ในเดือนกันยายน 1957 มีคนจากสวนสัตว์ลินคอล์นพาร์ก นำงูเด็กยาว 30 นิ้วมาที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติชิคาโก เพื่อขอความช่วยเหลือในการระบุชนิดของงูตัวนี้
คาร์ล แพตเตอร์สัน ชมิดต์ นักวิทยาการสัตว์เลื้อยคลานที่ทำงานอยู่ที่นั่นอาสาเป็นผู้ดูแลงูตัวนี้ เขาเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านงูที่มีชื่อเสียงที่สุด และประสบความสำเร็จมากมายจนมีงูมากกว่า 200 สายพันธุ์ที่ตั้งชื่อตามเขา
ชมิดต์สังเกตว่า งูตัวนี้เป็นงูแอฟริกันที่มีลวดลายสดใสและมีรูปทรงศีรษะที่คล้ายกับงูบูมแสลง ซึ่งเป็นงูพิษจากแอฟริกาใต้สะฮารา แต่เขาก็ไม่แน่ใจว่ามันเป็นงูบูมสแลงจริงหรือไม่ เนื่องจากอวัยวะบางอย่างยังไม่ชัดเจน
วันที่ 25 กันยายน ในขณะที่กำลังตรวจสอบงูตัวนั้นใกล้ ๆ เขาก็ถูกกัดเข้าที่นิ้วหัวแม่มือซ้ายจนเกิดเป็นรอยแผลเล็ก ๆ สองแผล แทนที่จะไปหาหมอ เขากลับใช้โอกาสนั้นบันทึกผลกระทบของพิษที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด
“ผมรับมันจาก ดร.โรเบิร์ต อิงเกอร์ โดยไม่ได้ป้องกันใด ๆ และมันก็กัดผมที่นิ้วหัวแม่มือซ้ายทันที” ชมิดต์เขียนในบันทึกของเขา
“ปากของมันอ้ากว้างและกัดด้วยเขี้ยวหลังเท่านั้น มีแค่เขี้ยวขวาที่กัดเข้าเต็มที่ ลึกลงไปประมาณ 3 มิลลิเมตร”
ชมิดต์ประเมินความรุนแรงของพิษงูตัวนี้ต่ำเกินไป เขาขึ้นรถไฟกลับบ้านและจดบันทึกอาการของเขาอย่างละเอียดต่อไป
“เวลา 16.30-17.30 น. มีอาการคลื่นไส้อย่างรุนแรง ไม่มีการอาเจียน ในระหว่างนั่งรถไฟชานเมือง”
“เวลา 17.30-18.30 น. มีอาการหนาวสั่น ตัวสั่น มีไข้ 38.7 องศา เหงือกเริ่มมีเลือดออกในช่วงเวลา 17.30 น.”
“เวลา 20.30 น. กินขนมปังนม 2 ชิ้น”
“นอนหลับได้ดีช่วงเวลา 21.00-00.20 น. ตื่นมาฉี่ตอน 00.20 น. ส่วนใหญ่เป็นเลือด ดื่มน้ำเวลา 04.30 น. ตามด้วยอาการคลื่นไส้และอาเจียนอย่างรุนแรง ก่อนที่จะดีขึ้นและนอนหลับจนถึง 06.30 น.”
เช้าวันรุ่งขึ้น ชมิดต์ก็ดำเนินกิจวัตรประจำวันโดยทานอาหารเช้าและบันทึกผลของพิษที่มีต่อร่างกายต่อไป
“26 กันยายน เวลา 06.30 น. ผมกินซีเรียล ไข่ลวกกับขนมปังปิ้ง ซอสแอปเปิล และกาแฟเป็นอาหารเช้า ก่อนที่จะสังเกตว่ามีเลือดออกทางปากและจมูกอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะไม่มากก็ตาม”
และนั่นก็เป็นประโยคสุดท้ายที่เขาเขียนลงบันทึก…
หลังอาหารกลางวัน ชมิดต์เริ่มอาเจียนหนักและตัดสินใจโทรหาภรรยา แค่เพียงไม่นานนัก
ร่างกายของเขาก็ไม่ตอบสนองใด ๆ อีกแล้ว
จากเหตุการณ์ทั้งหมด กินเวลารวมไม่ถึง 24 ชั่วโมง
สรุปแล้ว งูที่กัดเขาเป็นงูบูมสแลง (Dispholidus typus) ซึ่งเป็นหนึ่งในงูที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก จริง ๆ แล้ว ชมิดต์ถูกแนะนำให้ไปพบแพทย์ แต่เขาปฏิเสธที่จะไป โดยกล่าวว่า “ไม่ นั่นจะทำให้อาการแย่ลง”
บางคนบอกว่า กรณีของชมิดต์ถือเป็นเรื่องน่าเศร้าที่เกิดจากความอยากรู้อยากเห็น แต่บางคนเชื่อว่า เซรุ่มแก้พิษชนิดนี้มีแค่ในแอฟริกาเท่านั้น ชมิดต์ยอมรับชะตากรรมของตัวเองและทำงานต่อไปจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต