเติบโตมาหรือไม่
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ยุน ซังแอ ที่เติบโตมาในสหรัฐอเมริกาเคยถูกกระทบกระเทือนที่ศีรษะถึง 3 ครั้ง ซึ่งมันอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความสามารถในการรับรู้
เมื่อพูดถึงสภาพแวดล้อมในครอบครัว ซังฮีเติบโตมาในครอบครัวที่อบอุ่นในเกาหลีใต้ แต่ซังแอมีวัยเด็กที่ค่อนข้างแย่ เธอต้องสูญเสียครอบครัว จากนั้นก็ได้พบกับครอบครัวใหม่ และมีความขัดแย้งกับครอบครัวใหม่จนส่งผลให้พ่อแม่บุญธรรมของเธอต้องหย่าร้างกันในที่สุด
แม้จะมีวัยเด็กที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่ทั้งคู่ก็มีคะแนน ‘ความนับถือตนเอง’ และ ‘ภาวะสุขภาพจิต’ ที่เท่า ๆ กัน
นักวิจัยพบว่า ลักษณะบุคลิกภาพโดยรวมของฝาแฝดมีความคล้ายคลึงกัน และมีนิสัยหลายอย่างที่เหมือนกันอย่างมาก เช่น มีความซื่อตรงสูง เป็นคนมีเป้าหมาย มีระเบียบ มีความรับผิดชอบ และมุ่งมั่นเพื่อความสำเร็จ
สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า แม้จะมีความแตกต่างทางการเลี้ยงดูอย่างมาก แต่ฝาแฝดทั้งสองต่างก็มีบุคลิก ค่านิยม และแนวทางในการใช้ชีวิตที่คล้ายกัน
ถึงแม้ว่าความแตกต่างทางวัฒนธรรมจะส่งผลต่อบุคลิกภาพของทั้งคู่ในบางส่วน แต่อิทธิพลของพันธุกรรมกลับมีผลต่อพัฒนาการที่มากกว่า ซึ่งนักวิจัยยังคงต้องหาตัวอย่างเพื่อทำการศึกษาเรื่องนี้ต่อไป
ที่มา: blogtuan | เรียบเรียงโดย เพชรมายา