ร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา (Mariana Trench) เป็นชื่อธรณีวิทยาทางทะเลของร่องลึกก้นสมุทรที่ลึกที่สุดในโลก และเป็นจุดที่ต่ำที่สุดของเปลือกโลกเท่าที่ทราบกันในปัจจุบัน ร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนามีตำแหน่งอยู่ที่ก้นมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตกเฉียงเหนือ และอยู่ในแนวตะวันออกและแนวใต้ของหมู่เกาะมาเรียนา ใกล้กับเกาะกวม โดยมีความลึกที่วัดได้ถึง 10,994 เมตรหรือ 36,070 ฟุตจากระดับน้ำทะเล
และแน่นอนว่าในร่องลึกแห่งนี้ก็มีสัตว์ทะเลน้ำลึกอาศัยอยู่ได้อย่างไม่น่าเชื่อ วันนี้เพชรมายาจึงขอพามาชมสัตว์โลกใต้ทะเลที่แสนมหัศจรรย์เหล่านี้ ส่วนจะมีตัวอะไรและหน้าตาจะประหลาดแค่ไหน ลองไปชมกัน
1. ปลิงกระสือ (Enypniastes)
จริงๆ แล้วมันคือปลิงทะเลชนิดหนึ่งที่มีลักษณะร่างกายโปร่งใสสีชมพู จนเห็นลักษณะคล้ายลำไส้อยู่ข้างในคล้ายกระสือ (สื่อไทยจึงนำมาเรียกเป็นชื่อปลิงกระสือ) โดยผิวหนังของมันมีเซลเรืองแสงที่ใช้ป้องกันนักล่า และมีฟันซี่เล็กๆ อยู่ด้านใต้เพื่อที่จะใช้เก็บกวาดอาหารจากพื้นมหาสมุทร และมันถือเป็นปลิงทะเลเพียงไม่กี่สายพันธุ์ที่ใช้การว่ายน้ำแทนการคลานอยู่กับพื้น ซึ่งเจ้าปลิงทะเลนี้สามารถพบได้ที่ระดับความลึกถึง 16,400 ฟุต
2. ปลาไหลคัสก์อีล (Cusk Eel)
การค้นพบปลาไหลชนิดนี้ถือเป็นเรื่องปกติ แต่เจ้าปลาไหล Cusk Eel ที่ถูกพบในภาพมีลักษณะที่แปลกแตกต่างจากตัวอื่นๆ เนื่องจากศีรษะของมันที่มีรูปทรงผิดปกติไม่เหมือนกับปลาไหล Cusk Eel ทั่วไป ทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามันอาจเป็นปลาไหล Cusk Eel สายพันธุ์ใหม่ก็เป็นได้
3. ปลาหมึกดัมโบ้ (Dumbo Octopus)
ชื่อของเจ้าหมึกชนิดนี้ได้มาเนื่องจากมันมีครีบที่ดูเหมือนใบหูขนาดใหญ่ที่คล้ายกับตัวการ์ตูนช้างดัมโบ้ โดยมันอาจอาศัยอยู่ในจุดที่ลึกมากถึง 10,000-11,000 ฟุต และเหยื่อของมันก็คือสัตว์จำพวก หอยทาก หนอน และอื่นๆ
4. หมูทะเล (Sea Pig)
ถึงแม้มันจะชื่อว่าหมู แต่จริงๆ แล้วมันคือสัตว์ในตระกูลปลิงทะเล ซึ่งเจ้าหมูทะเลนี้มีหนวดอยู่ที่บริเวณส่วนท้องซึ่งทำหน้าที่คล้ายขาในการคลานบนพื้น และมันยังสามารถพองตัวให้ใหญ่ขึ้นจนดูอ้วนกลมคล้ายหมู นั่นจึงเป็นสาเหตุของชื่อที่พวกเราเรียกมันว่าหมูทะเลนั่นเอง
5. พรีดาโทรี ทูนิเคต (Predatory Tunicate)
สิ่งมีชีวิตไม่มีกระดูกสันหลังที่ดูเหมือนลูกโป่งนี้ จริงๆ มันคือนักล่าโปร่งใส ที่รอคอยเหยื่อตัวเล็กๆ ที่ลอยผ่านไปมา ก่อนที่มันจะดักจับด้วยการคลุมเหยื่อให้มิดชิดและขังมันไว้ภายในจนกว่าจะพร้อมกิน ซึ่งเหยื่อของมันส่วนมากมักจะเป็น แพลงตอนสัตว์ และสัตว์ทะเลตัวเล็กๆ
6. ไฮโดรเมดูซา (Hydromedusa)
แมงกระพรุนที่มีลักษณะเหมือนกับจานบิน UFO เพิ่งถูกพบในร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนาเมื่อไม่นานมานี้ โดยร่างกายของมันประกอบด้วยหนวดสั้นและหนวดยาว อวัยวะภายในตรงกลางลำตัวของมันยังสร้างแสงเรืองออกมาได้
7. สตอลค์ไครนอยด์ (Stalked Crinoids)
ไครนอยด์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะคล้ายดอกไม้ที่สวยงาม แต่มันสามารถเคลื่อนที่ได้ โดยมันจะกินเหยื่อของมัน เช่น แพลงก์ตอน หรือสัตว์น้ำเปลือกแข็งตัวเล็กๆ เวลาที่พวกมันลอยไปมาในน้ำ
8. ล็อบสเตอร์น้ำลึกตาบอด (Blind Deep-sea Lobster)
ก้ามที่มีลักษณะแปลกและยาวของล็อบสเตอร์พันธุ์นี้ มีเอาไว้ช่วยในการขุดดิน พวกมันสามารถทำโพรงขนาดใหญ่บนพื้น และรอโผล่หัวออกมาโจมตีเหยื่อของมันจากในโพรง
9. หนอนลูกโอ๊ค (Acorn Worm)
ชื่อของมันได้มาจากลักษณะของตัวมันที่ดูเหมือนกับลูกโอ๊ค โดยมันเป็นหนอนที่ไม่มีกระดูก สมอง หรือลูกตา แต่มีริมฝีปากที่ยาวเกือบจะเท่าร่างกายตัวเองเพื่อช่วยในการจับเหยื่อ และเหมือนกับพวกหนอนทะเลโดยทั่วไปที่มันไม่สามารถมองเห็น แต่มีต่อมรับรู้สาเคมีและแสงได้
10. ปลาหมึกแวมไพร์ (Vampire Squid)
ชื่อของมันไม่ใช่ได้มาจากการที่มันดูดเลือดสัตว์ทะเลตัวอื่น แต่จากลักษณะสีผิวที่ออกโทนสีแดงเข้มและมีดวงตาสีแดง โดยมันเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่อยู่บนโลกนี้มานานกว่า 200 ล้านปี และยังเป็นหมึกชนิดเดียวที่เป็นสายพันธุ์เชื่อมต่อกันระหว่างหมึกสายกับหมึกกล้วย
11. ปลาผี (Ghost Fish)
ปลาสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งถูกค้นพบในร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนาเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมาที่ระดับความลึก 8,200 ฟุต โดยลำตัวของมันมีความยาวประมาณ 10 ซม. หัวโต มีสีขาวเกือบทั้งตัวและมีลักษณะโปร่งแสง ดวงตาไม่มีสี หางมีลักษณะคล้ายลูกน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีการค้นพบปลาวงศ์เดียวกันกับปลาผีที่ระดับความลึกเท่านี้มาก่อน
12. ฉลามผี (Ghost Shark)
ฉลามสายพันธุ์โบราณที่มีฉายาว่า “คิเมร่า” ที่อยู่บนโลกนี้มานานกว่า 300 ล้านปี หรือก่อนกำเนิดไดโนเสาร์ ถือเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ฉลามที่หายากที่สุด ซึ่งทางองค์กร NOAA ได้จับภาพมันได้เป็นครั้งแรกในร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนาได้เมื่อไม่นานมานี้
13. ดาวทะเลเชียแรสเตอร์ (Cheiraster)
คุณสามารถพบดาวทะเลได้ตามชายหาดทั่วๆ ไป แต่สำหรับเจ้าดาวทะเลชนิดนี้อาศัยอยู่ในน้ำลึก และคุณก็โชคดีที่ไม่เจอมัน เพราะนามอันแหลมคมและแข็งแรงที่เป็นเสมือนเกราะป้องกันตัวมันนี้ สามารถฉีกถุงมือยางคุณให้ขาดได้ง่ายๆ
14. ปลาขวาน (Hatchet Fish)
ชื่อของมันมาจากลักษณะลำตัวที่บางคล้ายกับใบมีดของขวาน โดยลักษณะพิเศษของมันคือการสร้างแสงได้ด้วยตนเองผ่านกระบวนการที่เรียกว่าไบโอลูมิเนสเซนส์ หรือการเรืองแสงของสิ่งมีชีวิต ด้วยอวัยวะพิเศษที่ผลิตสารเรืองแสงได้เช่นเดียวกับหิ่งห้อย
15. ฟองน้ำทะเลปิงปอง (Ping-Pong Tree Sponge)
ใครจะคิดว่าฟองน้ำจะเป็นสัตว์กินเนื้อ แต่สำหรับเจ้าฟองน้ำปิงปองที่อาศัยอยู่ในระดับความลึก 9,000 ฟุตนี้ จะมีตะขอเล็กๆ เอาไว้จับเหยื่อที่เข้ามาใกล้ๆ และปล่อยให้เซลล์ในฟองน้ำเป็นตัวย่อยสลายเหยื่อเหล่านั้น
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ
ที่มา : guff | เรียบเรียงโดย เพชรมายา