นักวิทย์ค้นพบซากแรดดึกดำบรรพ์ขนปุยสภาพสมบูรณ์ 80% จนรู้ถึงอาหารมือสุดท้าย

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ไม่นานนัก ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย North-Eastern Federal ในไซบีเรียได้ค้นพบซากของหมีถ้ำในยุคน้ำแข็งที่มีอายุกว่า 40,000 ปีที่ยังมีสภาพสมบูรณ์อย่างไม่น่าเชื่อ

ความสำเร็จของพวกเขาไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เพราะครั้งนี้พวกเขาค้นพบสิ่งที่เจ๋งไม่แพ้กัน นั่นคือซากของแรดดึกดำบรรพ์ (Woolly Rhinoceros) ที่มีสภาพสมบูรณ์แบบสุด ๆ จนทำให้เราจินตนาการไปถึงตัวเป็น ๆ ของพวกมันในยุคนั้นได้เลยทีเดียว

นี่คือสภาพของแรดดึกดำบรรพ์อายุยังน้อยที่มีขนปกคลุมทั่วร่างกายเช่นเดียวกับสัตว์ในยุคน้ำแข็งตัวอื่น ๆ โดยมันถูกค้นพบในสภาพถูกแช่แข็งอยู่ริมแม่น้ำ Tirekhtyakh ในสาธารณรัฐซาคา ซึ่งเป็นเขตปกครองของสหพันธรัฐรัสเซีย

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า แรดตัวนี้มีอายุประมาณ 3-4 ปี มันเป็นแรดดึกดำบรรพ์ที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดตั้งแต่เคยพบมา คาดว่าสภาพของมันน่าจะสมบูรณ์ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะเป็นฟัน นอ หรือแม้แต่อวัยวะภายในจำนวนมากก็ยังมีสภาพดี รวมไปถึงบางส่วนของลำไส้ยังมีร่องรอยของอาหารมื้อสุดท้ายที่มันเพิ่งกินเข้าไปอีกด้วย

ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตของมันคาดว่าน่าจะเกิดจากการพลัดหลงกับแม่ของมันจนตกลงในแม่น้ำ ซึ่งจากการตรวจสอบคาดว่ามันเสียชีวิตมานานกว่า 20,000 ถึง 50,000 ปีมาแล้ว

นี่คือชิ้นส่วนที่ถูกระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของนอแรด

นอกจากนอที่มีสภาพสมบูร์แล้วก็ยังมีฟันเป็นชุดของมันอีกด้วย

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2014 นักวิทยาศาสตร์ก็เคยค้นพบแรดดึกดำบรรพ์ขนปุยมาแล้ว และสภาพของมันก็ยังสมบูรณ์มากเช่นกัน

สำหรับพื้นที่ในบริเวณแม่น้ำ Tirekhtyakh ถือว่าเป็นพื้นที่แห่งการค้นพบสัตว์ดึกดำบรรพ์ในยุคน้ำแข็ง ซึ่งทีมนักวิทยาศาสตร์จากรัสเซียเชื่อว่า พวกเขาจะได้พบกับสิ่งที่น่าตื่นเต้นไม่แพ้กันต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน

ที่มา : Valery Plotnikov | เรียบเรียงโดย เพชรมายา

สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ