แคร์รอตเป็นผักที่มีเบต้าแคโรทีนเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีวิตามินเอช่วยบำรุงสายตา และมีประโยชน์มากสำหรับผู้ที่ขาดวิตามินเอ ซึ่งข้อมูลนี้ก็ดูเป็นเรื่องปกติดี แต่ John Stolarczyk ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์แคร์รอตโลกเล่าว่า เคยมีตำนานที่แพร่หลายเกี่ยวกับแคร์รอต ที่ว่าแคร์รอตช่วยให้เราสามารถมองเห็นในความมืดได้ดี ซึ่งความเชื่อผิด ๆ นี้เป็นผลมาจากโฆษณาชวนเชื่อของอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
John Stolarczyk ไม่มั่นใจว่าจุดเริ่มต้นของความเชื่อเรื่องแคร์รอตนี้มาจากไหน แต่เขาเชื่อว่ามันได้รับการส่งเสริมโดยกระทรวงเทคโนโลยี เป็นการรณรงค์ชักชวนให้กินแคร์รอตเพื่อปิดบังเทคโนโลยีสำคัญที่จะเป็นชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร
ในปี 1940 รัฐบาลอังกฤษออกคำสั่งดับไฟทั่วเมืองเพื่อทำให้เครื่องบินเยอรมันยิงเป้าหมายได้ยากขึ้น ในตอนนั้น อังกฤษสามารถพัฒนาระบบเรดาร์แบบใหม่ขึ้นมาได้ จึงทำให้กองทัพอากาศสามารถยิงเครื่องบินเยอรมันได้อย่างแม่นยำ และเพื่อไม่ให้ข้อมูลเรดาร์นี้เล็ดลอดออกไป กระทรวงจึงให้เหตุผลว่า ที่อังกฤษสามารถยิงเครื่องบินของเยอรมันได้สำเร็จ เพราะให้นักบินอังกฤษกินแคร์รอตเยอะ ๆ
Stolarczyk เล่าว่า เขาไม่มีหลักฐานว่าเยอรมนีหลงกลแผนนี้หรือไม่ แต่ความเชื่อว่าการกินแคร์รอตเพื่อช่วยรักษาสุขภาพดวงตานั้นฝังแน่นอยู่ในใจของชาวเยอรมัน มีเรื่องเล่าที่ไม่มีหลักฐานว่าเยอรมันเริ่มให้นักบินกินแคร์รอตมากขึ้น
ไม่ว่าชาวเยอรมันจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม ประชาชนชาวอังกฤษเชื่อว่าการกินแคร์รอตจะช่วยให้พวกเขามองเห็นได้ดีขึ้น โฆษณาที่มีสโลแกน “แคร์รอตช่วยให้คุณมีสุขภาพแข็งแรงและช่วยให้คุณมองเห็นได้ในความมืดมิด” ปรากฏขึ้นทั่วทุกที่
แต่โฆษณาชวนเชื่อแคร์รอตไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เมื่อเยอรมันปิดล้อมเรือเสบียงอาหาร ทำให้อังกฤษไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบต่าง ๆ ได้ เช่น น้ำตาล เบคอน และเนย สงครามอาจจะตัดสินผู้ชนะได้จากปากท้องของประชาชน ดังนั้นในปี 1941 จึงมีการโฆษณาชวนเชื่อสรรพคุณของแคร์รอตอีกครั้ง
กระทรวงอาหารของอังกฤษได้เปิดตัวแคมเปญ Dig For Victory มีการแนะนำตัวการ์ตูน ดร.แคร์รอต และ มันฝรั่งพีท เพื่อรณรงค์ให้คนกินผักมากขึ้น และสนับสนุนให้แต่ละครอบครัวเริ่มทำสวนและลองสูตรอาหารใหม่ ๆ แคร์รอตได้รับการส่งเสริมให้เป็นสารให้ความหวานในของหวานในกรณีที่ไม่มีน้ำตาล เนื่องจากน้ำตาลถูกปันส่วนให้เหลือเพียง 8 ออนซ์ต่อผู้ใหญ่ 1 คนต่อสัปดาห์ ใบปลิวของกระทรวงเต็มไปด้วยสูตรของหวาน ไม่ว่าจะเป็นพุดดิ้งแคร์รอต เค้กแคร์รอต และแยมแคร์รอต
จากข้อมูลของ Stolarczyk กระทรวงอาหารได้สนับสนุนให้มีการผลิตผักเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จนในปี 1942 มีปริมาณแคร์รอตเหลือมากถึง 100,000 ตัน
มีโฆษณาดร.แคร์รอตอยู่ทุกหนทุกแห่ง แม้แต่ดีสนีย์ก็เข้ามาช่วยด้วย Hank Porter นักเขียนการ์ตูนชั้นนำของดีสนีย์ได้ออกแบบตัวการ์ตูนครอบครัวแคร์รอตโดยอ้างอิงมาจากดร.แคร์รอต เพื่อให้อังกฤษใช้โปรโมทต่อสาธารณชน
อีกด้านหนึ่งในช่วงเวลาเดียวกัน ตัวการ์ตูนกระต่าย บักส์ บันนี่ ก็ถูกนำมาใช้เป็นการ์ตูนโฆษณาชวนเชื่อในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สหรัฐอเมริกาเช่นกัน ก็ไม่รู้ว่าเป็นแค่เรื่องบังเอิญหรือไม่ แต่เรื่องนี้ทำให้เห็นว่า การโฆษณาชวนเชื่อซ้ำๆสามารถทำให้คนฟังเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นจริงได้
ที่มา : smithsonianmag | เรียบเรียงโดย เพชรมายา
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ