ฉากต่อสู้ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ในหนังดัง ที่คุณไม่รู้ว่ามันผิดจากหลักความจริง

ถ้าหากใครที่ชมภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด คงจะเคยเห็นฉากที่มนุษย์ได้ต่อสู้กับสัตว์ในหลายๆ เรื่อง แน่นอนว่าผู้กำกับภาพยนตร์ก็มักจะทำให้ฉากเหล่านี้ดูน่าสนใจ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันผิดไปจากหลักชีววิทยาอย่างมาก ผู้คนส่วนใหญ่ไม่รู้ในจุดนี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์เองกลับมองเห็นข้อผิดพลาดเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน และวันนี้เพชรมายาขอพาทุกท่านไปดูกันว่า จะมีภาพยนตร์เรื่องอะไรที่มีฉากไม่สมจริงเกี่ยวกับการต่อสู้กับสัตว์บ้าง

1. The Revenant (2015)

ในตอนที่ ฮิวจ์ กลาส (รับบทโดยลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ) ถูกโจมตีโดยแม่หมีตัวหนึ่ง ถือเป็นหนึ่งในฉากที่น่าตื่นเต้นที่สุดในภาพยนตร์เรื่องนี้ นักล่าทั้งฉีกทั้งขย้ำพระเอกของเราแถมกระโดดขึ้นไปอยู่บนตัวของเขา ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว แรงกัดของหมีจะอยู่ที่ราวๆ 1,160 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว หรือเทียบได้กับมนุษย์ที่กำลังกัดไส้กรอก กรงเล็บของมันยาว 4-6 นิ้ว และน้ำหนักของมันหนักราวๆ 300-400 กิโลกรัม คราวนี้พอนึกภาพออกหรือยังว่า การถูกหมีโจมตีแบบประชิดตัว โอกาสรอดของคุณแทบเป็นศูนย์

เรื่องแปลกอีกหนึ่งอย่างก็คือ หมีกริซลีได้โจมตีพระเอกเนื่องจากเขาอาจเป็นภัยคุกคามของลูกๆ ของมัน สำหรับแม่ ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการปกป้องลูกน้อย แต่หมีตัวนี้กลับหยุดโจมตีดื้อๆ และปล่อยทิ้งให้เหยื่อของมันมีชีวิตรอดออกไป

ในอีกหนึ่งฉากที่พระเอกของเราถอดผ้าเปียกออกและซ่อนตัวอยู่ข้างใต้ซากม้าเพื่อหาความอบอุ่น นี่คือวิธีที่ทหารจำนวนมากใช้ในระหว่างสงคราม แต่พระเอกของเรากลับใช้เวลาอยู่แบบนี้ทั้งคืน โดยที่มีหิมะตกไปทั่ว เราเข้าใจว่าอุณหภูมิดังกล่าวน่าจะติดลบ และซากม้าควรจะแข็งภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ถ้าเป็นชีวิตจริง พระเอกของเราแทบจะไม่มีโอกาสรอดได้ถึงเช้าแน่นอน เขาจะแข็งตายในคืนนั้น

หลายคนมองว่า The Revenant เป็นภาพยนตร์ที่อ้างอิงจากเรื่องจริง และมันอาจจะดีกว่านี้ ถ้าหลายๆ สิ่งในเรื่องมันดูสมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้น

2. Alpha (2018)

ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เราเพลิดเพลินไปกับทัศนียภาพอันงดงามและมิตรภาพอันสวยงามของเด็กชายและหมาป่า แต่มีหลายสิ่งในเรื่องที่ขัดกับความเป็นจริงอยู่มาก

ในตอนต้นเรื่อง มีฉากการต่อสู้ระหว่างเด็กชายกับควายป่า แต่เราไม่อาจเรียกมันได้ว่าการต่อสู้ เพราะถ้าเป็นในชีวิตจริง ควายป่าตัวขนาดนี้เข้าขวิดเด็กชายล่ะก็ ไม่ตายก็พิการสถานเดียว และเมื่อการต่อสู้จบลง เด็กชายตกลงมาจากก้อนหิน แต่น่าประหลาดใจที่เด็กน้อยแค่สะโพกเคล็ดเท่านั้น

ในส่วนพฤติกรรมของหมาป่าในเรื่องค่อนข้างแปลกมาก อาการบาดเจ็บของมันดูไม่รุนแรง และสัตว์ป่าเหล่านี้มักจะติดตามฝูงมากกว่าที่จะอยู่กับศัตรูของมัน

นอกจากนั้น รูปลักษณ์ของหมาป่าที่ปรากฏในเรื่องนี้ก็ดูจะผิดจากความเป็นจริง เพราะมันมีขนาดพอๆ กับหมาป่าในยุคปัจจุบัน แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อ 2 หมื่นปีก่อน ที่คุณสามารถเห็นช้างแมมมอธ และเสือเขี้ยวดาบ แต่หมาป่าตัวเท่ากับหมาบ้านเหล่านี้ อยู่รอดได้อย่างไรในโลกที่มีแต่สัตว์ขนาดยักษ์

3. The Meg (2018)

ภาพยนตร์ที่เข้าฉายในปีนี้ โดยเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับฉลามยักษ์เมกาโลดอน มันเป็นเรื่องยากที่จะพูดถึงลักษณะและพฤติกรรมของสัตว์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ควรจะอยู่บนพื้นฐานของกฏทางชีววิทยา

เริ่มต้นจากขนาดของฉลาม ในภาพยนตร์บอกว่ามันมีความยาวถึง 70-75 ฟุต แต่ในชีวิตจริง นักวิทยาศาสตร์คิดว่ามันมีขนาดราว 60 ฟุตเท่านั้น

นอกจากนั้นในภาพยนตร์ยังมีการอ้างว่า ฉลามยักษ์สามารถกัดวาฬขาดครึ่งได้อย่างง่ายดาย แต่พวกเขาไม่ได้ระบุขนาดของวาฬที่พูดถึง พวกเขาจะพูดถูกทันที ถ้าหมายถึงวาฬสเปิร์มแคระที่มีความยาวแค่ 13-16 ฟุต แต่สำหรับวาฬสายพันธุ์ทั่วๆ ไปล่ะ อย่างเช่นวาฬสีน้ำเงินที่มีความยาวถึง 110 ฟุต มันแทบจะใหญ่เป็น 2 เท่าของฉลามยักษ์เสียอีก และนักวิทยาศาสตร์ก็พิสูจน์แล้วว่า ฉลามเมกาโลดอนโจมตีพวกวาฬจริง วาฬเหล่านั้นไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก แต่มันก็ยาวอย่างน้อย 40-50 ฟุต

ถ้าอ้างอิงจากแรงกัดของฉลาม อาจเป็นไปได้ที่จะกัดวาฬให้ขาดครึ่ง (พิจารณาจากความจริงที่ว่า มันสามารถกัดเรือขาดครึ่ง) แต่ถึงแม้แรงกัดจะมีมากมายมหาศาล แต่มันจะสามารถอ้าปากกว้างได้ขนาดนั้นจริงๆ หรือ ?

มีหลายครั้งที่ฉลามโจมตีมนุษย์ที่อยู่ตามลำพัง แต่นักวิทยาศาสตร์ไม่คิดว่าพฤติกรรมดังกล่าวจะเป็นเรื่องปกติสำหรับนักล่าในสมัยโบราณ มนุษย์เพียงแค่คนหรือสองคนไม่ใช่มื้ออาหารที่ดีสักเท่าไหร่ มันอาจว่ายผ่านไปหาเหยื่อจำนวนมากและกวาดเข้าปากทีละหลายๆ คนโดยไม่แม้แต่จะเคี้ยว

และในฉากบริเวณชายหาดที่เจ้าเมกาโลดอนว่ายเข้าหานักท่องเที่ยวที่ออกมาไกลจากชายฝั่งและเปิดปากเพื่อกลืนผู้คนเหล่านั้น แต่จู่ๆ มันก็ได้ยินเสียงบันทึกของวาฬแล้วก็ว่ายหนีไป แต่ถ้าเป็นในชีวิตจริง ฉลามยักษ์จะเขมือบเป้าหมายที่อยู่ใต้จมูกมันอย่างง่ายดาย แล้วก็ไปเขมือบเหยื่อคนอื่นๆ ต่ออีกด้วย

สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ

ที่มา : brightside | เรียบเรียงโดย เพชรมายา