นักประดิษฐ์สร้างแขนจักรกลที่ขยับได้สมจริงด้วยกล้ามเนื้อสังเคราะห์

ต้องยอมรับว่าโลกของเรากำลังก้าวเข้าสู่การใช้ AI เข้ามาแทนที่มนุษย์ นอกจากนั้นเรายังสร้างสรรค์หุ่นจักรกลที่สามารถเคลื่อนไหวได้ ซึ่งเรากำลังก้าวเข้าไปสู่หุ่นจักรกลที่สมจริงราวกับมนุษย์เข้าไปทุกขณะ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ลูคัส โคสลิก วิศวกรหุ่นยนต์ชาวโปแลนด์จากชาแนล Automaton Robotics เพิ่งเผยแพร่คลิปวิดีโอที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “แขนจักรกล” ที่สามารถเคลื่อนไหวได้ราวกับแขนมนุษย์จริง ๆ

ลูคัสใช้เวลาหลายปีในการสร้างแขนจักรกลที่ขับเคลื่อนด้วยกล้ามเนื้อสังเคราะห์อันน่าทึ่ง เขาเชื่อมั่นว่าการเลียนแบบการทำงานของกล้ามเนื้อจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้มนุษย์เราสามารถสร้างหุ่นยนต์ที่มีประสิทธิภาพได้

แนวคิดของลูคัสคือการสร้างกล้ามเนื้อแม็กคิบเบน (McKibben Muscles) หรือกล้ามเนื้อเทียมปั๊มลม ที่ช่วยให้หุ่นยนต์ขยับนิ้วไปมา รวมถึงการขยับฝ่ามือเช่นเดียวกับการขยับกล้ามเนื้อของมนุษย์

“ในตอนนี้ แขนหุ่นยนต์ของเราใช้กล้ามเนื้อเทียมเพียงครึ่งเดียวเมื่อเทียบกับร่างกายมนุษย์” ลูคัสกล่าว

“กล้ามเนื้อที่ช่วยในการงอนิ้วที่แข็งแรงที่สุดยังไม่สมบูรณ์ นิ้วจะเคลื่อนที่จากซ้ายไปขวาแต่พวกมันยังไม่มีกล้ามเนื้อ กระดูกฝ่ามือและการเคลื่อนที่ของข้อมือยังคงถูกบล็อก รุ่นนี้มีเซ็นเซอร์ในข้อต่อแต่ละข้อ แต่ยังไม่ได้ทำการติดตั้งซอฟต์แวร์ เราจะเพิ่มทุกอย่างที่กล่าวมาในแขนต้นแบบรุ่นต่อไป”

ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ลูคัสมีเป้าหมายเพียงอย่างเดียวคือการสร้างหุ่ยนต์ฮิวแมนนอยด์ที่ล้ำสมัยที่สุดในโลกเท่าที่มนุษย์เคยเห็นมา และวิดีโอล่าสุดก็แสดงให้เห็นว่าเขาทำผลลัพธ์ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม

การขยับของกล้ามเนื้อเทียมผ่านการปั๊มลมเขาใช้อากาศหรือของเหลวไฮดรอลิกเพื่อทำให้มันสามารถหดตัวและผ่อนคลายได้ตามต้องการเช่นเดียวกับกล้ามเนื้อจริง โดยแขนจักรกลรุ่นล่าสุดของเขาเป็นระบบไฟฟ้าทั้งหมดและใช้ของเหลวอุณหภูมิต่ำที่ต้มแล้ว ในทางเทคนิคคือเลือดอุ่นของมนุษย์

นอกจากการขยับไปมาได้ ในคลิปวิดีโอของเขายังแสดงให้เห็นว่า แขนจักรกลนี้สามารถยกดัมเบลล์ที่มีน้ำหนัก 7 กิโลกรัมได้อีกด้วย ลองไปชมกันว่าแขนจักรกลของเขาสมจริงและน่าทึ่งแค่ไหน

สิ่งที่น่าทึ่งคือ ลูคัสไม่ได้มีบริษัทหนุนหลังในงานวิจัยและพัฒนา แต่เขาพึ่งพาผู้อุปถัมภ์ทางอินเทอร์เน็ตที่บริจาคเข้ามาบนโลกออนไลน์เท่านั้น

หวังว่าการเปิดเผยผลงานของเขาในครั้งนี้จะมีผู้ที่อยากสนับสนุนผลงานของเขา ซึ่งนั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้เห็นหุ่นยนต์ที่สมจริงเหมือนกับในภาพยนตร์ก็เป็นได้

ที่มา : odditycentral | Youtube | เรียบเรียงโดย เพชรมายา