ถ้าพูดถึงกระต่าย หลายๆ คนต้องนึกถึงความน่ารักน่าชังของพวกมันอย่างแน่นอน แต่ใครจะไปรู้บ้างว่า เรื่องราวของกระต่ายที่เกิดขึ้นในออสเตรเลียนั้น มันมีความน่าสนใจและชวนให้อ้าปากค้างเป็นอย่างมาก
ถึงแม้กระต่ายจะถูกนำเข้ามายังออสเตรเลียในฐานะอาหารตั้งแต่ปี 1788 แต่จุดเริ่มต้นของการแพร่พันธุ์สุดโหดนี้ ว่ากันว่าเริ่มต้นในปี 1859 เมื่อ โธมัส ออสติน เจ้าของที่ดินในเมืองวินเชลซี รัฐวิคตอเรีย ได้นำกระต่ายป่าจำนวน 24 ตัวจากอังกฤษเข้ามาในออสเตรเลีย และปล่อยพวกมันเข้าสู่ป่าเพื่อใช้เป็นกีฬาล่าสัตว์
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ กระต่าย 24 ตัวนั้นได้ออกลูกออกหลานต่อมามากมาย จนหลายปีผ่านไป จำนวนกระต่ายบนออสเตรเลียมีเพิ่มมากถึงหลายล้านตัวอย่างไม่น่าเชื่อ
หลังจากทำลายต้นไม้ใบหญ้า บนพื้นที่กว่า 5 ล้านไร่ ในรัฐวิคตอเรีย พวกมันก็เริ่มอพยพข้ามรัฐไปยัง เซาท์ ออสเตรเลีย, นิว เซาท์ เวลส์ และ ควีนส์แลนด์ โดยใช้ระยะเวลาอพยพราว 80 ไมล์ต่อปี จนกระทั่งในทศวรรษที่ 1890 กองทัพกระต่าย ก็ได้ยึดพื้นที่ออสเตรเลียไปครึ่งประเทศเสียแล้ว
ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของสภาพภมูิประเทศ ซึ่งเหมาะสมกับการดำรงชีวิตของกระต่าย ทำให้พวกมันกินอยู่อย่างราชา เสพสุข ขยายพันธุ์กันทุกเดือน แถมยังไม่มีนักล่าตามธรรมชาติ ที่จะมาหยุดกระต่ายจำนวนมหาศาลเหล่านี้ได้
หายนะที่ตามมาหลังจากนั้นก็คือ กระต่ายเหล่านี้ก็สร้างปัญหาให้กับระบบนิเวศน์และชาวนาชาวไร่ รวมไปถึงอุตสาหรกรรมปศุสัตว์ พวกมันเข้าไปกัดกินพืชผัก ต้นไม้สายพันธุ์ต่างๆ ไปรบกวนและเบียดเบียนสัตว์อื่น ออสเตรเลียต้องสูญเสียเงินหลายพันล้านเหรียญทั้งทางตรงและทางอ้อม จากกองทัพกระต่ายเหล่านี้
ในช่วงทศวรรษที่ 1920 หรือราวๆ 70 ปีต่อมา มีการคาดการณ์จำนวนประชากรกระต่ายในประเทศออสเตรเลีย เพิ่มขึ้นถึง 10,000 ล้านตัว หรือตกราวๆ 3,000 ตัวต่อพื้นที่ 1 ตารางไมล์ ซึ่งมีการสืบพันธุ์ มีอัตราอยู่ที่ 18-30 ครั้งต่อกระต่ายตัวเมีย 1 ตัว ต่อปี
ในช่วงตลอดหลายทศวรรษ รัฐบาลออสเตรเลียพยายามหาวิธีกำจัดกระต่ายมากมายก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งปี 1950 แฟรงค์ เฟนเนอร์ นักวิจัยในสมัยนั้นได้คิดค้นไวรัส มิกโซมา (Myxoma) ที่สามารถคร่าชีวิตกระต่ายจาก 600 ล้านตัวเหลือเพียง 100 ล้านตัว แต่หลังจากที่พวกมันสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ ก็กลับมาเพิ่มประชากรอีก จนอยู่ราวๆ 200-300 ล้านตัว ในปี 1991
ในปี 1995 ไวรัสตัวใหม่ที่ชื่อ Calicivirus ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกกระต่าย (RHD) โดยไวรัสตัวนี้แตกต่างจากมิกโซมา เพราะใช้แมลงเป็นพาหะ จึงทำให้สามารถแทรกซึมไปในพื้นที่ๆ ยากต่อการเข้าถึงได้
ผลของไวรัสชนิดนี้ ทำให้กระต่ายมีจำนวนลดลงกว่า 90% ในเขตแห้งแล้ง แต่มันก็ยังมีข้อจำกัดในพื้นที่ๆ หนาวกว่าและมีฝนตกมากกว่า ตามชายฝั่งออสเตรเลีย แต่ปัจจุบันนี้ กระต่ายเหล่านี้ก็เริ่มสร้างภูมิคุ้มกันตัวเองขึ้นมาเพื่อสู้กับไวรัสชนิดนี้ได้ และกลับมาขยายพันธุ์อีกครั้ง
ด้วยความสามารถในการแพร่พันธุ์ระดับนี้ จึงทำให้กระต่ายถูกจัดอยู่ในอันดับสัตว์ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์น้อยมาก และถ้าอ่านมาถึงตอนนี้แล้ว คงไม่มีใครอยากจะลองเอากระต่ายป่ามาปล่อยในป่าแถวบ้านแน่นอน
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ
ที่มา : geography | wikipedia | เรียบเรียงโดย เพชรมายา