หลายคนคงรู้จักคำว่า จัมโบ้’ ที่แปลว่า ใหญ่มหึมา แต่เชื่อว่ามีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ทราบว่าคำคำนี้มาจากชื่อของช้างในอดีตที่เคยมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในโลก ส่วนเรื่องราวความเป็นมาของช้างจัมโบ้เป็นอย่างไร วันนี้เพชรมายาจะขอพาทุกท่านไปชมกัน
1. ช่วงเริ่มต้นของชีวิต
ย้อนกลับไปในปี 1861 ใกล้กับที่แอ่งน้ำบนพื้นที่แห้งแล้งในประเทศเอธิโอเปีย กลุ่มนายพรานชาวอาหรับได้พบกับลูกช้างแอฟริกันตัวหนึ่งที่มีความสูงราว 40 นิ้ว และมีอายุประมาณ 2 ขวบครึ่งเท่านั้น
ลูกช้างถูกซื้อไปโดยนักสะสมสัตว์ โยฮันน์ ชมิดต์ ที่ขายมันต่อไปให้กับโรงละครสัตว์ จาร์แด็ง เดอ แพลนเตส ในปารีส และมันถูกตั้งชื่อว่า ‘จัมโบ้’ โดยเป็นการรวมกันระหว่างคำว่า ‘จัมเบ’ ที่แปลว่าหัวหน้า และคำว่า ‘แจมโบ’ ที่แปลว่า ‘สวัสดี’ ที่มาจากภาษาสวาฮิลี ของชาวแอฟริกันตะวันออก
2. ชีวิตที่แสนสุขในลอนดอน
ในปี 1865 ทางโรงละครสัตว์ได้ขายมันต่อให้กับ สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (Royal Zoological Society) ในตอนนั้นเอง แมทธิว สก็อตต์ ผู้ดูแลสวนสัตว์คือผู้เลี้ยงดูจัมโบ้อย่างดีราวกับมันเป็นสมบัติแห่งชาติ
สกอตต์บันทึกข้อมูลเอาไว้ว่า ตอนจัมโบ้อายุ 7 ปี มันกินหญ้าแห้งที่หนัก 200 ปอนด์ มันฝรั่ง 1 ถัง ข้าวโอ๊ต 2 ถัง ขนมปัง 15 ก้อน หัวหอมจำนวนมาก และน้ำหลายถังทุกวัน
ในที่สุดช้างจัมโบ้ก็มีความสูงถึง 350 เซนติเมตร และหนักกว่า 7 ตัน
ถึงแม้จะมีร่างกายที่ใหญ่มหึมา แต่จัมโบ้เป็นช้างที่อ่อนโยนและเป็นที่รักของเด็ก ๆ จนได้รับฉายาว่าเป็น ‘สัตว์เลี้ยงยักษ์ของเด็ก’ จัมโบ้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในลอนดอนเป็นเวลาถึง 17 ปี จนกระทั่ง พี.ที.บาร์นัม ผู้บุกเบิกการทำธุรกิจโชว์ในอเมริกาก้าวเข้ามาเพื่อตามหานักแสดงที่ยิ่งใหญ่ของเขา
3. จุดหักเหของชีวิต
ในปี 1880 บาร์นัมได้ยื่นข้อเสนอให้กับสวนสัตว์ลอนดอนในแบบที่ไม่อาจปฏิเสธได้ นั่นคือเงินจำนวน 10,000 ดอลลาร์ ซึ่งเปรียบเทียบกับมูลค่าในปัจจุบันคือ 227,000 ดอลลาร์ หรือราว 8 ล้านบาท สำหรับช้างเลี้ยงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
ถึงแม้จะมีชาวสอังกฤษมากมายที่รวมตัวประท้วงต่อต้านการซื้อจัมโบ้ในครั้งนี้ รวมถึงบาร์นัมต้องเจอกับอุปสรรคทางด้านกฎหมายก่อนที่เขาจะได้รับอนุญาตให้เคลื่อนย้ายจัมโบ้ออกนอกประเทศ แต่ทั้งหมดก็ไม่อาจสู้พลังเงินของเขาได้ ในที่สุดจัมโบ้ก็ต้องเดินทางออกจากลอนดอนไปในฤดูใบไม้ผลิปี 1882
ในช่วงของการเคลื่อนย้ายจัมโบ้ ผู้ดูแลที่ได้รับการว่าจ้างมาไม่สามารถทำให้ช้างจัมโบ้เข้าไปในกรงเพื่อเคลื่อนย้ายได้ มันนอนลงกับพื้นเหมือนเป็นการประท้วง ในที่สุด แมทธิว สก็อตต์ ผู้ดูแลจัมโบ้มาอย่างยาวนานก็เป็นคนพาจัมโบ้เข้ากรงไปโดยไม่มีการต่อต้าน
4. สู่การแสดงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
จัมโบ้เดินทางมาถึงนิวยอร์กในวันที่ 9 เมษายน 1882 มีงานเลี้ยงต้อนรับที่ยิ่งใหญ่รวมถึงชื่อเสียงที่ตามมาอย่างรวดเร็ว ฝูงชนจำนวนมากต่างมารอเฝ้าดูขบวนรถม้าและช้าที่มานำทางให้กับรถแห่จัมโบ้ที่นำไปสู่ฮิปโปโดรม ซึ่งปัจจุบันคือแมดิสัน สแควร์ การ์เดน
จัมโบ้กลายเป็นนักแสดงที่ยิ่งใหญ่ของที่นี่เป็นเวลาหลายเดือน ชาวนิวยอร์กจำนวนมากต่างยินดีจ่ายเงินเพื่อมาดูยักษ์ใหญ่ผู้อ่อนโยน และชื่อเสียงของจัมโบ้ก็เริ่มโด่งดังไปทั่วประเทศ
ในที่สุดจัมโบ้ก็ได้เวลาออกทัวร์ไปทั่วอเมริกาและแคนาดาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของ ‘การแสดงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก’ ในฐานะช้างแอฟริกันยักษ์ และเป็นการเดินทางอย่างต่อเนื่องที่นำไปสู่จุดจบอันน่าเศร้าของจัมโบ้
5. จุดจบอันน่าเศร้า
วันที่ 15 กันยายน 1885 จัมโบ้ออกไปเดินเล่นเพื่อออกกำลังกายตามรางรถไฟพร้อมกับ ‘ทอม ธัมป์’ ช้างตัวตลกขนาดเล็กในเมืองเซนต์โทมัส รัฐออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา
ด้วยการเหยียบย่ำไปในทางที่ไม่คุ้นเคยทำให้จัมโบ้สะดุดล้มและงาทิ่มเข้าหาตัวเอง มันเสียชีวิตข้าง ๆ สก็อตต์ เพื่อนมนุษย์ที่ซื่อสัตย์และภักดีที่สุด จากนั้นรถไฟที่วิ่งมาไม่สามารถหยุดได้ทันเวลา จนชนเข้ากับช้างที่เสียชีวิตไปแล้ว จัมโบ้มีอายุรวมทั้งสิ้น 26 ปี ซึ่งสั้นมากเมื่อเทียบกับอายุขัยของช้างแอฟริกาในป่าที่อยู่ราว ๆ 60 ถึง 70 ปี
บาร์นัม เล่าเรื่องราวที่ต่างออกไปเกี่ยวกับการเสียชีวิตของจัมโบ้ ด้วยความเป็นนักแสดงอาชีพ เขาเล่าว่าจัมโบ้เสียชีวิตในขณะที่ผลัก ทอม ธัมป์ ช้างตัวเล็กออกไปจากรางในขณะที่รถไฟกำลังวิ่งมา ในขณะที่พยานในเหตุการณ์ปฏิเสธเรื่องนี้ บาร์นัมถูกกล่าวหาว่าเขายังหาประโยชน์จากจัมโบ้ ไม่เว้นแม้แต่วาระสุดท้ายของมันก็ตาม
ในขณะที่การเคลื่อนย้ายร่างของจัมโบ้ออกจากรางรถไฟต้องใช้กำลังคนมากถึง 150 คนด้วยกัน
6. จัมโบ้ผู้กลายเป็นตำนาน
บาร์นัมไม่ยอมสูญเสียจัมโบ้ไปฟรี ๆ จากการลงทุนด้วยเงินก้อนโต เขาให้นักสตัฟฟ์สัตว์พยายามซ่อมแซ่มร่างของจัมโบ้ พยามทำให้ร่างกายของมันดูสูงใหญ่ขึ้นไปอีก และพาร่างของจัมโบ้ออกทัวร์ไปกับคณะละครสัตว์อีก 2 ปี
จนถึงปี 1889 หลังจากนั้น บาร์นัมได้บริจาคร่างสตัฟฟ์ของจัมโบ้ให้กับพิพิธภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยทัฟส์ในบอสตัน ส่วนโครงกระดูกทั้งหมดของจัมโบ้ได้ถูกส่งไปให้กับพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกันในนิวยอร์ก
แม้หลังความตาย จัมโบ้ก็ยังหาความสงบไม่ได้ เนื่องจากห้องโถงของพิพิธภัณฑ์ถูกไฟไหม้ในปี 1975 ก่อนที่จะเหลือเพียงเศษซากบางส่วนและขี้เถ้าเท่านั้น ซึ่งถูกเก็บเอาไว้อย่างดีจนถึงปัจจุบันนี้
ในปี 2015 รูปปั้นขนาดใหญ่ของจัมโบ้ถูกสร้างขึ้นอยู่ที่มหาวิทยาลัยทัฟส์เพื่อเป็นเกียรติให้กับช้างผู้เคยเป็นตำนานนักแสดงผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด
เมื่ออ่านบทความนี้จบแล้ว หากคุณได้ยินคำว่า ‘จัมโบ้’ หลังจากนี้ หวังว่าคุณจะระลึกถึงช้างผู้ที่เคยเป็นตำนานสร้างความสุขให้กับเด็ก ๆ มาแล้วมากมาย และมันจะอยู่ในความทรงจำของผู้คนตลอดไปไม่มีวันลืม
ที่มา: allthatsinteresting | barnummuseumexhibitions | cultofweird