ยีราฟแคระถูกพบในธรรมชาติเป็นครั้งแรกถึง 2 ตัว

ยีราฟเป็นสัตว์ที่ขึ้นชื่อเรื่องความสูงของมันที่มีมากกว่าสัตว์อื่นตัวใดบนโลกใบนี้ แต่คุณเคยนึกเล่น ๆ หรือไม่ว่ายีราฟแคระมีจริงหรือไม่ และถ้ามีจริงมันจะดูเป็นอย่างไร จะมีความสูงแตกต่างจากยีราฟปกติมากน้อยแค่ไหน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทีมนักวิจัยได้ออกสำรวจประชากรยีราฟในอุทยานแห่งชาติเมอร์ชิสัน ฟอลส์ ในประเทศยูกันดา แต่สิ่งที่สะดุดตาพวกเขาอย่างมากก็คือยีราฟที่มีรูปร่างผิดปกติไม่เหมือนยีราฟตัวไหน ๆ โดยมันมีขาสั้นกว่าปกติอย่างชัดเจน ถึงแม้ว่าร่างกายของมันจะดูเป็นยีราฟที่โตเต็มวัยแล้วก็ตาม

หลังจากนั้นทีมงานได้ทำการสำรวจประชากรยีราฟในนามิเบีย และพวกเขาก็พบยีราฟแคระตัวที่สองที่มีลักษณะผิดปกติที่คล้ายกัน

ตามปกติแล้ว ลูกยีราฟจะโตเต็มวัยในช่วงอายุ 3-6 ปี โดยยีราฟตัวที่ 2 นี้คาดว่าจะเกิดในปี 2014 นั่นหมายความว่ามันควรมีขาที่ยาวแบบยีราฟทั่วไปได้แล้ว

นักวิจัยเชื่อว่ายีราฟทั้งสองประสบปัญหาสภาวะ Skeletal Dysplasia หรือโรคกระดูกเจริญผิดปกติ และถือว่าเป็นยีราฟแคระที่ถูกพบเป็นครั้งแรกในธรรมชาติอีกด้วย

ยีราฟแคระจากยูกันดา

ก่อนที่เราจะเจาะลึกไปถึงยีราฟแคระ หลายคนอาจสงสัยว่าเราจะวัดความสูงของยีราฟได้อย่างไร ในขณะที่ยีราฟมีความสูงเฉลี่ยอยู่ประมาณ 4.6 ถึง 6.1 เมตร จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่มนุษย์ตัวเล็ก ๆ จะนำสายวัดไปวัดพวกมันในธรรมชาติได้ นอกจากนั้น สิ่งสำคัญที่สุดของการทำวิจัยสัตว์ป่าก็คือการไปรบกวนพวกมันให้น้อยที่สุด เพราะมันอาจส่งผลเสียต่อพฤติกรรมหรือการอยู่รอดของพวกมันได้

ยีราฟแคระจากนามิเบีย

นั่นจึงเป็นสาเหตุให้มนุษย์เราคิดค้นวิธีการวัดความสูงที่พัฒนามาจากการวัดความสูงช้างที่เรียกว่า Photogrammetry เทคนิคนี้มีการใช้เครื่องวัดระยะเลเซอร์เพื่อวัดระยะห่างระหว่างวัตถุต่าง ๆ จากนั้นก็ใช้การวัดระยะห่างระหว่างพิกเซลดิจิทัลในภาพถ่ายเพื่อนำมาเปรียบเทียบกันกับของจริง ซึ่งจะทำให้เราวัดความสูงของยีราฟได้อย่างแม่นยำ

สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ ยีราฟแคระในยูกันดามีความยาวคอสูงกว่ายีราฟปกติ แม้ว่าขามันจะสั้นลงก็ตาม ส่วนยีราฟแคระในนามิเบียดูเหมือนจะมีคอและขาที่สั้นกว่าเพื่อน ๆ ของมันทุกอย่าง

ที่มา : iflscience | เรียบเรียงโดย เพชรมายา

สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ