งูตัวเล็กชนิดนี้ ใช้การผายลมเป็นกลไกป้องกันตัวเอง

อย่างที่เราทราบกันดีว่า สัตว์โลกหลากหลายชนิดมักมีกลไกการป้องกันตัวเองที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นการพรางตัว การพัฒนาร่างกายเพื่อเป็นเกราะป้องกัน หรือมากไปกว่านั้นคือการตอบโต้ด้วยบางสิ่งในร่างกาย เช่นพิษ หรือแม้แต่การผายลมก็ตาม

งูเวสเทิร์นฮุกโนส (Western Hook-nosed Snake) เป็นงูขนาดเล็กที่มีรูปลักษณ์ภายนอกไม่ได้แตกต่างจากงูทั่วไป พวกมันมีถิ่นกำเนิดอยู่ในทะเลทรายของสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก แต่สิ่งที่ทำให้มันมีชีวิตเสียงมากที่สุดนั่นก็คือรูปร่างของจมูกที่แปลกประหลาด และความสามารถในการ “ผายลม” เพื่อป้องกันภัยจากศัตรูได้

ในขณะที่งูเห่า งูหางกระดิ่ง หรืองูจงอางมีพิษที่ร้ายแรง งูหลาม งูเหลือม และงูอนาคอนดาก็มีกล้ามเนื้อที่แข็งแกร่ง แต่สำหรับงูเวสเทิร์นฮุกโนสกลับไม่ได้มีอะไรที่เหมือนงูตัวอื่น ๆ พวกมันไม่มีพิษ ร่างกายก็ไม่ได้แข็งแรง แต่สิ่งเดียวที่มันใช้ได้คือการผายลมเมื่อถูกศัตรูคุกคาม

งูเวสเทิร์นฮุกโนสจะปล่อยฟองอากาศดังก้องออกมาจากลำไส้ของมัน ซึ่งปกติถูกใช้สำหรับการขับถ่ายที่ส่วนท้ายของงู กลไกป้องกันตัวเองที่แปลกประหลาดนี้ถูกออกแบบมาให้สัตว์นักล่าสับสน ซึ่งนานพอที่จะทำให้พวกมันหลบหนีไป

บรูซ ยัง นักสัณฐานวิทยา (สาขาหนึ่งของชีววิทยา) จากวิทยาลัยลาฟาแยตต์ ในเมืองอีสตัน รัฐเพนซิลเวเนีย ที่ศึกษารูปพรรณสัณฐานภายนอกและคุณสมบัติเฉพาะของโครงสร้างของสิ่งมีชีวิตกล่าวว่า งูเวสเทิร์นฮุกโนสสามารถสร้างการผายลมที่มีลักษณะเฉพาะ ด้วยการใช้กล้ามเนื้อ 2 ชุดเพื่อแยกอากาศที่ถูกอัดเอาไว้ จากนั้นก็บีบเกร็งกล้ามเนื้อหูรูดเพื่อขับมันออกมาอย่างแรง

เสียงผายลมที่เกิดขึ้นจากงูตัวเล็ก ๆ เหล่านี้สามารถดังไกลไปได้ถึง 2 เมตร ด้วยความเร็ว 2/10 วินาที และเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ได้ แม้ว่าเสียงผายลมของมันจะไม่ได้ดังตามมาตรฐานของมนุษย์ แต่ด้วยเสียงที่สูงกว่าก็สามารถทำให้สัตว์อื่น ๆ สับสนได้ และการผายลมบางครั้งก็รุนแรงจนทำให้ตัวของมันยกขึ้นจากพื้น

ลองไปฟังเสียงผายลมของมันในคลิปนี้กันครับ

นอกจากงูเวสเทิร์นฮุกโนสแล้ว ก็ยังมีงูปะการังแอริโซนาอีกหนึ่งชนิดที่มีกลไกป้องกันตัวในแบบเดียวกัน

ที่มา : odditycentral | เรียบเรียงโดย เพชรมายา