เรือบรรทุกน้ำมันพลัง AI ลำแรกที่ข้ามมหาสมุทรได้ด้วยระบบอัตโนมัติ

Prism Courage เรือบรรทุกน้ำมันเพื่อการพาณิชย์ขนาด 134,000 ตัน เพิ่งแล่นจากอ่าวเม็กซิโกไปยังเกาหลีใต้ โดยใช้การควบคุมส่วนใหญ่โดยระบบปัญญาประดิษฐ์ที่มีชื่อว่า HiNAS 2.0

Avikus บริษัทในเครือของฮุนได ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของเกาหลีใต้เพิ่งประกาศว่า Prism Courage เรือบรรทุกน้ำมันที่ถูกออกแบบมาเพื่อขนส่งก๊าซธรรมชาติ ได้กลายเป็นเรือเดินสมุทรลำแรกที่สามารถวิ่งได้ไกลกว่า 10,000 กิโลเมตรด้วยระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ

กุญแจสู่ความสำเร็จอันน่าทึ่งนี้คือ HiNAS 2.0 ระบบที่ขับเคลื่อนด้วย AI ซึ่งสามารถวิเคราะห์การอ่านเซ็นเซอร์รูปแบบต่าง ๆ แบบเรียลไทม์ รวมถึงตอบสนองต่อการอ่านค่าต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญที่สุดคือมันไม่ได้ละเมิดกฎหมายการเดินเรือแต่อย่างใด

ในขณะที่เครื่องบินที่มีระบบ Auto Pilot หรือระบบบินอัตโนมัติที่ทำให้พวกเขาอยู่ในเส้นทางได้อย่างแน่นอน Prism Courage ก็มีระบบนำทางอัตโนมัติที่ตอบสนองต่อกระแสน้ำและจุดอ้างอิง GPS ซึ่งสามารถนำพาเรือลำนี้ไปยังท่าเรือได้ถึงแม้ว่าจะไม่มีมนุษย์อยู่บนเรือเลยก็ตาม

อย่างไรก็ตาม การล่องเรือเป็นระยะทางนับหมื่นกิโลเมตรผ่านมหาสมุทรแอตแลนติกนั้นซับซ้อนกว่าการเปิดแค่ระบบนำทางอัตโนมัติ

นอกจากการควบคุมเรือแบบเรียลไทม์แล้ว HiNAS 2.0 ยังสามารถเลือกเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดและเร็วที่สุดเพื่อไปถึงจุดหมายได้อย่างปลอดภัย ด้วยระบบวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง มันสามารถคำนวณสภาพอากาศและความสูงของคลื่น รวมถึงเรือลำอื่น ๆ เพื่อให้เรือลำนี้ไม่เฉียดเข้าไปใกล้ จนเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

Prism Courage ออกจากฟรีพอร์ต ในรัฐเท็กซัส เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2022 ผ่านคลองปานามาสู่มหาสมุทรแปซิฟิก จากนั้นเรือก็ล่องอยู่กลางมหาสมุทรเป็นเวลา 33 วัน จนมาถึงท่าเรือโบรยองในเกาหลีใต้

ในการเดินทางช่วงหลัง Prism Courage ถูกควบคุมด้วยระบบ AI โดยมีหน่วยงานการเดินเรือของอเมริกาและเกาหลีใต้คอยตรวจสอบและประเมินประสิทธิภาพ

จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ระบบ AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงได้ถึง 7% และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 5% นอกจากนี้ยังระบุตำแหน่งของเรือใกล้เคียงได้อย่างแม่นยำ ซึ่งมันสามารถหลบหลีกการชนกันได้มากถึง 100 ครั้ง

โค ยองฮุน กัปตันเรือ Prism Courage กล่าว่า “เทคโนโลยีนำทางอัตโนมัติของ Avikus มีประโยชน์อย่างมากสำหรับการรักษาเส้นทางการเดินเรือเพื่อเดินทางข้ามมหาสมุทร การเปลี่ยนทิศทางได้แบบอัตโนมัติ และการหลีกเลี่ยงเรือใกล้เคียง ต่างช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการทำงานของลูกเรือ”

Avikus เป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2020 สามารถสร้างระบบเดินเรืออัตโนมัติได้ในเวลาเพียงแค่ 2 ปี ซึ่งระบบ AI ที่มีชื่อว่า HiNAS เวอร์ชันล่าสุดของพวกเขาได้รับการเปิดตัวที่งานแสดงเทคโนโลยี CES 2022 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ก่อนจะนำมาใช้จริงเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งทางบริษัทเตรียมวางจำหน่ายระบบ HiNAS 2.0 อย่างเป็นทางการภายในสิ้นปีนี้ ทันทีที่ได้รับการรับรองสำนักงานการเดินเรือแห่งอเมริกา

ที่มา : odditycentral | เรียบเรียงโดย เพชรมายา