Universe 25 การทดลองสร้างสวรรค์ของหนู สู่การล่มสลายที่น่าเศร้า

ในช่วง 2-3 ร้อยปีที่ผ่านมา ประชากรมนุษย์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเกิดความกังวลว่ามนุษย์เราอาจมีจำนวนมากเกินกว่ากำลังการผลิตอาหาร ทรัพยาการที่ร่อยหรอลงเรื่อย ๆ จะนำไปสู่ภาวะอดอยากขาดแคลนในสักวันหนึ่ง

แต่ในขณะที่ทุกคนกังวลเกี่ยวกับการขาดทรัพยากร นักวิจัยด้านพฤติกรรมคนหนึ่งในช่วงทศวรรษ 1970 พยายามตอบคำถามที่แตกต่างออกไปว่า “จะเกิดอะไรขึ้นกับสังคมถ้าเราตอบสนองความต้องการของเราทั้งหมด”

Universe 25 การทดลองสร้างสวรรค์ของหนู

จอห์น บี. คาลฮูน ได้เริ่มต้นสร้างชุดการทดลองที่จะตอบสนองทุกความต้องการของหนู แล้วติดตามผลกระทบที่เกิดขึ้น ต่อมาการทดลองดังกล่าวได้ชื่อว่าเป็นการทดลองที่เป็นประเด็นให้ถูกพูดถึงมากที่สุดโดยมีชื่อว่า Universe 25 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในปี 1968 ถึง 1973

ในการศึกษาดังกล่าว เขานำหนูจำนวน 4 คู่ เอาไว้ข้างในสถานที่ทดลองในฝันที่ถูกเรียกว่า ยูโทเปีย สภาพแวดล้อมข้างในนี้ถูกออกแบบมาเป็นอย่างดีเพื่อให้หนูใช้ชีวิตอย่างสุขสบายที่สุด

พวกหนูสามารถเข้าถึงอาหารได้ไม่จำกัดผ่านถังอาหาร 16 ถัง ซึ่งเชื่อมต่อกันผ่านทางอุโมงค์ และสามารถป้อนอาหารหนูได้ครั้งละ 25 ตัวพร้อมกัน เช่นเดียวกับขวดน้ำที่อยู่ด้านบน มีการจัดหาวัสดุทำรังเตรียมไว้ให้ อุณหภูมิห้องจะอยู่ที่ประมาณ 20 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าสมบูรณ์แบบที่สุดสำหรับหนู

หนูที่ถูกคัดเลือกมาทั้งหมด 8 ตัว 4 คู่ ได้รับมาจากสถานบันสุขภาพแห่งชาติที่คัดสรรมาแล้วเป็นหนูสุขภาพดี และการดูแลหนูในยูโทเปียจะมีมาตรการที่ทำให้แน่ใจได้ว่า ไม่มีโรคใด ๆ ที่สามารถเข้ามาสู่ยูโทเปียได้ และพวกมันก็ปลอดภัยจากนักล่าทุกชนิดอย่างแน่นอน

ในช่วงเริ่มต้นของการทดลองเป็นไปอย่างที่ทุกคนคาด หนูมักใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการหาอาหารและที่พักพิงสำหรับการสืบพันธุ์ ซึ่งมากเกินกว่าปกติ ประมาณ 55 วัน ประชากรหนูจะเพิ่มขึ้น 2 เท่า พวกมันเริ่มอัดแน่นกันเต็มอุโมงค์อาหาร

เมื่อประชากรหนูเพิ่มขึ้นถึง 620 ตัว การเพิ่มขึ้นของประชากรของเริ่มช้าลงเป็น 2 เท่าในทุก ๆ 145 วัน เมื่อถึงจุดนี้หนูเริ่มมีการแบ่งแยกออกเป็นกลุ่ม ๆ และหนูที่พบว่าตัวเองไม่มีบทบาทในกลุ่มเหล่านี้ก็พบว่าพวกมันไม่มีที่ไป

การแบ่งชนชั้นของหนู

ในขณะที่ ‘หนูส่วนเกิน’ เหล่านี้พบว่าตนเองไม่มีที่อื่นให้อพยพไป โดยเฉพาะตัวผู้ที่ล้มเหลวจะหมดสภาพทั้งร่างกายและจิตใจ พวกมันจะเฉื่อยชาและรวมตัวกันอยู่บริเวณแอ่งน้ำใหญ่ตรงกลางบนพื้นยูโทเปีย

จากจุดนี้ พวกมันไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนอีกต่อไป และพฤติกรรมของพวกมันก็ไม่ได้กระตุ้นให้ถูกจู่โจมโดยพวกตัวผู้อื่นที่ปกป้องอาณาเขต ถึงอย่างนั้นพวกมันก็มีบาดแผลและรอยแผลเป็นมากมาย ที่เป็นผลมาจากการถูกโจมตีโดยตัวผู้ที่ไม่เข้าสังคมตัวอื่น ๆ

ตัวผู้ที่ไม่เข้าสังคมเหล่านี้จะไม่ตอบสนองต่อการถูกโจมตี พวกมันแค่นอนนิ่งไม่ขยับไปไหน ต่อมาพวกมันก็จะไปโจมตีตัวอื่นในลักษณะเดียวกัน ส่วนตัวเมียที่เป็นคู่ของหนูตัวผู้ก็ไม่เข้าสังคมเช่นกัน ตัวเมียบางตัวใช้เวลาทั้งวันในการหากิน หลีกเลี่ยงการสืบพันธุ์ และไม่เคยต่อสู้เลย พวกมันมีขนที่สวยงามจนได้ฉายาว่าเป็น “หนูแสนสวย”

ในทางกลับกัน หนูอีกประเภทที่ถูกเรียกว่าเป็น “ตัวผู้อัลฟา” จะมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวอย่างมาก พวกมันจะโจมตีตัวอื่นโดยที่ไม่มีแรงจูงใจหรือผลประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่ตัวเมียที่โดนข่มเหงรังแก การเผชิญหน้าที่รุนแรงบางครั้งจบลงด้วยผู้ชนะที่จะได้กินผู้แพ้ในที่สุด

อาจเป็นเพราะทุกความต้องการของหนูได้รับการตอบสนองผ่านยูโทเปียทั้งหมดก็เป็นได้ แม้แต่บรรดาแม่หนูก็ยังละทิ้งลูก ๆ ของพวกมันไป ปล่อยให้ลูกหนูดูแลกันเอง แต่แม่หนูก็ยังดุร้ายต่อบรรดาพวกที่มาบุกรุกรังของมัน โดยที่ตัวผู้ซึ่งปกติจะต้องทำหน้าที่นี้ได้ถูกเนรเทศไปส่วนอื่น ๆ ของยูโทเปีย

ความก้าวร้าวในยูโทเปียเริ่มแผ่ซ่านไปทั่ว แม้แต่บรรดาแม่ ๆ ก็ยังลงมือทำร้ายลูก ๆ อัตราการเสียชีวิตของลูกหนูในบางส่วนของยูโทเปียสูงถึง 90%

การล่มสลายของยูโทเปีย

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงแค่การล่มสลายช่วงแรกของเมืองในฝันแห่งนี้เท่านั้น เพราะยังมีช่วงที่คาลฮูนเรียกว่า “การตายครั้งที่สอง” อยู่

เริ่มต้นจากลูกหนูที่สามารถรอดชีวิตจากการถูกโจมตีโดยแม่ตัวเองและหนูตัวอื่น ๆ พวกมันก็จะเติบโตขึ้นท่ามกลางพฤติกรรมของหนูที่ผิดปกติเหล่านี้ เป็นผลให้พวกมันไม่เคยเรียนรู้พฤติกรรมของหนูแบบปกติมาก่อน พวกมันแทบไม่เคยเรียนรู้วิธีสืบพันธุ์ และใช้ชีวิตเพียงแค่การกินอาหารให้ตัวเองรอด และใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังเท่านั้น

ประชากรหนูในการทดลองจักรวาลที่ 25 ถึงจุดสูงสุดที่ 2,200 ตัว ซึ่งน้อยกว่าความจุของยูโทเปียที่สามารถรองรับหนูได้มากถึง 3,000 ตัว และจากนั้นก็ลดลงจากปัญหามากมายที่เกิดขึ้น

หนูจำนวนมากไม่สนใจการสืบพันธุ์ พวกมันเลือกที่จะแยกตัวไปอาศัยอยู่ที่ชั้นบน ในขณะที่หนูอีกหลายตัวตั้งกลุ่มกลายเป็นแก๊งอันธพาลอยู่ข้างล่าง พวกมันคอยโจมตีและกินเนื้อกลุ่มอื่น ๆ หรือแม้แต่พวกเดียวกันเองก็ตาม

ทั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้น อัตราการเกิดที่ต่ำและอัตราการเสียชีวิตที่สูง จึงเป็นผลให้ยูโทเปียของหนูแห่งนี้กำลังล่มสลายอย่างช้า ๆ แม้ว่าอาหารของพวกมันจะยังคงมีเหลือเฟือ และทุกความต้องการของพวกมันก็ได้รับการตอบสนองอย่างสมบูรณ์ก็ตาม

เมื่อถึงวันที่ 600 ประชากรหนูกำลังจะสูญพันธุ์ แม้ว่าร่างกายจะสืบพันธุ์ได้ แต่พวกมันก็สูญเสียทักษะทางสังคมที่จำเป็นต่อการสืบพันธุ์ไปแล้ว

คาลฮูนเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่า Behavioral Sink หรือ การถดถอยทางพฤติกรรม

สำหรับสัตว์ที่ธรรมดาอย่างหนู พฤติกรรมที่ซับซ้อนที่สุดของมันคือการจับคู่ การเลี้ยงดู การปกป้องดินแดน การแบ่งลำดับชั้นภายในกลุ่ม และการจัดระเบียบทางสังคมระหว่างกลุ่ม

เมื่อพวกมันไม่สามารถทำตามบทบาทหน้าที่เหล่านี้ได้อย่างเต็มที่ ก็จะไม่มีการพัฒนาทางสังคมและไม่มีการแพร่พันธุ์ ในที่สุดประชากรทุกตัวก็จะแก่และตาย สายพันธุ์นี้ก็จะสูญพันธุ์ไปในที่สุด ซึ่งคาลฮูนเชื่อว่ามันสะท้อนไปถึงชะตากรรมของมนุษยชาติเช่นกัน

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การทดลองของคาลฮูนถูกนำไปตีความถึงปัญหาในการจัดผังเมืองจนได้รับความสนใจจากหน่วยงานมากมาย การจัดผังเมืองที่ผิดพลาดจะนำไปสู่ความแออัด และนำไปสู่ ‘ความเสื่อมโทรมทางศีลธรรม’ เมื่อทุกอย่างไม่ได้ถูกบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ความแออัดจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการล่มสลายของสังคม

ในขณะที่ เอ็ดมุนด์ แรมสเดน นักประวัติศาสตร์การแพทย์เชื่อว่า ความแออัดไม่ใช่ปัญหาหากแต่มันเป็นเรื่องของการปฏิสัมพันธ์กันในสังคม หนูของคาลฮูนไม่ได้บ้าคลั่งทุกตัว แต่ตัวที่บ้าคลั่งกลายเป็นคนควบคุมพื้นที่และส่งผลต่อชีวิตของพฤติกรรมของหนูปกติทั้งหมด

เปรียบได้กับสังคมมนุษย์ การมีคนบ้าที่มีอำนาจขึ้นมาปกครองบ้านเมือง ก็อาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้มนุษยชาติของเราล่มสลายได้เช่นกัน

ที่มา: medicineonscreeniflscience