ชาวเน็ตหาว่าช่างภาพสาวแต่งภาพมากเกินไป เธอจึงเผยภาพต้นฉบับพร้อมตอกกลับแบบนี้

ลิเลีย อัลบาราโด ช่างภาพสาวชาวรัสเซียผู้หลงใหลในการถ่ายภาพตั้งแต่เธอมีลูกสาวฝาแฝด ‘แอนนาเบลและจูเลียต’ ทั้งคู่เป็นแรงบันดาลใจในการถ่ายภาพของเธอเสมอ และเพื่อสร้างภาพถ่ายที่สมบูรณ์ เธอจึงเลือกใช้โปรแกรมตัดต่อตกแต่งภาพอย่าง Photoshop เพื่อช่วยในงานของเธอได้มีความสดใสมากขึ้น

“ฉันเพิ่งโพสต์ภาพที่ฉันภูมิใจบนอินสตาแกรม แต่แล้วก็มีชาวเน็ตบางคนปฏิเสธภาพถ่ายของฉันว่า มันไม่ใช่ ‘ภาพถ่าย’ แต่มันคือ ‘คอมพิวเตอร์ กราฟฟิก’ หรือ ‘ภาพ-กราฟฟิก’ นั่นทำให้ฉันคิดว่า ผู้คนเข้าใจคอนเซปต์ของภาพถ่ายหรือไม่ แล้วทำไมพวกเขาถึงต้องแอนตี้การแต่งภาพขนาดนี้ ?”

ล่าสุด ลิเลียได้โพสต์ภาพถ่ายต้นฉบับเปรียบเทียบกับภาพถ่ายหลังตกแต่งภาพด้วยโปรแกรม Photoshop ซึ่งแสดงให้เห็นความแตกต่างของอารมณ์ทั้ง 2 ภาพได้อย่างชัดเจน และเธอต้องการทราบว่าชาวเน็ตคนอื่นๆ คิดเห็นกันอย่างไรบ้าง

ลิเลียกล่าวว่า การถ่ายภาพถูกคิดค้นขึ้นเมื่อ 180 ปีที่แล้ว แต่การคิดค้นซอฟต์แวร์ที่ช่วยในการตกแต่งภาพเพิ่งถูกคิดค้นขึ้นมาไม่นาน และมันกลายเป็นที่ถกเถียงกันอย่างแพร่หลาย พวกเราอาจลืมคิดไปว่า การตกแต่งภาพไม่ได้เริ่มตั้งแต่การมีโปรแกรม Photoshop แต่มันมีอยู่มาตลอด และเป็นส่วนสำคัญที่ช่างภาพทำด้วย

ลิเลียเริ่มลงรายละเอียดลึกขึ้นไปอีกว่า “ฉันตระหนักได้ว่า ช่างภาพศิลปะและช่างภาพข่าวก็ตกแต่งภาพของพวกเขาตั้งแต่วันแรกๆ ตั้งแต่มีการถ่ายภาพเกิดขึ้น ถ้าเราตัดภาพที่มีการตกแต่งออกจากหมวดหมู่การถ่ายภาพ เราอาจไม่เหลือภาพถ่ายสักใบบนโลกใบนี้”

ตั้งแต่มีการถ่ายภาพ การตกแต่งภาพก็เป็นกุญแจสำคัญมาตลอด ช่างภาพในศตวรรษที่ 19 ชอบเรียกมันว่า “การลบความไม่สมบูรณ์” ออกไปจากภาพ และพวกเขาก็แก้ไขโดยการวาดลงไปโดยตรงบนฟิล์มกระจก บางครั้งก็มีการวาดคนลงไปทั้งคน มากไปกว่านั้นก็มีการทำภาพมากกว่า 1 ภาพขึ้นไปในห้องมืด เพื่อเพิ่มองค์ประกอบที่น่าทึ่งบนภาพถ่ายของพวกเขา

“ในทำนองเดียวกัน ภาพถ่ายในยุคใหม่มักจะถูกครอป ปรับสี ปรับแสง หรือแม้แต่การเพิ่มบางอย่างลงไป ช่างภาพทำมันเพื่อที่จะให้ภาพถ่ายของเขาดูมีเรื่องราวมากขึ้นบนแผ่นกระดาษ แม้แต่การถ่ายภาพอัลบั้มครอบครัวบนกล้องฟิล์ม การใช้เคมีและปรับแต่งสีก็ถูกนำมาใช้ พวกเขาแค่ต้องการบอกเล่าเรื่องราวบนโลกจริงในมุมมองที่สวยงาม”

“แน่นอนว่า ฉันเห็นด้วยว่าการใช้ Photoshop มากเกินไปอาจไม่เหมาะสมสำหรับช่างภาพนักข่าว แต่ฉันคิดว่าตัวเองไม่ใช่ช่างภาพสารคดี มันห่างไกลจากนั้นมาก จริงๆ แล้วฉันคิดว่า งานของฉันดูเหมือนการสร้างภาพยนตร์ การตัดต่อตกแต่งภาพก็เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างภาพยนตร์เช่นกัน ไม่ก็ไม่เห็นมีใครแนะนำว่า อย่าใช้บลูสกรีนหรือ CGI กับภาพยนตร์ใช่หรือเปล่า ? นี่มันคืองานศิลปะที่ต้องใช้เทคนิคเช่นกัน ดังนั้นฉันจึงเลือกใช้โปรแกรมตกแต่งภาพ เพื่อให้ฉันได้ผลลัพธ์ตามที่ใจต้องการ”

“ในความเป็นจริง ฉันตกแต่งภาพหลังจากกระบวนการถ่ายภาพเสร็จสิ้นแล้ว ภาพถ่ายยังคงไม่เปลี่ยนแปลง มันไม่ได้แตกต่างจากสิ่งที่ช่างภาพในอดีตทำในห้องมืดมานานนับศตวรรษ”

และนี่ก็เป็นความคิดของช่างภาพสาวที่โต้แย้งกับคนที่กล่าวหาว่าเธอใช้โปรแกรมตัดต่อภาพจนมันไม่ใช่ภาพถ่าย ซึ่งเธอได้หยิบยกประวัติศาสตร์การถ่ายภาพมาเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดๆ ว่าผู้คนในสมัยก่อนก็ทำได้ไม่ต่างกัน

แล้วคุณล่ะ มีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับผลงานภาพถ่ายของเธอ รวมถึงการใช้โปรแกรม Photoshop หรือโปรแกรมอื่นๆ เข้ามาช่วยในการตกแต่งภาพถ่ายให้ดูดียิ่งขึ้นกันบ้าง ?

สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ

ที่มา : Instagram | เรียบเรียงโดย เพชรมายา