เรื่องน่าเศร้าของนกแก้วมาคอว์ตามธรรมชาติตัวสุดท้าย ที่ตามหารักแท้ในสวนสัตว์

ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา จูเลียต นกแก้วมาคอว์สีน้ำเงินเหลืองจะต้องบินไปเยี่ยมเยียนสวนสัตว์ท้องถิ่นในกรุงริโอเดจาเนโรเพื่อปฏิสัมพันธ์กับสัตว์ตัวอื่น ๆ ที่อยู่หลังกรงเหล็ก มันเป็นนกแก้วมาคอว์ตามธรรมชาติเพียงตัวเดียวในเมืองท่าชื่อดังของประเทศบราซิล และนี่เป็นเพียงโอกาสเดียวที่มันจะได้เข้าสังคมกับสัตว์ตัวอื่น ๆ

นกแก้วมาคอว์เป็นนกที่ชอบเข้าสังคม แต่จูเลียตต้องต่อสู้กับความเหงามาโดยตลอดซึ่งถือเป็นการใช้ชีวิตที่ยากลำบากสำหรับนกแก้วตัวเดียวในกรุงริโอ ซึ่งมันคือนกแก้วมาคอว์ตามธรรมชาติเพียงตัวเดียวที่ถูกพบในเมืองแห่งนี้ นับตั้งแต่ครั้งสุดท้ายเมื่อปี ค.ศ. 1818

พนักงานที่สวนสัตว์ตั้งชื่อมันว่า จูเลียต แต่พวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่านกแก้วตัวนี้เป็นเพศไหน มันเป็นการยากที่จะระบุเพศของนกแก้วมาคอว์โดยที่ไม่ต้องจับมาตรวจสอบดูอวัยวะ หรือเก็บตัวอย่างเลือดและขนนก

และไม่มีความจำเป็นที่เจ้าหน้าที่สวนสัตว์จะต้องจับมันมาตรวจสอบให้มันต้องเจอกับความเครียดเพื่อตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์

สิ่งที่ทุกคนรู้เพียงอย่างเดียวคือ ในทุก ๆ เช้า จูเลียตจะบินเข้ามาพบปะทักทายนกแก้วมาคอว์ตัวอื่น ๆ บางครั้งมันก็แค่เฝ้ามองดูพฤติกรรมของนกตัวอื่น ๆ ผ่านกรงเหล็ก ราวกับการตามหารักแท้ นี่คือความสุขเล็ก ๆ ก่อนที่มันจะบินจากไป และไม่มีใครรู้ว่ามันไปอยู่ที่ไหนตลอดทั้งวันที่เหลือ

นกแก้วมาคอว์มีอายุขัยเฉลี่ยที่ยาวนานถึง 35 ปี และจูเลียตก็ถูกพบเห็นมานานกว่า 2 ทศวรรษแล้ว มันไม่เคยมีคู่หรือต้องสร้างรังหรือมีลูกน้อย เพราะมันไม่สามารถทำได้จากชีวิตที่ต้องอาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยว

“พวกมันเป็นนกที่ชอบเข้าสังคม นั่นหมายความว่าพวกมันไม่ชอบอยู่ลำพังไม่ว่าจะตามธรรมชาติหรืออยู่ในการเลี้ยงดูของมนุษย์ พวกมันต้องการฝูง” เนวา กูเอเดส ประธานของสถานบันนกแก้วมาคอว์กล่าว

“จูเลียตอาจรู้สึกเหงามาก นั่นเป็นเหตุผลที่มันต้องไปที่กรงเพื่อปฏิสัมพันธ์กับนกตัวอื่น ๆ”

โชคดีที่ทางสถาบันมีความคิดที่จะขยายพันธุ์นกแก้วมาคอว์ให้กลับคืนสู่ธรรมชาติอีกครั้ง นักวิทยาศาสตร์ต้องการเลี้ยงลูกนกจำนวน 20 ตัว และฝึกให้มันสามารถหาอาหารเองได้ ตลอดจนการหลบเลี่ยงจากนักล่าและสายไฟฟ้าก่อนที่จะปล่อยพวกมันกลับคืนสู่ป่า

นกเหล่านี้จะถูกปล่อยในอุทยานแห่งชาติ Tijuca Forest ในกรุงริโอ ซึ่งคาดว่าเป็นบ้านของจูเลียตในตอนนี้ และนักวิทยาศาสตร์หวังว่านกเหล่านี้จะกลับมารักษาสมดุลในระบบนิเวศท้องถิ่น โดยใช้จงอยปากขนาดใหญ่ของมันกะเทาะเมล็ดพืชที่นกตัวอื่นไม่สามารถทำได้ และเพื่อให้เมล็ดพืชเหล่านั้นแตกกระจายกลายเป็นอาหารของนกตัวอื่นได้อีกด้วย

และที่สำคัญที่สุดคือ จูเลียตอาจจะมีฝูงและได้บินร่วมกับนกตัวอื่น ๆ เป็นครั้งแรก และมันอาจเจอคู่ของมันก็เป็นได้

ที่มา : odditycentral | เรียบเรียงโดย เพชรมายา

สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ