6 เหตุผลที่ฉลามกลัวและไม่อยากเฉียดเข้าใกล้โลมา

ในขณะที่ฉลามเป็นสิ่งมีชีวิตที่เราหลายคนมองว่าพวกมันคือเจ้าแห่งมหาสมุทร แต่เราอาจไม่เคยรู้ว่าปลาฉลามนั้นไม่ถูกโรคกับโลมาอย่างมาก เช่นเดียวกับเวลาที่เด็ก ๆ มักจะตรวจสอบหาสัตว์ประหลาดใต้เตียงก่อนเข้านอน ฉลามเองก็จะตรวจหาโลมาก่อนที่มันจะหลับเช่นกัน

วันนี้เพชรมายาจะพาทุกท่านไปชมเหตุผลที่ทำไมฉลามที่น่าเกรงขามถึงไม่อยากยุ่งกับโลมาผู้น่ารักกันแน่

1. โครงสร้างร่างกายที่ได้เปรียบ

ครีบบนของโลมาช่วยให้ร่างกายของมันยืดหยุ่นอย่างมากเวลาว่ายน้ำ ผิวหนังที่อ่อนนุ่มประกอบกับโครงสร้างของกระดูกที่ยืดหยุ่นนี้ช่วยให้ร่างกายของมันต่อสู้กับฉลามได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในขณะที่ฉลามมีครีบหางเป็นแนวตั้งทำให้พวกมันถูกจำกัดการเคลื่อนไหวเวลาขึ้นบนหรือลงล่าง แต่โลมามีครีบหางเป็นแนวนอนที่ช่วยให้พวกมันเคลื่อนที่เปลี่ยนทิศทางได้รวดเร็วกว่าในการโจมตี

นอกจากนั้นศรีษะของโลมายังมีความหนาและมีผิวหนังที่แข็งที่ช่วยสร้างแรงปะทะที่รุนแรงต่อฉลามได้ นั่นจึงทำให้การต่อสู้แบบตัวต่อตัวในขนาดที่เท่า ๆ กัน โลมาจึงมีโอกาสเอาชนะฉลามได้อย่างง่ายดาย

2. สมองอันชาญฉลาด

อย่างที่เราทราบกันดีว่า โลมาคือหนึ่งในสัตว์ที่ฉลาดที่สุดในโลก ดังนั้นพวกมันจีงมีกลยุทธ์ในการโจมตีอันชาญฉลาด ซึ่งเหนือกว่าฉลามที่พุ่งเข้ามากัดตรง ๆ

เมื่อโลมาต้องการโจมตี พวกมันจะว่ายเข้าไปอยู่ข้างใต้ท้องของฉลาม ซึ่งทำได้ง่ายจากสรีระของพวกมัน จากนั้นก็โจมตีด้วยการเอาจมูกพุ่งเข้าชนท้องนุ่ม ๆ ของฉลาม จนสร้างอาการบาดเจ็บที่รุนแรงได้

ในกรณีที่โลมาต้องการป้องกันตัวจากฉลาม พวกมันจะใช้จมูกแข็ง ๆ ของมันโจมตีสวนไปที่เหงือกที่เปราะบางของฉลาม บางครั้งก่อนที่พวกมันจะเล่นงานฉลามจากข้างใต้ โลมาอาจโจมตีไปที่เหงือกของฉลามก่อนก็ได้เช่นกัน

3. โลมามากันเป็นฝูง

ในขณะที่ฉลามเป็นสัตว์นักล่าที่มักจะว่ายน้ำอยู่ตามลำพัง แต่โลมาเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง ฉลามที่ตัวใหญ่อาจโจมตีโลมาที่ตัวเล็กกว่าหรือลูกโลมาได้เป็นเรื่องปกติ แต่มันก็ต้องเผชิญกับการโจมตีจากสมาชิกฝูงโลมาที่โกรธเกรี้ยว ซึ่งนั่นทำให้ฉลามไม่ค่อยอยากยุ่งกับโลมา

4. โลมามีพลังพิเศษ

เอ็กโคโลเคชัน (Echolocation) คือความสามารถพิเศษที่ทำให้โลมาสามารถรับรู้ถึงสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ รอบตัว โดยการปล่อยเสียงออกไปและรับฟังคลื่นสะท้อนของเสียงกลับมา สิ่งนี้ทำให้พวกมันเคลื่อนไหวในน้ำได้อย่างรวดเร็วเพื่อหลีกเลี่ยงหรือโจมตีฉลาม

โอกาสที่ดีที่สุดของฉลามในการจัดการโลมาก็คือการใช้จุดเด่นของมันในการเป็นนักล่าที่ซ่อนตัวเก่ง และเลือกโจมตีโลมาจากจุดอับสายตาที่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ทัน

แต่ถ้าหากมันทำไม่สำเร็จ โลมาจะว่ายหนีไปอย่างง่ายดาย หรือไม่พวกมันก็จะเรียกพรรคพวกมารุมยำฉลามกลับแน่นอน

5. โลมาไม่ใช่อาหารที่คุ้มค่า

โลมาเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว และส่วนใหญ่แล้วพวกมันว่ายน้ำได้เร็วกว่าฉลาม จึงทำให้พวกมันเป็นอาหารที่ยากแก่การล่า และไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่พวกมันจะได้รับตอนแทน

6. โลมาที่อยู่เหนือกว่าฉลามขาว

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ คุณอาจคิดในใจว่า “แล้วฉลามขาวล่ะ ?” แน่นอนว่าฉลามขาวคือสัตว์นักล่าขนาดใหญ่ที่ใคร ๆ ต่างเกรงกลัว แต่หากนับกันจริง ๆ ฉลามขาวไม่อาจสู้กับโลมาสายพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้เลยแม้แต่น้อย ซึ่งพวกมันก็คือ “วาฬออร์กา”

วาฬออร์กา จริง ๆ แล้วเป็นโลมาสายพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุด และพวกมันอยู่เหนือสุดของห่วงโซ่อาหารในมหาสมุทร แม้แต่ฉลามขาวก็ยังตกเป็นเหยื่อของพวกมัน โดยเฉพาะตับของฉลามที่เต็มอิ่มไปด้วยน้ำมันถือเป็นอาหารอันโอชะของวาฬออร์กาอย่างมาก

พวกมันมีครบทุกอย่างที่โลมามี ทั้งความฉลาด อยู่รวมกันเป็นฝูง มีความแข็งแกร่งและมีขนาดใหญ่กว่าฉลามขาวอีกด้วย

พวกมันรู้จุดอ่อนที่สุดของฉลามนั่นคือการโจมตีจากด้านล่าง วาฬออร์กาจะใช้ครีบหางอันทรงพลังพลิกฉลามขาวให้หงายท้อง เมื่อเสียสมดุล ฉลามขาวก็จะเป็นอัมพาตชั่วคราวและตกเป็นจานอาหารบุฟเฟต์ของวาฬออร์กาอย่างง่ายดาย

และด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลนี้ จึงทำให้เราทราบได้ว่าทำไมฉลามถึงกลัวและไม่อยากยุ่งกับโลมาเลย

ที่มา : Wonders of the World | เรียบเรียงโดย เพชรมายา