อย่างที่เราทราบกันดีว่า นกแร้งมักจะคอยกินอาหารจำพวกซากสัตว์เป็นหลัก พวกมันมักจะคอยกินเนื้อของสัตว์ที่เสียชีวิตแล้ว แต่กลับมีนกแร้งอยู่ชนิดหนึ่ง และเป็นเพียงชนิดเดียวในโลกที่ชื่นชอบในการกินกระดูกมากกว่าเนื้อ
แร้งเครา (Bearded Vulture) คือนกแร้งขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่บนภูเขาสูงของอิหร่าน ยุโรปตอนใต้ แอฟฟริกาตะวันออก ทิเบต และบางส่วนของประเทศอินเดีย
สิ่งที่ทำให้พวกมันโดดเด่นไม่ใช่เพียงแค่ขนบนหัวที่ทำให้มันแตกต่างจากแร้งทั่วไป แต่มันคือสัตว์มีกระดูกสันหลังเพียงชนิดเดียวบนโลกที่ดำรงชีวิตด้วยการกินแต่กระดูกเป็นหลัก
โดยสัดส่วนของอาหารที่แร้งเครากินเป็นกระดูกมากถึง 85-95% นั่นจึงทำให้พวกมันสามารถกลับมากินซากที่เหลือได้แม้ผ่านไปเป็นเดือน หลังจากที่ส่วนที่เป็นเนื้ออ่อนนุ่มถูกสัตว์ชนิดอื่น หนอน หรือแบคทีเรีย กินไปหมดแล้วก็ตาม
แล้วมันสามารถย่อยกระดูกที่กลืนลงท้องได้อย่างไร ?
ความลับของแร้งเคราก็คือ ระบบย่อยอาหารอันทรงพลัง น้ำย่อยในกระเพาะของมันที่มีค่า pH น้อยกว่าหนึ่ง ซึ่งมีความเป็นกรดสูงอย่างเหลือเชื่อ ช่วยให้กระดูก ฟัน และกีบเท้า ที่เป็นส่วนแข็งของสัตว์ถูกย่อยสลายได้อย่างรวดเร็ว
ปริมาณไขมันในไขกระดูกที่สูง ทำให้แร้งเคราได้ค่าพลังงานเกือบจะดีพอ ๆ กับพลังงานของกล้ามเนื้อ แม้ว่ากระดูกจะย่อยได้น้อยกว่าก็ตาม กระดูกที่ถูกทิ้งอยู่บนภูเขาสูงจะเกิดการคายน้ำและไม่ถูกย่อยสลายจากแบคทีเรีย เนื่องจากอากาศที่หนาวจัด
และกระดูกชิ้นโตที่พวกมันกลืนลงท้องมักจะถูกย่อยสลายภายในเวลาเพียงแค่ 24 ชั่วโมงเท่านั้น
ส่วนกระดูกที่มีชิ้นใหญ่เกินกว่าที่จะกลืนได้ พวกมันจะคาบกระดูกชิ้นโตขึ้นไปในระดับความสูง 50-150 เมตร แล้วทิ้งลงมาเพื่อให้กระดูกแตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แต่หากกระดูกยังไม่ละเอียดพอ พวกมันอาจทำซ้ำอีกครั้ง
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ บางครั้งพวกมันก็จะโจมตีเหยื่อที่มีชีวิตมากกว่าแร้งชนิดอื่น ซึ่งในบรรดาสิ่งมีชีวิตที่มักตกเป็นเหยื่อของแร้งเคราก็คือ “เต่า” ที่ถูกพบมากในท้องถิ่น
เต่าที่ตกเป็นเหยื่ออาจมีน้ำหนักเกือบเท่ากับแร้งเครา ซึ่งพวกมันจะใช้วิธีการเดียวกันกับการทำลายกระดูกนั่นก็คือ จับหย่อนลงมาจากท้องฟ้า เพื่อให้กระดองเต่าแตกออก
ในปี 2004 สถานะการอนุรักษ์ของแร้งเคราถูกจัดในอยู่ในหมวด “ความเสี่ยงต่ำ” แต่หลังจากปี 2014 แร้งเคราถูกระบุว่าเป็นสัตว์ “ใกล้ถูกคุกคาม”
ที่มา: wikipedia