เบียร์ ถือเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยอดนิยมที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก แต่ก็มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถลิ้มรสชาติของเบียร์ได้อย่างเต็มที่ เพราะด้วยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ที่ส่งผลต่อสติสัมปชัญญะที่ขาดหายไป และนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ที่ตามมาในภายหลัง
แต่จะดีแค่ไหนถ้าบนโลกนี้มีเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ที่ยังคงเอาไว้ซึ่งรสชาติเอาไว้เหมือนเดิม
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร.โซทิริออส คัมปรานิส ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนในเดนมาร์ก ได้ดัดแปลงพันธุกรรมของยีสต์สายพันธุ์หนึ่งที่ชื่อว่า Saccharomyces Cerevisiae ที่ช่วยผลิตโมเลกุลที่ถูกพบในฮอปส์ได้
ฮอปส์ (Hops) คือพืชไม้เลื้อยชนิดหนึ่งที่มักนำมาตากแห้งและใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเบียร์ เพื่อให้เกิดเป็นกลิ่นและรสขมของเบียร์
แต่การผลิตเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะโดยทำให้ร้อนหรือการหมักให้น้อยที่สุด สิ่งที่หายไปก็คือกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ของฮ็อปส์ และนั่นส่งผลให้เบียร์ไร้แอลกอฮอล์จึงมีกลิ่นและรสชาติที่แตกต่างจากเบียร์ธรรมดาทั่วไป
ดร.คัมปรานิสกล่าวว่า “สิ่งที่เบียร์ไร้แอลกอฮอล์ขาดไปก็คือกลิ่นหอมจากฮ็อปส์”
“เมื่อคุณเอาแอลกอฮอล์จากเบียร์ออก เช่น การทำให้ร้อนขึ้น ผลก็คือกลิ่นหอมจากฮ็อปส์ก็ถูกกำจัดไปด้วย หรือวิธีการอื่น ๆ เช่นการลดการหมักให้น้อยที่สุดก็ไม่อาจทำให้เบียร์มีกลิ่นและรสชาติดั้งเดิมได้อยู่ดี เนื่องจากแอลกอฮอล์จำเป็นสำหรับฮ็อปส์ในการถ่ายทอดรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ให้กับเบียร์”
ศาสตราจารย์ชาวเดนมาร์กอธิบายต่อไปว่า “หลังจากทำวิจัยมาหลายปี เราพบวิธีที่จะผลิตกลุ่มของโมเลกุลขนาดเล็กที่เรียกว่า ‘โมโนเทอร์พีนอยด์’ (Monoterpenoid) ซึ่งทำให้เกิดรสชาติของฮ็อปส์ขึ้น”
“การเพิ่มพวกมันลงในเบียร์หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการผลิตจะทำให้รสชาติของเบียร์ที่หายไปกลับคืนมา ซึ่งไม่มีใครสามารถทำได้มาก่อน ดังนั้นมันจึงเป็นสิ่งที่จะเปลี่ยนเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ไปได้อย่างสิ้นเชิง”
สำหรับวิธีการสร้างกลิ่นหอมของฮ็อปส์ขึ้นมาใหม่โดยใช้โมโนเทอร์พีนอยด์กำลังได้รับการทดสอบในโรงเบียร์ทั่วประเทศเดนมาร์ก และคาดว่าจะพร้อมสำหรับอุตสาหกรรมผลิตเบียร์ทั้งหมดของเดนมาร์กภายในสิ้นเดือนตุลาคมปีนี้”
แม้ว่าเบียร์ไร้แอลกอฮอล์จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่นวัตกรรมของดร.คัมปรานิสจะมีส่วนสำคัญต่อุตสาหกรรมเบียร์ในประเทศทั้งหมด
แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ วิธีการของเขาจะทำให้อุตสาหกรรมการผลิตฮ็อปส์เปลี่ยนไป การปลูกฮ็อปส์เป็นกระบวนการที่สิ้นเปลืองพลังงานอย่างมาก โดยฮ็อป 1 กิโลกรัมจะต้องใช้น้ำไม่น้อยกว่า 2.7 ตัน
“ด้วยวิธีการของเรา เราข้ามการผลิตฮ็อปส์ไปโดยสิ้นเชิง เราต้องการเพียงแค่โมเลกุลที่ส่งผ่านกลิ่นและรสชาติ ไม่ใช่ฮ็อปส์ที่แท้จริง” ดร.คัมปรานิสกล่าว
“นอกจากนั้น ยังรวมไปถึงการใช้น้ำที่ลดลงมหาศาลและระบบการขนส่งที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป”
“นั่นหมายความว่าการผลิตกลิ่นฮ็อปส์ 1 กิโลกรัมจะใช้น้ำน้อยกว่าเดิม 10,000 เท่า และลดการผลิตคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า 100 เท่า”
“เมื่อโมเลกุลของฮ็อปได้มาจากยีสต์ เราจะรวบรวมและใส่ลงไปในเบียร์ ทำให้ได้รสชาติของเบียร์ไร้แอลกอฮอล์กลับมาเป็นเบียร์ที่เราคุ้นเคยอีกครั้ง” ดร.คัมปรานิสกล่าว
แน่นอนว่าการค้นพบในครั้งนี้ อาจทำให้คนที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ได้ร่วมโต๊ะปาร์ตี้สังสรรค์กับคนดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่ายยิ่งขึ้นก็เป็นได้
ที่มา : odditycentral | เรียบเรียงโดย เพชรมายา