แร็กคูน เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกากลาง และมันไม่เคยมีอยู่ในญี่ปุ่นแม้แต่ตัวเดียว แต่ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา แร็กคูนได้แพร่กระจายไปอาศัยอยู่ในธรรมชาติใน 44 จังหวัด จากจังหวัดทั้งหมด 77 จังหวัด จนก่อให้เกิดปัญหาตามมานับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ท้องถิ่น
หายนะที่เกิดจากแร็กคูนนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากการ์ตูนแอนิเมชันเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น…
ย้อนกลับไปในปี 1963 สเตอร์ลิง นอร์ธ นักเขียนชาวอเมริกันได้เปิดตัวหนังสือที่ชื่อว่า Rascal: A Memoir of a Better Era โดยเป็นเรื่องราวของเด็กหนุ่มนามว่า สเตอร์ลิง ที่ออกไปผจญภัยกับ ราสคาล แร็กคูนเพื่อนซี้
เรื่องราวของเขาได้รับความนิยมอย่างมากจนดิสนีย์ตัดสินใจเปลี่ยนมันให้กลายเป็นภาพยนตร์ไลฟ์แอ็กชันในปี 1969
ต่อมาในปี 1977 อีกฟากหนึ่งของโลกอย่างประเทศญี่ปุ่น ได้เปิดตัวซีรีส์แอนิเมชันจำนวน 52 ตอนที่ชื่อว่า Rascal the Raccoon (あらいぐまラスカル) แม้จะเข้าฉายเพียงแค่ปีเดียว แต่นั่นก็เพียงพอให้แร็กคูนกลายเป็นสัตว์เลี้ยงที่ผู้คนต้องการมากที่สุดในประเทศทันที
ปัญหาเดียวก็คือ… ไม่มีแร็กคูนในประเทศญี่ปุ่น นั่นจึงทำให้ผู้คนเริ่มนำเข้าแร็กคูนจากอเมริกาเฉลี่ยแล้วประมาณ 1,500 ตัวต่อเดือน
แท้ที่จริงแล้ว หากผู้คนที่ต้องการเลี้ยงแร็กคูนใส่ใจกับตอนจบในหนังสือของสเตอร์ลิงหรือดูซีรีส์แอนิเมชันเรื่องนี้จนจบ พวกเขาควรตระหนักได้ว่าแร็กคูนที่โตเต็มวัยไม่เหมาะกับการเป็นสัตว์เลี้ยง
สเตอร์ลิงตระหนักดีว่าราสคาลเป็นสัตว์ป่าที่ควรอาศัยอยู่ในป่า ดังนั้นเขาจึงปล่อยมันไป ในขณะที่อีกหลายครอบครัวไม่ฉลาดพอและเลือกที่จะทำสิ่งตรงกันข้าม นั่นคือการนำลูกแร็กคูนมาเลี้ยง
ก่อนที่ผู้คนจะเริ่มคิดได้ ก่อนที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองจะให้ความสนใจ ก็ไม่ใครสามารถหยุดเรื่องนี้ได้แล้ว เมื่อผู้คนไม่สามารถรับมือกับการเลี้ยงแร็กคูนได้ก็เริ่มปล่อยพวกมันในป่า จุดเริ่มต้นของหายนะเกี่ยวกับระบบนิเวศก็เริ่มขึ้น
แร็กคูนเป็นสัตว์ที่มีไหวพริบเป็นเลิศ พวกมันขับไล่สัตว์ป่าชนิดอื่นออกไป ทำลายพืชผลการเกษตร ตลอดจนศาลเจ้าและบ้านที่สร้างด้วยไม้แบบดั้งเดิม นอกจากนั้นยังขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วจนไม่อาจควบคุมได้อีกต่อไป
แค่เพียงเวลาไม่กี่เดือน แร็กคูนที่ถูกนำเข้าและขยายพันธุ์ตามธรรมชาติมีจำนวนรวมหลายหมื่นตัว พวกมันเริ่มบุกรุกพื้นที่ในเมือง คุ้ยหาอาหารตามถังขยะ หรือแม้กระทั่งโจมตีผู้คนที่พยายามขัดขวางมัน
ในทางเทคนิคแล้ว ญี่ปุ่นมีแร็กคูนสายพันธุ์ของพวกเขาเองที่เราคุ้นเคยกันดีในชื่อ “ทานูกิ” (ถึงแม้ว่ามันจะอยู่ในวงศ์ของสุนัขก็ตาม) แต่ทานูกิก็ไม่สามารถแข่งขันเรื่องการปรับตัวได้เทียบเท่ากับแร็กคูนอเมริกัน
พวกมันเริ่มแย่งชิงทรัพยากรและอาณาเขตที่อยู่อาศัย ซึ่งทานูกิไม่อาจแข่งขันกับพวกแร็กคูนอเมริกันได้เลย
เมื่อถึงจุดหนึ่ง บางจังหวัดของญี่ปุ่นได้ตัดสินใจที่จะกำจัดแร็กคูนเพื่อลดจำนวนพวกมันลง ในทุก ๆ ปี มีการดักจับแรกคูนเพื่อนำไปกำจัดนับหมื่นตัว เพื่อป้องกันไม่ให้พวกมันทำลายพืชผลทางการเกษตร รวมถึงศาลเจ้าและบ้านไม้เก่าแก่ แต่เรื่องนี้สร้างความไม่พอใจให้กับนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสัตว์เช่นกัน
เรื่องราวของแร็กคูนในญี่ปุ่นถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญสำหรับ เอเลี่ยนสปีชีส์ หรือสัตว์ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามาเบียดเบียนสัตว์สายพันธุ์ท้องถิ่น จนยากที่จะควบคุมให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อีกต่อไป
ที่มา: odditycentral