ระดับเมลานินที่สูงขึ้นทำให้กบต้นไม้ในบริเวณเชอร์โนบิลเปลี่ยนไปกลายเป็นมีสีดำสนิท ที่ช่วยปกป้องพวกมันจากอันตรายของรังสีอีกด้วย
อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่า ภัยพิบัติเชอร์โนบิลในปี 1986 ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ในพื้นที่ดังกล่าวมากมาย สารกัมมันตภาพรังสีในปริมาณมากมายมหาศาลที่รั่วไหลออกมา ส่งผลจนมนุษย์ไม่สามารถอยู่อาศัยในบริเวณนั้นได้อีกต่อไป ในขณะที่พวกเราอพยพหนีออกมา แต่บรรดาสัตว์ต่าง ๆ ยังคงต้องใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นต่อไป
สามทศวรรษต่อมา เชอร์โนบิลได้รับการบันทึกให้เป็นหนึ่งในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์หลากหลายชนิด รวมทั้งหมี หมาป่า และแมวป่า
ส่วนบรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างจับตาดูสัตว์ในภูมิภาคนี้อย่างใกล้ชิด ไม่ใช่แค่เรื่องการอนุรักษ์สัตว์ป่า แต่พวกเขาอยากรู้ว่าพวกสัตว์ที่อาศัยอยู่ที่นี่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสารกัมมันตภาพรังสีได้หรือไม่
และหนึ่งในหลักฐานที่น่าสนใจเกิดขึ้นกับ ‘กบต้นไม้’
งานวิจัยดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นในปี 2016 เมื่อทีมนักวิจัยสังเกตเห็นกบต้นไม้ในภูมิภาคนี้ได้พัฒนาโทนสีบนร่างกายให้มีความดำผิดปกติ แทนที่จะเป็นสีเขียวสดใสเหมือนกบต้นไม้ที่อื่น
ที่สำคัญก็คือ ระดับการแผ่รังสีในปัจจุบันของพื้นที่นี้ไม่ได้ทำให้สีของกบเปลี่ยนไป แต่มันเกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงแรก ๆ ที่เกิดภัยพิบัติขึ้น
“สีเข้มของกบถูกพบเป็นปกติในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนมากที่สุดในขณะเกิดภัยพิบัติขึ้น” รายงานระบุ
แต่ทำไมในปัจจุบัน กบบางตัวในเชอร์โนบิลถึงมีสีผิวที่เกือบดำสนิท คำตอบก็คือ “เมลานิน” ซึ่งเป็นเม็ดสีเข้มที่สร้างจากเซลล์ผิวหนังนั่นเอง การมีระดับเมลานินที่สูงจะทำให้ทั้งคนและสัตว์มีสีเข้มขึ้น
นอกจากนั้น เมลานินยังสามารถลดผลกระทบของรังสีอัลตราไวโอเลตและรังสีไอออไนซ์ได้ด้วยการดูดซับและกระจายพลังงานรังสี ซึ่งหมายความว่าเมลานินจะช่วยให้เซลล์ได้รับความเสียหายจากรังสีน้อยลง และเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดมากขึ้น
“ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า กบเชอร์โนบิลอาจผ่านกระบวนการวิวัฒนาการอย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองต่อรังสี” นักวิจัยกล่าว
“ในสถานการณ์นี้ กบที่มีสีเข้มกว่าในช่วงที่เกิดภัยพิบัติซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย จะรอดชีวิตได้จากการป้องกันของเมลานิน”
เมื่อกบสีเข้มอยู่รอดจากรังสี พวกมันก็ขยายพันธุ์ต่อไปเรื่อย ๆ ตลอดระยะเวลา 36 ปี หรือประมาณ 10 รุ่นของกบ มันคือการคัดสรรตามธรรมชาติ
นี่ถือเป็นก้าวแรกของนักวิทยาศาสตร์ ในการทำความเข้าใจบทบาทการป้องกันของเมลามินในสภาพแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบต่อการปนเปื้อนของกัมมันตภาพรังสี แต่ที่น่าเสียดายคือการวิจัยเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติรอบ ๆ เชอร์โนบิลต้องถูกระงับไป จากการรุกรานของรัสเซีย
ที่มา: allthatsinteresting