มังกรทะเล สิ่งมีชีวิตที่แปลกประหลาดและสวยงามที่สุดในโลก

บนโลกเราใบนี้มีสิ่งมีชีวิตที่แปลกประหลาดอยู่มากมาย แต่จะมีสัตว์สักกี่สายพันธุ์ที่ทั้งแปลกประหลาด งดงาม รวมไปถึงมีความหายากไปพร้อม ๆ กัน

วันนี้เพชรมายาจึงขอพาทุกท่านไปรู้จักกับ “มังกรทะเล” (Common Seadragon) ถือเป็นปลากระดูกแข็งที่อยู่ในวงศ์ปลาจิ้มฟันจระเข้และม้าน้ำ มังกรทะเลที่โตเต็มวัยจะมีสีแดง เหลือง และม่วง สิ่งที่โดดเด่นของมันก็คือปากที่มีความยาว อวัยวยะที่คล้ายกับใบไม้เล็ก ๆ ที่มีไว้เพื่อพรางตัว รวมถึงหนามสั้นจำนวนหนึ่งที่มีไว้สำหรับป้องกันตัว

มังกรทะเลโดยทั่วไปอาจมีความยาวได้ราว 45 เซนติเมตร โดยอาศัยอยู่ใต้ทะเลลึกราว 50 เมตร ตามโขดหิน สาหร่าย และหญ้าทะเล บริเวณน่านน้ำของประเทศออสเตรเลียเท่านั้น และนั่นทำให้มันกลายเป็นสัตว์ประจำตราสัญลักษณ์ทางทะเลของรัฐวิกตอเรียอีกด้วย

พฤติกรรมของมังกรทะเลมักจะเคลื่อนไหวอย่างช้า ๆ และพึ่งพาการพรางตัวเพื่อล่าเหยื่อและป้องกันตัวเอง พวกมันจะลอยอยู่ในน้ำไปเรื่อย ๆ เพื่อพรางตัวไปกับพืชทะเลจำพวกสาหร่ายที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัย และคอยดักกินสัตว์เล็ก ๆ จำพวกกุ้ง ปู รวมถึงแพลงก์ตอนสัตว์ ด้วยการดูดเหยื่อเข้าไปในปากที่ไม่มีฟันของพวกมัน

ถึงแม้มังกรทะเลจะมีความคล้ายม้าน้ำหลาย ๆ อย่าง เช่นตัวผู้จะคอยดูแลไข่ที่กำลังเติบโต แต่ก็มีสิ่งที่แตกต่างกันกับม้าน้ำก็คือ
มันไม่มีกระเป๋าหน้าท้อง แต่จะใช้การเก็บไข่ที่มาจากตัวเมียเอาไว้ที่หางที่ม้วนงอเข้ามา แต่หางของมังกรทะเลก็ไม่อาจใช้ยึดจับสิ่งต่าง ๆ ได้เหมือนกับม้าน้ำ

ภาพของมังกรทะเลที่ขึ้นมาเกยตื้นบนชายหาดในออสเตรเลีย ที่ทำให้หลายคนสงสัยว่ามันคือตัวอะไรกันแน่

นอกจากมังกรทะเลสายพันธุ์ปกติแล้ว ยังมี “มังกรทะเลใบไม้” (Leafy Seadragon) ที่มีรูปร่างลักษณะคล้ายกับมังกรทะเลทั่วไป แต่จะมีอวัยวะที่คล้ายกับใบไม้เรียงรายอยู่รอบตัว ดูอลังการยิ่งกว่าสัตว์ทะเลไหน ๆ บนโลก และนั่นทำให้มันได้ชื่อว่าเป็นสิ่งมีชีวิตทางทะเลที่สวยงามที่สุดในโลก

และในปี 2015 ได้มีการค้นพบมังกรทะเลสายพันธุ์ใหม่ที่ถูกเรียกว่า “มังกรทะเลทับทิม” (Ruby Seadragon) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ 3 ของมังกรทะเล ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 150 ปีที่มีการค้นพบสายพันธุ์ใหม่ของมังกรทะเล สิ่งที่ทำให้มันโดดเด่นคือสีที่แดงทั้งตัว และยังสามารถใช้หางยึดจับได้ ซึ่งแตกต่างจากมังกรทะเลสายพันธุ์อื่น

ปัจจุบัน มังกรทะเลถูกจัดอยู่ในสถานะใกล้ถูกคุกคาม และถือเป็นปลาที่มีความอ่อนไหวมาก จึงยากที่จะนำมาเลี้ยงได้ รวมถึงไม่เคยมีการเพาะพันธุ์ได้มาก่อน ถึงแม้จะเป็นในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำก็ตาม ซึ่งมีเพียงไม่กี่แห่งบนโลกที่สามารถเลี้ยงมังกรทะเลได้

ส่วนทางการออสเตรเลียเองก็มีกฎหมายคุ้มครองโดยห้ามจับและห้ามมีไว้ในครอบครองเด็ดขาด แต่ได้อนุญาตเป็นการพิเศษให้แก่นายแปง กวอง ซึ่งเป็นเจ้าของฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาทะเลชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในออสเตรเลีย จับและครอบครองได้แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น โดยอยุญาตให้จับได้เพียงปีละตัวเดียว ซึ่งมังกรทะเลใบไม้ตามพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำต่าง ๆ ทั่วโลกนั้นก็มาจากการจับของเขานั่นเอง

ที่มา : wikipedia | wikipedia | เรียบเรียงโดย เพชรมายา