ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ใช้เวลา 108 วันคำนวณค่าพาย 62.8 ล้านล้านตำแหน่ง เป็นสถิติใหม่

พาย (Pi) เป็นค่าคงตัวทางคณิตศาสตร์ที่เกิดจากความยาวเส้นรอบวงหารด้วยเส้นผ่าศูนย์กลางของวงกลาม ซึ่งจะได้ผลลัพธ์เป็นค่า 3.14159… โดยมีจุดทศนิยมเป็นอนันต์หรือไม่มีที่สิ้นสุด แต่คุณเคยรู้หรือไม่ว่าการค้นหาค่าจุดทศนิยมของค่าพายที่ได้มากที่สุดคือทศนิยมกี่ตำแหน่งกันแน่

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นักวิจัยในสวิตเซอร์แลนด์เตรียมทำลายสถิติค่าพายทางคณิตศาสตร์ที่แม่นยำที่สุด หลังจากใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์คำนวณค่าออกมาได้เป็นทศนิยมทั้งหมดจำนวน 62.8 ล้านล้านตำแหน่ง

สำหรับชื่อ “พาย” มาจากตัวอักษรตัวที่ 16 ในภาษากรีก และนักคณิตศาสตร์ได้หยิบมันมาใช้เพื่อแทนค่าคงที่ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 18

10 หลักแรกของค่าพายคือ 3.141592653 ซึ่งเรียกว่าเป็นจำนวนอตรรกยะ คือจำนวนที่ไม่สามารถเขียนได้ในรูปเศษส่วนที่มีทั้งตัวเศษและส่วนเป็นจำนวนเต็มได้และมีจำนวนตำแหน่งทศนิยมที่ไม่รู้จบ

การคำนวณทศนิยมของพายให้แม่นยำถูกใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการทดสอบการประมวลผลของคอมพิวเตอร์มานานแล้ว ในปี 2019 ระบบคลาวด์ของ Google สามารถคำนวณทศนิยมของพายได้ถึง 31 ล้านล้านตำแหน่ง

ต่อมาในปี 2020 ทิโมธี มัลลิแคน ชายจากแอละแบมาได้ใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวของเขาคำนวณตำแหน่งทศนิยมของพายได้ถึง 50 ล้านล้านตำแหน่ง และได้ถูกบันทึกเอาไว้เป็นสถิติโลกโดยกินเนสบุ๊ค ณ เวลานั้น

ในขณะที่ทีมนักวิจัยจากสวิตเซอร์แลนด์ได้ใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ Competence Center for Data Analysis, Visualization and Simulation (DAViS) ทำลายสถิติคำนวณค่าพายไปอีกครั้ง

พวกเขาสามารถหาค่าทศนิยมได้ถึง 62.8 ล้านล้านตำแหน่ง และใช้เวลาเพียง 108 วันกับ 9 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าเป็นเวลาที่น้อยกว่า ทิโมธี มัลลิแคน ที่ใช้เวลาถึง 303 วันเกือบ 3 เท่า

รายงานระบุว่า ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ DAViS มีประสิทธิภาพเหนือเจ้าของสถิติก่อนหน้านี้ด้วยการเพิ่ม RAM เข้าไป ซึ่งการคำนณทศนิยม 62.8 ล้านล้านตำแหน่งต้องใช้ RAM ถึง 316 เทราไบต์ (ประมาณ 324,500 กิกะไบต์) แน่นอนว่ามันไม่สามารถหาซื้อได้ และถ้ามีคนขายมันคงมีราคาแพงมหาศาล

สำหรับซูเปอร์คอมพิวเตอร์เครื่องนี้ถูกวางแผนเพื่อใช้การคำนวณพลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณ, การสร้างโครงข่ายปัญญาประดิษฐ์ และการวิเคราะห์อาร์เอ็นเอ

หลังจากนี้ทางทีมวิจัยยังไม่มีมีแผนที่จะคำนวณตำแหน่งทศนิยมของพายเพิ่มเติม และพวกเขาคาดว่ากว่าที่จะมีคนทำลายสถิตินี้ก็น่าจะต้องใช้เวลาอีก 2 ปีต่อจากนี้

ที่มา : livescience | เรียบเรียงโดย เพชรมายา

สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ