แอนตาร์ติกา คือดินแดนทางใต้สุดของโลกที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ถึง 14 ล้านตารางกิโลเมตร แต่สิ่งที่แอนตาร์ติกาแตกต่างจากที่อื่นก็คือพื้นที่ประมาณ 98% ถูกปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งที่หนาเฉลี่ยถึง 1.9 กิโลเมตร และประกอบไปด้วยธารน้ำแข็งที่มีชื่อเสียงมากมาย
แต่หนึ่งในธารน้ำแข็งที่ประหวั่นพรั่นพรึงให้กับมนุษย์มากที่สุดนั่นคือ ธารน้ำแข็งทเวตส์ (Thwaites Glacier) ที่ได้รับฉายาว่า “ธารน้ำแข็งโลกาวินาศ” เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศบนโลกใบนี้กำลังทำให้มันละลายอย่างต่อเนื่อง
ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ภารกิจการวิจัยโดยใช้หุ่นยนต์ใต้น้ำได้เริ่มดำเนินการสำรวจธารน้ำแข็งทเวตส์ที่มีผลกระทบต่อระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นทั่วโลก
ภารกิจดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งขององค์การ International Thwaites Glacier Collaboration (ITGC) ที่ร่วมมือกันระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร โดยใช้เวลาทั้งหมด 5 ปี ภายใต้การลงทุนทั้งหมด 50 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 1,650 ล้านบาท
ตามข้อมูลของ ITGC ระบุว่า ธารน้ำแข็งทเวตส์ครอบคลุมพื้นที่กว่า 192,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเกือบเทียบเท่ากับเกาะบริเตนใหญ่ และใหญ่กว่ารัฐฟลอริดา หรือถ้าเทียบกับบ้านเราก็ประมาณ 37% ของพื้นที่ประเทศไทยทั้งหมด
ITGC กล่าวว่า ธารน้ำแข็งดังกล่าวจะส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลครั้งใหญ่ของโลก การแตกสลายของธารน้ำแข็งดังกล่าวจะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นถึง 65 เซนติเมตร และมันอาจเกิดขึ้นภายในปี 2031 หรืออีกเพียงแค่ 9 ปีต่อจากนี้
เดวิด ฮอล์แลนด์ นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กกำลังวางแผนที่จะเจาะเข้าไปในหิ้งน้ำแข็งเพื่อวัดอุณหภูมิของน้ำที่อยู่ต่ำกว่าระดับนั้น เขากล่าวว่าธารน้ำแข็งนี้จะเปลี่ยนการเขียนแผนที่แนวชายฝั่งโลกใหม่ทั้งหมด
ในขณะที่ศาสตราจารย์ คาเรน เฮย์วูด จากมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลียซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการ ITGC TARSAN กล่าวว่า ภารกิจดังกล่าวเป็น ‘ความทะเยอทะยานอย่างใหญ่หลวง’
“เราจะติดตั้งหุ่นยนต์ใต้น้ำขนาดใหญ่ 2 ตัวภายใต้น้ำแข็งเพื่อรวบรวมข้อมูลโดยละเอียดของพื้นที่สำคัญของธารน้ำแข็ง ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต” ศจ.คาเรนกล่าว
“การวัดคุณสมบัติของมหาสมุทรในโพรงย่อยของชั้นน้ำแข็ง จะทำให้เราเข้าใจว่ามหาสมุทรส่งถ่ายความร้อนและส่งผลกระทบต่อธารน้ำแข็งอย่างไร ฉันและทีมต้องควบคุมหุ่นยนต์และเครื่องร่อนขนาดเล็ก 6 ลำที่ควบคุมจากระยะไกล เมื่อนักวิทยาศาสตร์บนเรือปล่อยมันลงไปในน้ำ”
อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิทยาศาสตร์กำลังเผชิญปัญหาเกี่ยวกับภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่แยกตัวออกจากธารน้ำแข็งทเวตส์ที่กำลังละลาย โดยภูเขาน้ำแข็งดังกล่าวได้ขัดขวางเรือของนักวิจัย 2 ลำจากการตรวจสอบความเร็วในการละลายของธารน้ำแข็ง
ถึงแม้ภารกิจจะถูกขัดขวาง แต่พวกเขากล่าวว่าภารกิจยังคงดำเนินต่อไป เพียงแต่อาจจะล่าช้าขึ้นเท่านั้น
หวังว่าภารกิจในครั้งนี้จะช่วยให้มนุษย์เราเข้าใจการละลายของธารน้ำแข็งทเวตส์มากขึ้น และทำให้เราสามารถหลีกเลี่ยงภัยพิบัติดังกล่าวให้เกิดผลเสียหายที่น้อยที่สุด
ที่มา : ladbible | เรียบเรียงโดย เพชรมายา