สัตว์แต่ละชนิดก็มีกลไกป้องกันตัวเองจากสัตว์นักล่าในรูปแบบที่แตกต่างกันไป สัตว์บางชนิดได้การพรางตัวให้กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม บางชนิดก็มีพิษหรืออวัยวะที่ใช้เป็นอาวุธตอบโต้หรือข่มขู่ให้สัตว์นักล่ากลัว และสัตว์บางตัวก็สามารถสร้างภาพลวงตาได้
วันนี้เพชรมายาจะขอพาทุกท่านมารู้จักกับ Pink Underwing Moth หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Phyllodes imperialis เป็นแมลงที่มีกลไกการป้องกันตัวที่แปลกประหลาดอย่างมาก เพราะในตอนที่มันยังเป็นหนอน เวลาที่สิ่งอื่นรบกวน มันก็จะโก่งหลังตัวเองเพื่อเผยให้เห็นดวงตาขนาดใหญ่ที่น่ากลัว พร้อมกับลวดลายสีขาวที่ดูคล้ายฟันและรอยสีที่อยู่บนใบหน้ามนุษย์
Pink Underwing Moth เป็นผีเสื้อกลางคืนหายากที่ถูกพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1888 โดยเราสามารถพบมันได้ทางตะวันออกเฉียงเหนือของควีนส์แลนด์จนไปถึงตอนเหนือของนิวเซาธ์เวลส์ ในประเทศออสเตรเลีย รวมถึงปาปัวนิวกินี โซโลมอนส์ วานูอาตู และนิวแคลิโดเนีย
แม้ว่าจะออกหากินในเวลากลางคืน แต่ดูเหมือนว่าสีสันบนร่างกายของมันจะไม่ได้ช่วยปกป้องตัวมันแต่อย่างใด ดังนั้นมันจึงต้องมีกลยุทธ์ในการป้องกันตัวรูปแบบอื่นที่ทำให้มันรอดชีวิตอยู่ได้
ในช่วงที่พวกมันฟักตัวออกมาเป็นหนอนตอนแรก ๆ ลำตัวจะมีสีน้ำตาลอ่อนที่กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ทำให้มันหลีกหนีจากสัตว์นักล่าได้
แต่เมื่อพวกมันเติบโตขึ้น จุดและแถบขาวก็จะเริ่มเกิดขึ้นมาจนทำให้มันสามารถสร้างเป็น “ใบหน้ายักษ์” หรือโครงกระดูกที่ดูแปลกประหลาด แต่ก็กลายเป็นกลไกการป้องกันตัวที่ได้ผลดีเยี่ยม
นอกจากนั้น มันยังถูกเรียกในอีกชื่อว่า “หนอนหัวโต” เนื่องจากการโก่งหลังเอาหัวมุดลงมาด้านล่าง ทำให้มันดูเหมือนหนอนที่มีศีรษะขนาดใหญ่ ที่กำลังใส่หน้ากากที่น่ากลัวอยู่ นี่คือกลยุทธ์ในการสร้างภาพลวงตาที่สัตว์นักล่าไม่กล้าเข้าใกล้
นอกจากนั้น เวลาที่มันเติบโตขึ้นจนกลายเป็นผีเสื้อ เราจะเห็นลวดลายสีชมพูสดใสที่อยู่ใต้ปีก ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ Pink Underwing Moth
โดยผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า สีชมพูที่อยู่ใต้ปีกก็คือกลไกการป้องกันตัวอย่างหนึ่งของมันเช่นกัน สีสันที่อยู่ใต้ปีกอาจมีส่วนช่วยถ่วงเวลาให้สัตว์นักล่าตกใจหรือประหลาดใจ จนพวกมันสามารถบินหนีไปได้ แต่แน่นอนว่ากลไกการป้องกันตัวตอนเป็นผีเสื้อนั้นเทียบไม่ได้เลยกับตอนที่พวกมันยังเป็นหนอนอยู่
ที่มา : odditycentral | เรียบเรียงโดย เพชรมายา
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ