เมื่อข่าวดีเรื่องสัตว์หวนคืนธรรมชาติจากวิกฤติไวรัสแพร่ระบาด กลายเป็นข่าวปลอม

ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีข่าวสารมากมายหลั่งไหลออกมาทางสื่อทุกช่องทาง รวมถึงใน Twitter และ Facebook ที่ปรากฎภาพและเรื่องราวของหงส์และโลมากลับคืนสู่คลองในเวนิส กลุ่มของช้างป่าที่เข้ามาในหมู่บ้านยูนาน ประเทศจีน เพื่อกินข้าวโพดจนเมาหลับกลางไร่ชา นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของสิ่งที่เกิดบนสื่อโซเชียลมีเดียที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และทั้งหมดนี้พูดในทำนองว่า “สัตว์ป่าหวนคืนสู่ความเป็นอิสระ ในโลกที่ไร้ซึ่งมนุษย์รบกวน”

แต่เรื่องทั้งหมดมันไม่ใช่เรื่องจริง

ฝูงหงส์ในสื่อโซเชียลมีเดียแท้จริงแล้วอยู่ในคลองบูราโน เกาะขนาดเล็กในเขตเวนิส วีดีโอคลิปของโลมาแห่งเวเนเชียนถูกบันทึกได้ที่ซาร์ดีเนีย ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน รวมถึงไม่มีใครรู้ว่าภาพของช้างเหล่านี้มากจากที่ใด แต่สื่อของจีนรายงานว่ามันเป็นข่าวเท็จ แม้ว่าจะมีช้างผ่านเข้ามาในมณฑลยูนนานจริง แต่ไม่ใช่ช้างที่ปรากฎในสื่อ และพวกมันไม่ได้แฮปปี้จนนอนหลับฝันดีในไร่ชาแต่อย่างใด

โพสต์เหล่านี้กลายเป็นกระแสอย่างรวดเร็วในชั่วข้ามคืน ไม่อาจปฎิเสธได้ว่าผู้คนต่างชื่นชอบจนอยากแบ่งปันเรื่องราวดี ๆ ท่ามกลางวิกฤตอันเลวร้าย เมื่อเรารู้สึกเครียดท่ามกลางสถานการณ์ยากลำบาก ภาพของสัตว์ที่น่ารักและดูมีความสุขเป็นสิ่งที่ช่วยเยียวยาจิตใจ ดังนั้น สื่อจึงมีอิทธิพลอย่างมากจากการนำเสนอข่าวในลักษณะนี้

เมื่อเรื่องเท็จกลายเป็นกระแสไปทั่ว

คาเวริ กานาปาธี อฮูจา ได้ทวีตข้อความเกี่ยวกับหงส์ที่กลับคืนสู่เวนิส จนทำให้ผู้คนรีทวีตกันอย่างล้นหลาม พร้อมข้อความที่บอกว่า “นี่คือผลที่ไม่คาดคิดจากโรคระบาด สายน้ำที่ไหลผ่านลำคลองเวนิสที่ใสสะอาดเป็นครั้งแรกในชีวิต ที่เห็นปลาได้อย่างชัดเจนจนฝูงหงส์กลับมา”

อฮูจาอาศัยอยู่ในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย บอกกับเราว่าภาพถ่ายทั้งหมดเธอได้มาจากสื่อโซเชียลและตัดสินใจเอามันมารวมกันเพื่อโพสต์ลงบนทวีตเตอร์ โดยไม่รู้เลยว่าแท้จริงแล้วหงส์เหล่านี้อยู่ในบูราโนก่อนที่เชื้อไวรัสโคโรนาจะแพร่กระจายในอิตาลี อฮูจากล่าวว่า “การทวีตก็เป็นเพียงแค่การแบ่งปันสิ่งที่ทำให้เธอมีความสุขระหว่างช่วงเวลาที่มืดมน แต่เธอไม่คาดคิดว่าเรื่องนี้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว หรือสร้างอันตรายใด ฉันหวังว่าจะมีตัวเลือกในการแก้ไขในทวีตสำหรับช่วงเวลาเช่นนี้”

ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องเท็จแต่เธอก็ไม่ได้ลบทวีตดังกล่าวทิ้งไป และได้โต้เถียงว่า มันเกี่ยวข้องกันอยู่ดี เพราะน้ำในเวนิสใสขึ้นกว่าปกติเพราะกิจกรรมทางเรือที่ลดลง ดูเธอจะชื่นชอบยอดไลก์และการรีทวีตที่เธอได้รับอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

“การได้รับยอดไลก์และคอมเมนต์ชื่นชมว่าคุณเป็นคนสำคัญ คือการสร้างการยอมรับให้กับตัวเองเป็นการชั่วคราว”

เปาโล ออร์โดเวซา ผู้เชี่ยวชาญด้านเว็บไซต์ คือหนึ่งในผู้เปิดเผยความจริงเหล่านี้ และเรียกคนที่ทำในลักษณะนี้ว่า “นักต้มตุ๋น” เขารู้ว่ามันมาจากความกระหายในการกระจายข่าวสารจนทำให้เกิดการแชร์ข้อมูลที่ผิดพลาด และมันเป็นความรู้สึกอิ่มเอมเมื่อได้เห็นยอดไลก์ยอดแชร์จำนวนมาก

การค้นหาสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกดี อาจสร้างสิ่งเลวร้ายให้เกิดขึ้นได้ ผู้คนพยายามมองหาสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจในช่วงเวลาที่เลวร้าย สภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่และการต้องกักตัวจากสังคม ในช่วงเวลาที่โดดเดียวเช่นนี้ทำให้เราโหยหาความรู้สึกดี โดยเฉพาะโพสต์ที่มอบความหวังให้แก่ผู้คน ความคิดที่ว่าธรรมชาติและสัตว์ป่ามีความสุขท่ามกลางวิกฤตของมนุษย์ ช่วยให้เรารู้สึกว่า อย่างน้อยมันก็มีข่าวดีที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้

มีคำที่ปรากฎขึ้นมากมายเช่น “ธรรมชาติพึ่งกดปุ่มรีเซ็ตกับเรา”

ซูซาน เคลย์ตัน ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ และนักค้นคว้าและศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมกล่าวไว้ว่า “ฉันคิดว่าผู้คนต้องการเชื่อในเรื่องธรรมชาติกำลังฟื้นคืน ผู้คนคาดหวังให้เป็นเช่นนั้น เพราะไม่ว่าเราจะทำอะไรลงไป พลังของธรรมชาติก็ยิ่งใหญ่พอที่จะฟื้นคืนกลับมาได้”

“ข่าวเท็จที่สร้างเรื่องราวที่ให้ความรู้สึกดีเหล่านี้ จะสร้างความหวาดระแวงให้กับผู้คนมากยิ่งขึ้น หากพวกเขามารู้ทีหลังว่ามันไม่ใช่เรื่องจริง และความรู้สึกของพวกเขาอาจแย่ยิ่งกว่าเดิม”

สุดท้าย สิ่งที่เราอยากบอกก็คือการแบ่งปันเรื่องราวดี ๆ ในช่วงเวลาท้อแท้สิ้นหวัง ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้เราผ่านพ้นวิกฤติไปได้อย่างมีความหวัง แต่สิ่งที่สำคัญก็คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นที่เราต้องไม่ลืมนั่นเอง

ที่มา : nationalgeographic | เรียบเรียงโดย เพชรมายา

สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ