อะโวคาโดเป็หนึ่งในพืชที่ใช้พลังงานและทรัพยากรมากที่สุดในโลก แต่จริง ๆ แล้วคุณสามารถเลือกทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้มากกว่าเดิมที่มีชื่อว่า อีโควาโด (Ecovado)
ความนิยมของอะโวคาโดพุ่งสูงขึ้นในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา โดย World Economic Forum ประมาณการว่า ในแต่ละปีมีอะโวคาโดที่ถูกบริโภคมากถึง 5 พันล้านกิโลกรัมทั่วโลก อย่างไรก็ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดเป็นต้นทุนมหาศาลต่อสิ่งแวดล้อม
ป่าไม้ถูกถางเพื่อทำให้มีพื้นที่ว่างสำหรับปลูกอะโวคาโด แหล่งน้ำก็ถูกใช้จนแห้งเพราะถือว่ามันคือหนึ่งในพืชที่ไม่ยั่งยืนที่สุด ปัญหาทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการสร้าง ‘อีโควาโด’ เพื่อให้มันกลายเป็นอะโวคาโดในเวอร์ชันที่ดีกว่าเดิม
อีโควาโดเป็นผลงานการสร้างสรรค์ของ อารินะ โชโกฮิ ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้าน Material Futures หรือทางเลือกวัสดุเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน จากวิทยาลัย Central Saint Martins ในกรุงลอนดอน
เธอร่วมมือกับ แจ็ก วอลแมน นักวิทยาศาสตร์ด้านอาหารจากศูนย์นวัตกรรมด้านอาหารของมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม เพื่อคิดค้นอะโวคาโดเวอร์ชันใหม่ที่ถูกคิดขึ้นมาทดแทนของเก่า นับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่เนื่องจากพวกเขามีการใช้วัตถุดิบท้องถิ่นสำหรับโครงการนี้โดยเฉพาะ
เมื่อมองแวบแรก มันเป็นเรื่องยากที่จะแยกอีโควาโดออกจากอะโวคาโดได้ เนื่องจากพวกมันมีพื้นผิวที่คล้ายกันมาก แต่จริง ๆ แล้วมันทำมาจากขี้ผึ้งและแต่งสีด้วยสีผสมอาหาร ส่วนเนื้อของมันทำมาจากถั่วปากอ้า เฮเซลนัต แอปเปิ้ล และน้ำมันคาโนลา ซึ่งเป็นส่วนผสมที่อารินะอ้างว่าใกล้เคียงกับเนื้ออะโวคาโดที่เป็นครีมมาก
“รสชาติของอะโวคาโดค่อนข้างนวลเนียน และมักถูกอธิบายในลักษณะเหมือนครีม” อารินะกล่าว
“ในทางกลับกัน ถั่วปากอ้ามีสารรสขมที่เรียกว่าแทนนินค่อนข้างมาก และมีรสถั่วที่เกิดจากเอนไซม์ลิพอกซีจีเนส (lipoxygenase) ส่วนวิธีลดความขม เราลดปริมาณถั่วปากอ้าลงในสูตร รสชาติของอะโวคาโดค่อนข้างคล้ายถั่ว ดังนั้นเราจึงใช้ครีมฮาเซลนัตมาเสริมเพื่อช่วยเพิ่มปริมาณไขมันเพื่อให้มันเป็นครีมมากขึ้น”
สำหรับเมล็ดขนาดใหญ่ของอีโควาโด อารินะได้ทดลองกับตัวเลือกต่าง ๆ มากมาย รวมถึงลูกบอลที่ทำจากไม้หรือกระดาษรีไซเคิล แต่สุดท้ายเธอก็ใช้วิธีที่เรียบง่ายที่สุด นั่นคือการใช้ถั่วขนาดใหญ่ทั้งเมล็ด เช่น วอลนัต, เกาลัด หรือเฮเซลนัต
อีโควาโด เป็นโครงการปีสุดท้ายของอารินะที่ถูกออกแบบมาเพื่อขายในตลาดของสหราชอาณาจักรโดยใช้วัตถุดิบที่หาง่ายจากในท้องถิ่นทั้งหมด
ที่มา: odditycentral | dezeen