ย้อนกลับไปในเดือนธันวาคม 1984 ชาวประมงกลุ่มหนึ่งได้พบเห็นฝูงวาฬเบลูกาขนาดใหญ่บริเวณคาบสมุทรชุกชี (Chukchi Peninsula) ที่ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง พวกเขาสังเกตเห็นว่ามีบางอย่างผิดปกติเกี่ยวกับวาฬเบลูกาฝูงนี้
สภาพอากาศที่หนาวจัดได้สร้างแผ่นน้ำแข็งหนา 4 เมตรขังพวกมันเอาไว้ การจะว่ายน้ำข้ามพื้นที่น้ำแข็งที่แผ่ขยายออกไปนั้นไม่สามารถทำด้วยลมหายใจเดียว (วาฬเบลูกากลั้นหายใจได้เพียง 12-13 นาทีเท่านั้น)
วาฬเหล่านี้จึงถูกขังเอาไว้ในแอ่งน้ำแข็งขนาดเล็ก และเอาชีวิตรอดด้วยการหายใจผ่านรูน้ำแข็งที่มีพื้นที่อยู่ไม่มากนัก สิ่งที่พวกมันทำได้คือรอจนกว่าแผ่นน้ำแข็งจะละลายเองตามธรรมชาติ ซึ่งไม่มีทางรู้ได้เลยว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่
เมื่อข่าวเรื่องนี้ถูกแพร่ออกไป ก็มีชาวท้องถิ่นจำนวนมากพยายามเข้ามาช่วยเหลือ ทั้งการให้อาหารรวมถึงช่วยเจาะรูน้ำแข็งเพื่อสร้างพื้นที่หายใจให้มากขึ้น เนื่องจากจำนวนของวาฬเบลูกาที่ประเมินได้อาจมีมากถึง 2,000 ตัว
แต่ในช่วงฤดูหนาวของรัสเซียนั้นขึ้นชื่อเรื่องความโหดร้าย และพวกวาฬก็จะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นานภายใต้น้ำแข็งที่หนาทึบเช่นนี้
ในที่สุด ทางการโซเวียตตัดสินใจส่งเรือตัดน้ำแข็งมอสควา (Moskva) ไปช่วยฝูงวาฬเบลูกาที่ติดอยู่ แผนการคือการเจาะช่องน้ำแข็งเพื่อให้วาฬหนีไปสู่ทะเลเปิด นอกจากนั้นยังมีทีมทีมเฮลิคอปเตอร์ที่ช่วยปล่อยปลาสดลงไปในรูน้ำแข็งเพื่อให้พวกมันยังพอดำรงชีวิตต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม ฝูงวาฬเบลูกาที่อยู่ในสภาพอ่อนเหล่านี้กลับหวาดกลัวเรือยักษ์ที่ยาวกว่า 400 ฟุต ที่มีทั้งเสียงเครื่องยนต์ ใบพัด และเสียงตัดน้ำแข็งที่ดังสนั่น ทำให้กัปตันไม่สามารถพาฝูงวาฬกลับไปยังเส้นทางที่เข้ามาได้
ในตอนนั้นเอง ลูกเรือคนหนึ่งเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับสัตว์จำพวกวาฬและโลมาที่ตอบสนองต่อเสียงดนตรี เขาจึงตัดสินใจเปิดเพลงผ่านลำโพง แล้วลองเล่นเพลงทุกประเภท ตั้งแต่เพลงป๊อบจนไปถึงเพลงคลาสสิก
หลังจากพยายามอยู่พักใหญ่ วาฬเบลูกาที่เหงาหงอยก็เริ่มตอบสนองต่อดนตรีคลาสสิก พวกมันสงบลงและกล้าเข้าใกล้เรือมากขึ้น
ด้วยวิธีการนี้ ทำให้เรือมอสควาใช้ดนตรีคลาสสิกนำทางฝูงวาฬเบลูกาได้สำเร็จ ด้วยการเจาะน้ำแข็งตัดเข้าไปยังเส้นทางใหม่ พวกเขาใช้วิธีเดินหน้าเข้าไปในแผ่นน้ำแข็ง สร้างเส้นทาง และรอฝูงวาฬ ทำเช่นนี้ซ้ำไปซ้ำมาหลายครั้ง จนฝูงวาฬดูจะเข้าใจว่าพวกเขากำลังทำอะไรอยู่ และตัดสินใจค่อย ๆ ว่ายตามเรือตัดน้ำแข็งออกไป
เรือมอสควาสามารถเคลื่อนที่ได้ทีละกิโลเมตร ส่งผลให้ภารกิจกินเวลานานหลายสัปดาห์ จนกระทั่งปลายเดือนกุมภาพันธ์ 1985 ฝูงวาฬเบลูกากว่า 2,000 ตัว ก็ได้กลับสู่ท้องทะเลเป็นผลสำเร็จ