ถ้าพูดถึงหนึ่งในสายพันธุ์นกแก้วที่งดงามที่สุดต้องมีชื่อของ Spix’s Macaw นกแก้วสีน้ำเงินที่มีพื้นเพอยู่ในประเทศบราซิล โดยนกแก้วชนิดนี้เริ่มเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกหลังจากไปปรากฏในภาพยนตร์อนิเมชันเรื่อง Rio ในปี 2011 ซึ่งเป็นเรื่องราวของนกแก้วเจ้าเสน่ห์นามว่า บลู (Blu) ที่เดินทางไปหลายพันไมล์เพื่อตามหานกแก้วตัวเมียตัวสุดท้ายของสายพันธุ์นี้ แน่นอนว่าในภาพยนตร์เรื่องนี้มีตอนจบแบบ Happy Ending แต่สำหรับในชีวิตจริง นกแก้วชนิดนี้ถูกจัดให้เป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000
เรื่องราวอันน่าเศร้าของ Spix’s Macaw
Spix’s Macaw เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นนกแก้วมาคอว์สีน้ำเงินที่ถูกค้นพบครั้งแรกในประเทศบราซิลเมื่อปี 1819 โดย โจฮานน์ แบปติสต์ วอน สพิกซ์ นักธรรมชาติวิทยาชาวเยอรมัน ซึ่งในตอนนั้นเอง นกแก้วชนิดนี้ก็ได้ถูกจัดว่าเป็นนกหายากที่มีแค่บุคคลผู้โชคดีไม่กี่คนเท่านั้น ที่จะมีโอกาสพบมันตัวเป็นๆ ในธรรมชาติ
ไม่มีใครรู้จักนกสายพันธุ์นี้มากนัก และมีแค่ภาพถ่ายของจริงเพียงไม่กี่ภาพเท่านั้นที่ถูกถ่ายได้จริงๆ ในป่า โดยในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 พวกมันถูกคิดว่าสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้ว จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1986 มีนกแก้ว Spix’s Macaw ถูกพบจำนวน 3 ตัว แต่อ้างอิงจากผู้เชี่ยวชาญได้ระบุว่า นกแก้วตัวสุดท้ายที่ถูกพบในป่าคือเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 2000
ส่วนสาเหตุของการสูญพันธุ์ของนกหลายๆ สายพันธุ์ เกิดขึ้นจากการการขยายตัวของอารยธรรมเมืองที่รุกล้ำเข้าไปในเขตที่อยู่อาศัยของสัตว์ การตัดไม้ทำลายป่า สภาวะโลกร้อน รวมถึงการล่าสัตว์อย่างผิดกฏหมายที่ทำให้นกเหล่านี้ต้องสูญพันธ์ไปในที่สุด
ในปี ค.ศ. 2016 ชาวสวนท้องถิ่นรายหนึ่งได้ถ่ายภาพคลิปวีดีโอสั้นๆ เป็นภาพของนกตัวหนึ่งที่โผบินจากต้นไม้ไปเพียงเสี้ยววินาที นักวิชาการต่างเชื่อว่านี่คือนก Spix’s Macaw ที่เคยถูกระบุว่าสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติมานานกว่า 15 ปี
แต่โชคร้ายที่ในปี 2018 ผลการศึกษาจาก “เบิร์ดไลฟ์ อินเทอร์เนชันแนล” ได้ระบุว่า Spix’s Macaw คือนก 1 ใน 8 สายพันธุ์ที่สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้ว ส่วนนก Spix’s Macaw ที่ถูกเลี้ยงไว้โดยมนุษย์ น่าจะมีจำนวนอยู่ระหว่าง 60-80 ตัวโดยประมาณ
แล้วมีความหวังที่จะนำนกแก้ว Spix’s Macaw กลับสู่ธรรมชาติได้อีกครั้งหรือไม่ ?
ทางรัฐบาลของบราซิลได้มีแผนการในระยะยาวที่จะนำนกแก้วชนิดนี้กลับสู่ธรรมชาติอีกครั้งในปี 2021 โดยมีขั้นตอนคือ
1. เพาะพันธุ์นกแก้ว Spix’s Macaw ให้มีจำนวนมากพอที่จะนำกลับสู่ธรรมชาติ
2. พัฒนาพื้นที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม ด้วยการรื้อฟื้นผืนป่าอย่างรวดเร็ว
3. ส่งเสริมให้ชาวบ้านได้ตระหนักถึงความสำคัญของนกชนิดนี้ และเรียนรู้วิธีการอยู่ร่วมกันอย่างสงบ
ส่วนทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า Al Wabra ได้พยายามที่จะเพาะพันธุ์นกแก้ว Spix’s Macaw ให้มีจำนวนมากขึ้น โดยผู้เชี่ยวชาญได้ประสบความสำเร็จอย่างมากที่สามารถเพาะพันธุ์นกเหล่านี้ โดยเริ่มต้นจากแค่ 2 ตัวเท่านั้นในปี 2004
พวกเขาทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์กรอื่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานเพื่อการฟื้นฟูนกแก้ว Spix’s Macaw ภายใต้การดูแลของรัฐบาล และถ้ามนุษย์เรายังเห็นถึงความสำคัญของสัตว์หายากเหล่านี้ต่อไป หวังว่าในอนาคตเราจะได้เห็นนกแก้วชนิดนี้กลับมาอยู่ได้ในธรรมชาติอีกครั้ง
ที่มา : brightside | เรียบเรียงโดย เพชรมายา
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ