หนึ่งในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของมวลมนุษยชาติ นั่นก็คือการที่มนุษย์ลงไปเหยียบบนดวงจันทร์เป็นครั้งแรก ด้วยยานอะพอลโล 11 ที่นำโดยหัวหน้านักบินอวกาศ นีล อาร์มสตรอง และผู้ช่วย บัส อัลดริน และ ไมเคิล คอลลินส์ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 1969
แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีหลายคนเชื่อว่า การเหยียบดวงจันทร์ของอเมริกาครั้งนั้นเป็นเรื่องหลอกลวงชาวโลก ด้วยเหตุผลเรื่องการแสดงศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหนือกว่ารัสเซีย ในช่วงสงครามเย็น แล้วเหตุผลที่พวกเขามากล่าวอ้างล่ะ คืออะไรกันบ้าง ? วันนี้เพชรมายาจะพามาให้ชมกัน ถือว่าอ่านเพื่อความบันเทิงก็แล้วกันครับ
1. การโบกสะบัดของธง
นักทฤษฎีสมคบคิดชี้ให้เห็นว่า ระหว่างการถ่ายทอดสดการลงเหยียบบนดวงจันทร์ ธงชาติอเมริกาที่ถูกปักเอาไว้ มีลักษณะเหมือนถูกลมพัด ซึ่งในความเป็นจริงบนดวงจันทร์ไม่มีทางที่จะมีอากาศทำให้ธงโบกสะบัดได้แน่นอน ในขณะที่นาซ่าได้อธิบายว่า ธงถูกเก็บอยู่ในหลอดผอมๆ และเมื่อคลี่ออกมาจึงทำให้มันมีลักษณะเป็นคลื่น ส่วนการโบกสะบัด ก็เกิดจากการที่นักบินอวกาศสัมผัสเสาอลูมิเนียมนั่นเอง
2. ร่องรอยการลงจอด
ทฤษฎนี้ ว่าด้วยการลงจอดยานอะพอลโล 11 บนดวงจันทร์ ซึ่งควรจะมีร่องรอยการลงจอดที่เป็นหลุมหรือเห็นได้ชัดกว่านี้ เพราะขนาดร่องรอยการเดินบนพื้นผิวดวงจันทร์ยังเห็นได้ชัดเจน ส่วนนาซ่าอธิบายเรื่องการลงจอดไว้ว่า เนื่องจากสภาวะแรงดึงดูดบนดวงจันทร์น้อยกว่าโลกมาก และพื้นผิวของดวงจันทร์ส่วนใหญ่เป็นหินแข็ง ดังนั้น ร่องรอยการลงจอดจึงแทบไม่มีเลย เช่นเดียวกับเวลาเครื่องบินลงจอดบนพื้นคอนกรีต ก็ไม่ทิ้งหลุมบ่อเอาไว้เช่นกัน
3. แหล่งกำเนิดแสงหลายแห่ง
บนดวงจันทร์ จะมีแหล่งกำเนิดแสงเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น นั่นก็คือแสงจากดวงอาทิตย์ ดังนั้น ทิศทางของเงา ควรจะไปในทิศทางเดียวกันเสมอ แต่จากภาพจะเห็นได้ว่า เงาของมีทิศทางที่แตกต่างกัน ซึ่งมันมาจากแหล่งกำเนิดแสงมากกว่า 1 แน่นอน ส่วนนาซ่าพยายามอธิบายว่า มันเกี่ยวกับภูมิทัศน์ที่ไม่สม่ำเสมอ
4. แถบรังสีแวนอัลเลน
แถบรังสีแวนอัลเลน เป็นแถบรังสีที่เกิดขึ้นจากสนามแม่เหล็กของโลก ที่เป็นเสมือนเกราะป้องกันอันตรายจากรังสีและอนุภาคพลังงานจากดวงอาทิตย์และแหล่งกำเนิดอื่นๆ แต่ข้อเสียของมันก็คือเป็นอันตรายต่อดาวเทียม ยานอวกาศ และมนุษย์อวกาศที่ต้องผ่านรังสีนี้
ซึ่งนักทฤษฎีสมคบคิดได้กล่าวว่า การส่งยานอะพอลโลไปดวงจันทร์ครั้งนั้น จะต้องผ่านแถบรังสีแวนอัลเลน ที่ทำอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ แต่นาซ่าตอบโต้เรื่องนี้ด้วยการบอกว่า นักบินอวกาศจะเผชิญกับรังสีแวนอัลเลน ในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งจะทำให้พวกเขาได้รับรังสีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
5. ไฟสตูดิโอ
หลังจากที่ภาพถ่ายบนดวงจันทร์ถูกปล่อยออกมา นักทฤษฎีบางคนได้ตั้งข้อสังเกตุเกี่ยวกับวัตถุลึกลับที่สะท้อนผ่านหน้ากากนักบินอวกาศของยานอะพอลโล 12 ซึ่งเป็นการลงจอดบนดวงจันทร์เป็นครั้งที่ 2 วัตถุดังกล่าวดูเหมือนจะถูกห้อยลงมาจากเชือกหรือลวด ซึ่งมีการวิเคราะห์ไปว่า มันเป็นไฟสปอตไลท์ที่มักใช้กันในสตูดิโอภาพยนตร์
6. การเดินแบบสโลโมชั่น และ สายเคเบิ้ลที่ซ่อนอยู่
นักทฤษฎีสมคบคิดได้อ้างถึงการเคลื่อนไหวของนักบินอวกาศบนดวงจันทร์ที่เชื่องช้า ด้วยการทำภาพแบบสโลโมชั่น ที่ช้ากว่าปกติ 2.5 เท่า นอกจากนั้น การที่นักบินอวกาศกระโดดได้สูงกว่าปกติ จำเป็นต้องใช้สายเคเบิ้ลที่ซ่อนอยู่ช่วย ถ้าสังเกตุจากคลิปด้านบน จะเห็นช่วงที่นักบินอวกาศล้มและลุกขึ้นในท่าทางที่ผิดปกติ คล้ายถูกดึงด้วยสายเคเบิ้ล
7. ไม่มีดวงดาว
อีกหนึ่งทฤษฎีที่น่าสนใจคือ ภาพถ่ายบนดวงจันทร์ แทบไม่เห็นดวงดาวเลย ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ เพราะดวงจันทร์ไม่มีเมฆและชั้นบรรยากาศที่มีตัวกรองมากมายเหมือนกับโลกของเรา ถึงแม้น่าซ่าจะอ้างว่า เป็นเรื่องของคุณภาพของภาพถ่าย ที่ทำให้เราไม่เห็นดวงดาว แต่ทว่า ภาพถ่ายคุณภาพสูงหลายๆ ภาพของนาซ่าก็ยังไม่ปรากฏให้เห็นว่ามีดวงดาวเช่นกัน
8. หินตัวอักษร C
หนึ่งในภาพที่โด่งดังที่สุด ในการไปเหยียบดวงจันทร์ ก็คือภาพที่แสดงให้เห็นถึงก้อนหินก้อนหนึ่ง ที่ปรากฏตัวอักษร C อย่างชัดเจนบนนั้น ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่า เครื่องหมายบนก้อนหิน ถูกทางกองถ่ายทำเครื่องหมายเอาไว้ แต่บังเอิญหันก้อนหินมาผิดด้าน ส่วนนาซ่าได้ออกมาให้ความเห็นว่า ข้อแรก นาซ่าตำหนิผู้ล้างภาพ ที่อาจเล่นตลกเพิ่มอักษร C ลงไปเอง หรือข้อสอง อาจเป็นเส้นผมที่บังเอิญร่วงและติดอยู่ในกระบวนการล้างภาพก็เป็นได้
9. ฉากหลังซ้ำๆ
ภาพจากอะพอลโล 15 ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ถึงแม้พื้นที่ดังกล่าวจะเป็นคนละสถานที่ๆ ห่างกันหลายไมล์ แต่ฉากหลังของทั้ง 2 ภาพ เหมือนกันอย่างไม่น่าเชื่อ นั่นทำให้นักทฤษฎีเชื่อว่า นาซ่าใช้ฉากหลังเดียวกัน ในระหว่างถ่ายทำวีดีโอการลงจอดบนดวงจันทร์ของปลอม ในขณะที่นาซ่าอธิบายว่า เนื่องจากดวงจันทร์มีขนาดเล็กกว่าโลกมาก เส้นขอบฟ้าที่ปรากฏขึ้น จึงดูใกล้กว่าที่ดวงตามนุษย์เห็น
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ
ที่มา : listverse | เรียบเรียงโดย เพชรมายา