การผจญภัยของนักสำรวจชาวสเปนซึ่งเป็นที่มาของชื่อป่า “แอมะซอน”

แอมะซอน (Amazon) คือชื่อป่าที่เราคุ้นเคยกันดีเพราะมันคือป่าดิบชื้นที่มีขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดในโลก แต่เรารู้จักป่าแอมะซอนมากกว่าที่มันเป็นบ้านของปลาปิรันยากับงูยักษ์อนาคอนดาหรือไม่

ป่าแอมะซอนคือสถานที่สุดมหัศจรรย์สำหรับนักสำรวจมาตั้งแต่ยุคโบราณ ที่นี่ไม่ใช่แค่ป่าที่มีแม่น้ำ แต่มันใหญ่ราวกับทวีป มีน้ำทะเลที่ไหลผ่าน มีทะเลสาบและแม่น้ำที่มีปริมาณน้ำจืดมากถึง 1 ใน 5 ของโลก มีภูเขาสูง ทุ่งหญ้าสะวันนา หนองน้ำท่วม ปลาที่กินผลไม้จากกิ่งก้านของต้นไม้ และเป็นที่อยู่ของชนเผ่านับไม่ถ้วน

ชาวยุโรปกลุ่มแรกที่เดินทางมาถึงที่นี่ต่างตกตะลึงกับธรรมชาติที่พวกเขาไม่เคยได้สัมผัสจนไม่อาจบรรยายได้ และรวมถึงชนเผ่าที่พวกเขาไม่คาดคิดมาก่อน จนกลายเป็นที่มาของป่าชื่อ “แอมะซอน” ที่มาจากชื่อเผ่านักรบหญิงในตำนาน

ย้อนกลับไปในปี 1542 ฟรานซิสโก เด โอเรลลานา นักสำรวจชาวสเปนคือชาวยุโรปคนแรกที่ค้นพบป่าแห่งนี้โดยบังเอิญ เขาได้เข้าร่วมกองทัพของ กอนซาโล ปิซาร์โร หนึ่งในสองพี่น้องผู้นำกองทัพสเปนพิชิตเปรูในช่วงศตวรรษที่ 16

ฟรานซิสโกได้ออกเดินทางไปสำรวจป่าทางตะวันออกของเอกวาดอร์เพื่อค้นหาอบเชยและทองคำ หลังจากที่ กอนซาโล ปิซาร์โร ได้รับรายงานจากชาวแอนเดียนพื้นเมืองว่า ดินแดนที่อยู่ห่างไกลจากภูเขาออกไปอุดมไปด้วยเครื่องเทศและโลหะมีค่า ต่อมามันกลายเป็นที่ดึงดูดนักสำรวจอย่างมากในช่วงเวลานั้น

หลังจากที่ใช้เวลาเดินเตร็ดเตร่ในป่าเกือบปี ฟรานซิสโกไม่พบอะไรนอกจากแหล่งน้ำและต้นไม้ และกองทัพครึ่งหนึ่งของเขาก็ล้มหายตายจากไปเรื่อย ๆ จากความอดอยากและโรคภัยไข้เจ็บ

เมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่ง กอนซาโลตัดสินใจส่งฟรานซิสโกล่องไปตามแม่น้ำแห่งหนึ่ง (ปัจจุบันคือแม่น้ำโคซา) เพื่อค้นหาเสบียง พร้อมกับกองทัพของเขาราว 60 คนและอาวุธครบมือ แต่ฟรานซิสโกไม่เคยมีโอกาสกลับไปหากอนซาโลอีกเลย

หลังจากหนึ่งสัปดาห์ของการลอยแพไปตามแม่น้ำเรื่อย ๆ ลูกน้องของฟรานซิสโกก็ค่อย ๆ ล้มหายตายจากไปเรื่อย ๆ คนที่เหลือก็ลุกขึ้นต่อต้านเขาและบังคับให้เขามุ่งหน้าไปทางตะวันออก จนกระทั่งได้พบกับเผ่าอิริมาไร (อาจเป็นเผ่าทิกูนาในปัจจุบัน) ที่อาศัยอยู่ใกล้กับแม่น้ำโคคาและแม่น้ำนาโป

ชนเผ่าที่อาศัยในป่าต่างตื่นตระหนกในตอนแรก แต่หลังจากนั้นพวกเขาก็ช่วยเหลือกองทหารชาวสเปนที่ผอมแห้งด้วยการอาหาร เสื้อผ้า ช่วยสร้างเรือใหม่และส่งพวกเขาล่องไปตามแม่น้ำแอมะซอน

ไกลออกไปทางทิศตะวันออก กองทัพชาวสเปนได้พบกับชาวเผ่ามาชิปาโรที่เลี้ยงปลายักษ์ในทะเลสาบที่ขุดขึ้นเอง และชนเผ่าอีกกลุ่มที่มีอารยธรรมชั้นสูงบนพื้นที่ราบลุ่ม ที่นี่มีถนนเป็นทางออกมาจากหมู่บ้าน มีโกดังเก็บของที่เต็มไปด้วยฝ้าย ข้าวโพด มันสำปะหลัง และเครื่องปั้นดินเผาที่ดีกว่าที่พวกเขาเคยเห็นมาในยุโรปทั้งหมด

ต่อมาฟรานซิสโกได้เดินทางมาถึงปากแม่น้ำสีดำแห่งหนึ่งที่พวกเขาเรียกมันว่าริโอเนโกร ซึ่งเป็นชื่อที่ยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ และเขาได้พบกับชนเผ่าที่สร้างเสาโทเท็มเสือจากัวร์ขนาดยักษ์เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อผู้ปกครองของพวกเขา

“มันเป็นเผ่าของนักรบหญิงที่รูปร่างสูงใหญ่และโหดร้าย” ฟรานซิสโกจึงเรียกพวกเธอว่า “ชาวแอมะซอน” ที่อ้างอิงมาจากชื่อของเผ่านักรบหญิงในตำนานกรีกโบราณ ที่ถูกเขียนโดย ‘เฮอรอโดทัส’ นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกโบราณและ ‘โฮเมอร์’ กวีชาวกรีกโบราณ

กลุ่มของฟรานซิสโกถูกโจมตีโดยนักรบหญิงหลายสิบคนจากเผ่านี้ (คาดว่าเป็นเผ่าทาปูยาในปัจจุบัน) กาสปาร์ เดอ การ์บาฆัล นักประวัติศาสตร์ของคณะสำรวจอธิบายว่าพวกเธอมีลักษณะ “ขาวและสูงมาก มีผมถักเปียที่ยาวมาก และมีร่องรอยบาดแผลที่ศีรษะ พวกเธอแข็งแกร่งมาก มีคันธนูและลูกธนูอยู่ในมือ และต่อสู้ได้มากเท่ากับชายชาวอินเดียนับ 10 คน”

ในที่สุด ฟรานซิสโกก็รอดไปถึงปากแม่น้ำในเวเนซูเอลา และเดินทางกลับไปยังประเทศสเปนโดยไม่ได้กลับไปหาเจ้านายของเขาอีก ต่อมาเมื่อบันทึกของกาสปาร์โด่งดัง ตำนานนักรบหญิงแห่งอเมริกาใต้ก็เป็นที่รู้จักไปทั่ว และสุดท้ายพื้นที่ป่าแห่งนี้ก็ได้รับการตั้งชื่อว่า “แอมะซอน” เพื่อเป็นเกียรติแก่นักรบหญิงที่พวกเขาพบนั่นเอง

ที่มา: theculturetrip | เรียบเรียงโดย เพชรมายา