บนโลกนี้มีสารมากมายที่พวกเราส่วนใหญ่ไม่เคยรู้จัก แต่วันนี้เพชรมายาจะพาคุณไปรู้จักสารชนิดหนึ่งที่เคยกลายเป็นข่าวดังเมื่อหลายสิบปีก่อน ที่สามารถหลอกลวงผู้คนทั้งโลกมาแล้ว
ย้อนกลับไปในปี 1983 หนังสือพิมพ์ Durand Express ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ในเมืองดูแรนด์ รัฐมิชิแกน ได้รายงานการพบ “ไดไฮโดรเจนอกไซด์” ในท่อส่งน้ำของเมือง และมีการเตือนว่าหากสูดดมเข้าไปอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต และมันอาจระเหยกลายเป็นไอได้ ซึ่งนั่นเป็นหนังสือพิมพ์ในฉบับเอพริลฟูส์ที่เป็นเพียงแค่การล้อกันเล่นเท่านั้น
หลังจากนั้นได้มีการพูดถึงสารชนิดหนึ่งที่ชื่อคล้ายกันคือ ไดไฮโดรเจนมอนอกไซด์ (Dihydrogen Monoxide) หรือ DHMO ในปี 1989-1990 โดยกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานตาครูซ ที่แจกใบปลิวเกี่ยวกับการปนเปื้อน DHMO ในมหาวิทยาลัย ซึ่งทั้งหมดมันเป็นแค่ “การอำ” เท่านั้น
ไดไฮโดรเจนมอนอกไซด์ คืออะไร
DHMO หรือที่รู้จักในอีกชื่อคือ กรดไฮดรอกซิล (Hydroxyl Acid) เป็นสารที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มีคุณสมบัติเร่งการกัดกร่อนและการเกิดของสนิมบนโลหะหลายชนิด เป็นองค์ประกอบหลักของฝนกรด เป็นส่วนทำให้เกิดปรากฎการณ์เรือนกระจก เป็นต้นเหตุของไฟฟ้าลัดวงจร เป็นตัวทำละลายและสารหล่อเย็นในอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในการผลิตโฟม และเป็นอันตรายหากหายใจเอามันเข้าไป
ที่สำคัญคือมันปนเปื้อนอยู่ในอาหารอีกหลายชนิด และคนส่วนใหญ่รู้จักกันในชื่อ … น้ำ (Water)
ใช่แล้วครับ มันคือ “น้ำเปล่า” นั่นเอง ซึ่ง ไดไฮโดรเจนมอนอกไซด์ หรือ DHMO เป็นชื่อที่ถูกนำมาล้อเลียนที่แสดงให้เห็นว่า การขาดความรู้ทางวิทยาศาสตร์ จะนำไปสู่ความตื่นกลัวในเรื่องที่ผิด ๆ ได้
แน่นอนว่าการอำที่เกิดขึ้นในปี 1990 ไม่ใช่เพียงแค่ครั้งเดียว เพราะ DHMO ถูกนำมาอำกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า และมันมักจะได้ผลอยู่เสมอ ตัวอย่างเช่นในปี 1994 เกร็ก แจ็กสัน นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเดียวกันได้นำเรื่องนี้กลับมารณรงค์ใหม่ด้วยการขอความร่วมมือในการแบนสาร DHMO
ในปี 1997 นาธาน โซห์เนอร์ นักเรียนวัย 14 ปี จากโรงเรียนมัธยมอีเกิลร็อก ในไอดาโอฟอลส์ รัฐไอดาโฮ ได้ทำแบบสำรวจกับนักเรียนเกรด 9 จำนวน 50 คน เกี่ยวกับภัยร้ายจาก DHMO โดยระบุรายละเอียดของสารชนิดนี้เป็นความจริงทั้งหมด (ซึ่งก็คือน้ำ) และมีถึง 43 คนที่โหวตให้แบนสารอันตรายตัวนี้โดยที่ไม่รู้ว่ามันคือน้ำ
งานวิจัยของนาธานมีชื่อว่า “เราหลงเชื่อง่ายแค่ไหน” ซึ่งทำให้ผลงานของเขาได้รับรางวัลที่หนึ่งในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ของโรงเรียน โดยผลการวิเคราะห์ของเขาสรุปได้ว่า “การใช้ข้อเท็จจริงไปกับผู้คนที่ไม่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ จะนำไปสู่ข้อสรุปที่ผิดพลาดได้”
ต่อมาในปลายปี 1997 ทอม เวย์ ได้แรงบันดาลใจจากเว็บเพจของเกร็กและงานวิจัยของนาธาน ไปสร้างเป็นเว็บไซต์ DHMO.org ขึ้น โดยเพิ่มข้อมูลอ้างอิงต่าง ๆ จากหน่วยงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและสถาบันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ DHMO ดูมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
การเล่นอำกันไม่ได้จบแค่ระดับโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย
ในวันเอพริลฟูส์ของปี 1998 สมาชิกรัฐสภาออสเตรเลียคนหนึ่งได้ประกาศรณรงค์ห้ามใช้ DHMO ในระดับนานาชาติ
ในอีก 3 ปีต่อมา เจ้าหน้าที่จากพรรคกรีนของนิวซีแลนด์ออกมาตอบสนองต่อข้อเรียกร้องในการห้ามใช้ DHMO โดยเธอกล่าวว่า ตนเองสนับสนุนการห้ามใช้สารพิษนี้อย่างเต็มที่ ก่อนที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่รู้ในครั้งนี้ และในอีก 6 เดือนต่อมาก็มี ส.ส. ที่ตกเป็นเป้าการอำนี้อีกเช่นกัน
ในปี 2002 พิธีกรรายการวิทยุแห่งหนึ่งพูดออกอากาศว่า ระบบน้ำในแอตแลนตาถูกตรวจพบว่ามีการปนเปื้อนของ DHMO และยังได้ระบุถึงอันตรายของสารชนิดนี้ ต่อมาโฆษกของระบบน้ำของเมืองได้บอกกับนักข่าวว่า ไม่มี DHMO ในระบบมากไปกว่าที่กฎหมายอนุญาต
ต่อมาในเดือนมีนาคม 2004 เมือง Aliso Viejo ในแคลิฟอร์เนียเกือบจะพิจารณาร่างกฎหมายห้ามใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทโฟมเพราะมีส่วนประกอบของ DHMO ในกระบวนการผลิต เนื่องจากมีทนายความคนหนึ่งขอให้นำเรื่องนี้เข้าสู่วาระการประชุม
ดูเหมือนพวกเขาเหล่านี้จะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า DHMO คืออะไร และมันถูกอำไปจนถึงการเมืองระดับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันเอพริลฟูลส์ที่มักจะนำเรื่อง DHMO มาล้อเล่นกันอยู่เสมอ
ดังนั้น ต่อจากนี้ถ้าคุณได้ยินชื่อ ไดไฮโดรเจนมอนอกไซด์ (Dihydrogen Monoxide) หรือ DHMO ล่ะก็ อย่าไปหลงเชื่อว่ามันเป็นสารอันตรายแต่อย่างใด เพราะจริง ๆ แล้วมันเป็นเพียงแค่ “น้ำเปล่า” เท่านั้น
ที่มา : wikipedia | เรียบเรียงโดย เพชรมายา