หญิงที่เขียนประวัติให้ผู้คนกว่า 1,700 คน เพื่อเป็นเกียรติให้กับพวกเขา

เราทุกคนต่างมีงานอดิเรกที่มักจะเป็นการสร้างความสุขให้กับตนเอง แต่จะมีสักกี่คนที่เสียสละเวลาของตนเองเพื่อเป็นเกียรติให้กับผู้อื่น

นี่คือเรื่องราวของ ดร.เจสสิกา เวด นักฟิสิกส์วัย 33 ปี ที่เขียนบทความบนวิกิพีเดียให้ผู้คนมากกว่า 1,700 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้หญิงที่ไม่ได้รับการยกย่องในสิ่งที่พวกเธอทำ รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นชนกลุ่มน้อย

นักฟิสิกส์หญิงจากลอนดอนเริ่มเขียนชีวประวัติของผู้คนในวิกิพีเดียในปี 2018 โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้คนเหล่านี้ได้รับเครดิตอย่างที่ควรจะเป็น และเพื่อให้เยาวชนที่กำลังศีกษาและทำงานใน STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) ได้รู้จักกับพวกเธอเหล่านี้

“เมื่อฉันตื่นนอนในวันที่ 1 มกราคม 2018 ฉันคิดว่าจะสร้างความท้าทายให้กับตัวเอง นั่นคือการเขียนบทความเกี่ยวกับนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรที่มีผลงานยอดเยี่ยมแต่ถูกมองข้ามทุกวันในปีนั้น”

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เธอได้เขียนชีวประวัติของผู้คนมากกว่า 1,700 ชิ้น

แม้ว่างานของ ดร.เจสสิกา จะได้รับการยอมรับและทำให้เธอได้รับรางวัลมากมาย โดยเฉพาะรางวัลนักเขียนวิกิพีเดียแห่งปี 2019 หรือแม้แต่ถูกอ้างถึงโดย จิมมี เวลส์ ผู้ก่อตั้งวิกิพีเดีย แต่ผลงานหลายชิ้นของเธอที่ถูกไม่เห็นด้วยและถูกลบทิ้งโดยบรรณาธิการของวิกิพีเดียที่มีอำนาจสูงสุด

แต่นั่นไม่ได้หยุดให้เธอเลิกทำในสิ่งที่เธอตั้งใจไว้ ดร.เจสสิกายังคงตั้งใจทำงานของเธอต่อไป หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจของเธอคือ ชีวประวัติของ คลาริซ เฟลป์ส นักเคมีนิวเคลียร์ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันที่ทำงานในทีมที่ค้นพบตารางธาตุใหม่ที่ห้องปฏิบัติการแห่งชาติโอกริดจ์

แต่ปัญหาคือ ชื่อของ คลาริซ เฟลป์ส ไม่ได้ปรากฎในบทความการค้นพบตารางธาตุและในสื่อกระแสหลัก การกล่าวถึงผลงานของเธอส่วนใหญ่อยู่ในเว็บไซต์ของนายจ้าง ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่ไม่ได้ตามมาตรฐานของวิกิพีเดีย

ดร.เจสสิกาพยายามโต้แย้งหลายครั้งพร้อมแหล่งข้อมูลใหม่ จนในที่สุดชื่อของเฟลป์สก็กลับมาอยู่ในวิกิพีเดียอีกครั้ง

ดร.เจสสิกาเปิดเผยว่า ชีวประวัติของคนที่เธอชื่นชอบที่สุดคือ กลาดีส เวสต์ หญิงผิวดำที่เกิดในทศวรรษ 1930 ซึ่งเธอทำคณิตศาสตร์แบบดั้งเดิมที่เป็นรากฐานของ GPS สมัยใหม่ โดยที่เธอไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่ากำลังทำมัน

เป้าหมายของ ดร.เจสสิกา หลังจากนี้คือการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้เรียนวิชาในสาขา STEM มากขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงและชนกลุ่มน้อย ซึ่งเธอหวังว่าการกีดกันทางเพศและเชื้อชาติในสายงานเหล่านี้จะหมดไปในอนาคต

ที่มา: boredpanda