วัตถุที่ส่องสว่างที่สุดในจักรวาลควรง่ายต่อการค้นพบ แต่นักดาราศาสตร์เพิ่งจะค้นพบมันไม่นานมานี้ แถมยังเติบโตขึ้นทุก ๆ วันด้วยมวลอันมหาศาล
นักดาราศาสตร์เพิ่งค้นพบสิ่งที่เรียกว่า “เควซาร์” (Quasar) แห่งหนึ่ง จากการใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่มาก (VLT) ของหอดูดาวท้องฟ้าซีกใต้แห่งยุโรป (ESO) ที่ตั้งอยู่ในประเทศชิลี โดยพวกเขาตั้งชื่อว่า เควซาร์ J0529-4351 ที่อยู่ห่างจากเราประมาณ 12,000 ล้านปี
ซึ่งทำให้เควซาร์นี้มีความสว่างกว่าเควซาร์อื่น ๆ มาก และยังเป็นวัตถุที่ส่องแสงสว่างมากที่สุดในจักรวาลที่เรารู้จัก
เควซาร์คืออะไร ?
เควซาร์ (Quasar) ย่อมาจาก Quasistellar Radio Sources หรือแหล่งกำเนิดคลื่นวิทยุคล้ายกับดวงดาว โดยถูกค้นพบมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ด้วยกล้องโทรทรรศน์วิทยุ แต่ในตอนนั้น ไม่มีใครรู้ว่ามันคืออะไรกันแน่
สิ่งที่นักดาราศาสตร์ค้นพบก็คือ เควซาร์เป็นแกนกาแล็กซีที่ดูดกลืนก๊าซและฝุ่นลงไปในหลุมดำที่มีมวลมหาศาลและปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปแบบของรัสสีแม่เหล็กไฟฟ้า พวกมันมีลักษณะคล้ายกับดาวฤกษ์คือมีแสงสว่างในตัวเอง แต่มันสว่างกว่าดาวฤกษ์นับพันเท่า และมันคือวัตถุที่มีแสงส่องมากสว่างที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยรู้จัก
ส่วนใหญ่แล้ว เควซาร์จะอยู่ห่างจากโลกเราเป็นล้านปีแสง มันอาจมีขนาดที่ใหญ่โตมโหฬารใกล้เคียงกับระบบสุริยะหรืออาจใหญ่กว่าหลายร้อยเท่า แถมยังเคลื่อนที่ในอวกาศด้วยความเร็งสูงประมาณ 67,000 ไมล์ต่อวินาที หรือประมาณ 36% ของความเร็วแสง
ทำไมเควซาร์ถึงส่องสว่างได้ขนาดนั้น ?
หลุมดำเป็นสิ่งที่ดำมืดที่สุดในจักรวาล และแสงก็ไม่สามารถรอดพ้นจากเงื้อมมือของมันไปได้ แล้วทำไมเควซาร์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังของหลุมดำถึงมีแสงสว่างที่สุดในจักรวาลได้
จริง ๆ แล้วแสงจากเควซาร์ไม่ได้มาจากหลุมดำ แต่มันเป็นเพราะ จานพอกพูนมวล (Accretion Disc) หรือพื้นที่บริเวณที่มีสสารจำพวกแก๊สร้อนวิ่งไหลหมุนวนรอบ ๆ หลุมดำและไหลพรั่งพรูลงสู่หลุมดำอย่างมั่นคง ด้วยแรงโน้มถ่วงที่รุนแรงจึงทำให้สสารนั้นกลายเป็นความบ้าคลั่งที่เรียกว่าเควซาร์ ที่ส่องสว่างมากกว่าดวงอาทิตย์เป็นล้านล้านเท่า
เควซาร์ J0529-4351 ที่ถูกค้นพบอลังการแค่ไหน ?
เปรียบเทียบกับดวงอาทิตย์ เควซาร์ที่จะขับเคลื่อนด้วยพลังงานของหลุมดำที่มีมวลมหาศาลแห่งนี้ มีมวลเทียบเท่ากับดวงอาทิตย์ถึง 17,000 ล้านดวง ปล่อยพลังงานส่องสว่างมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 500 ล้านล้านเท่า
แสงทั้งหมดนี้มาจากจานพอกพูนมวลที่กล่าวไปข้างต้น ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 7 ปีแสง และมันเป็นจานพอกพูนมวลที่ใหญ่ที่สุดในจักรวาล ซึ่งระยะทาง 7 ปีแสง ก็เทียบเท่ากับระยะทาง 15,000 เท่า จากดวงอาทิตย์ไปถึงวงโคจรของดาวเนปจูน
เควซาร์ J0529-4351 ดูดกลืนมวลมหาศาลเทียบเท่ากับดวงอาทิตย์ 413 ดวงต่อปี หรือมากกว่าดวงอาทิตย์ 1 ดวงต่อวัน และทำให้มันเป็นหลุมดำที่เติบโตเร็วที่สุดเท่าที่เคยถูกค้นพบอีกด้วย
ที่มา: scitechdaily