ฉลามคุกกี้คัตเตอร์เป็นฉลามสายพันธุ์เล็ก มีขนาดตัวเท่าแมวบ้าน มักจะโจมตีเหยื่อที่ตัวโตกว่ามันมาก โดยจะกัดชิ้นส่วนเนื้อของเหยื่อเป็นรูปทรงกลมเหมือนคุกกี้ เจ้าฉลามจิ๋วเหล่านี้กัดแม้แต่ชิ้นส่วนที่อ่อนนุ่มของเรือดำน้ำนิวเคลียร์
ฉลามคุกกี้คัตเตอร์ (Isistius brasiliensis) ถูกค้นพบในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 โดยนักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศส จนกระทั่งทศวรรษ 1970 นักวิจัยได้บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับบาดแผลลึกทรงกลมปริศนาที่อยู่บนสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลทุกประเภท ตั้งแต่ปลาตัวเล็กไปจนถึงโลมา หรือแม้แต่ฉลามขาว
จนกระทั่งในปี 1971 เอเวอเร็ต โจนส์ ค้นพบชิ้นเนื้อทรงกลมเล็ก ๆ ในท้องของฉลามคุกกี้คัตเตอร์ ซึ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลได้ตะหนักว่าเจ้าฉลามจิ๋วเหล่านี้อันตรายมากแค่ไหน มันจู่โจมได้แม้แต่สิ่งมีชีวิตที่อันตรายที่สุดในมหาสมุทรได้อย่างไม่เคยเกรงกลัวใคร
ก่อนที่เอเวอเร็ต โจนส์จะค้นพบเรื่องนี้ ผู้คนเชื่อกันว่าบาดแผลทรงกลมแปลก ๆ บนร่างกายของสัตว์ทะเลทั้งหลายเกิดจากเหาปรสิต การติดเชื้อแบคทีเรีย ปลาแลมป์เพรย์ หรือสิ่งมีชีวิตลึกลับบางอย่าง จนกระทั่งพวกเขาเริ่มศึกษาเกี่ยวกับปากและฟันที่เหมือนเลื่อยของฉลามคุกกี้คัตเตอร์ จึงทำให้เข้าใจว่าการกัดของมันอันตรายมากแค่ไหน
เห็นได้ชัดว่าลิ้นและริมฝีปากขนาดใหญ่ของฉลามคุกกี้คัตเตอร์จะดูดติดกับพื้นผิวเรียบของเหยื่อ จากนั้นฟันที่แหลมคมของมันก็จะกัดจมลงไปแล้วบิดเอาเนื้อชิ้นใหญ่ออกมา ทิ้งบาดแผลเป็นหลุมเอาไว้ บาดแผลที่ร้ายแรงที่สุดที่เคยบันทึกเอาไว้คือ กว้าง 5 ซม. และลึก 7 ซม.
ฉลามคุกกี้คัตเตอร์ใช้เวลากลางวันอาศัยอยู่ที่ระดับความลึกสูงสุด 3,500 เมตร และมักจะขึ้นมาบนผิวน้ำในเวลากลางคืน เนื่องจากเหยื่อไม่ค่อยเข้าไปในอาณาเขตของพวกมัน นักล่าตัวจิ๋วเหล่านี้มีอวัยวะเปล่งแสงใต้ท้อง มีสีเข้มรอบคอซึ่งคล้ายกับเงาของปลาที่เคลื่อนไหวเมื่อมองจากด้านล่าง ในขณะที่แสงสีเขียวของพวกมันเข้ากับแสงจันทร์ ใช้ล่อนักล่าตัวอื่นเข้าไปใกล้ แล้วพวกมันก็กลายเป็นเหยื่อแทน
วิธีการล่าเหยื่อของฉลามคุกกี้คัตเตอร์ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงการคาดเดาโดยนักชีววิทยาทางทะเลเท่านั้น แต่สิ่งที่แน่นอนก็คือ ฉลามตัวเท่าแมวนี้ไม่ใช่เรื่องตลก เนื่องจากพบบาดแผลคล้ายปล่องภูเขาไฟที่เกิดจากการกัดของฉลามคุกกี้คัตเตอร์จำนวนมาก พบทั้งในวาฬหรือโลมาอย่างน้อย 48 สายพันธุ์ รวมไปถึงวาฬเพชฌฆาต ปลาฉลามหลายสายพันธุ์ แมวน้ำ ปลากระเบน และปลาทูน่า
เป็นที่ทราบกันดีว่าฉลามคุกกี้คัตเตอร์จะโจมตีเรือดำน้ำนิวเคลียร์ ซึ่งบางครั้งสร้างความเสียหายร้ายแรง ย้อนกลับไปในปี 1970 ฉลามคุกกี้คัตเตอร์กัดชิ้นส่วนที่อ่อนนุ่มของเรือดำน้ำ เช่น สายเคเบิลและโดมโซนาร์ที่ทำจากยาง ทำให้บางครั้งเรือต้องกลับไปที่ฐานเพื่อทำการซ่อมแซม หรือมีบางกรณีที่ฉลามคุกกี้คัตเตอร์กัดชิ้นส่วนเรือดำน้ำอย่างรุนแรง จนทำให้น้ำมันภายในอุปกรณ์โซนาร์รั่วไหลออกมา
คนที่ออกไปผจญภัยในทะเลตอนกลางคืนก็โดนโจมตีเช่นกัน ในปี 2009 ชายคนหนึ่งพยายามว่ายน้ำระยะทาง 30 ไมล์ระหว่างฮาวายและเกาะเมาวีในตอนกลางคืน เขาถูกฉลามคุกกี้คัตเตอร์กัดที่หน้าอก และในปี 2019 นักว่ายน้ำสองคนเข้าร่วมการแข่งขัน Oceans Seven ก็ถูกกัดเช่นกัน พวกเขามีแผลขนาดใหญ่ที่ท้อง ขา และหัวไหล่ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายรายที่มีจุดจบอันน่าเศร้าจากฉลามสายพันธุ์นี้
ดังนั้นหากคุณไม่ต้องการให้ชิ้นส่วนของเนื้อถูกตัดออกจากร่างกายโดยสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กแต่อันตรายมาก ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณอยู่ห่างจากน้ำลึกบริเวณที่มีฉลามคุกกี้คัตเตอร์อาศัยอยู่
ที่มา : odditycentral | เรียบเรียงโดย เพชรมายา
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ