ศิลปะยุคกลางในยุโรปวิวัฒนาการมาจากรากเหง้าทางศิลปะของจักรวรรดิโรมันรูปสัญลักษณ์คริสเตียนของสมัยคริสเตียนตอนต้น และกินเวลายาวนานนับพันปี รวมถึงมีความหลากหลายตั้งแต่ศิลปะคริสเตียนในยุคแรก ศิลปะไบแซนไทน์ ศิลปะไวกิ้งหรือนอร์ส ศิลปะโรมาเนสก์ และศิลปะกอทิก
แต่หนึ่งในงานศิลปะที่ถูกพูดถึงมาจนยุคปัจจุบันและยังเป็นปริศนามาจนถึงทุกวันนี้เกิดขึ้นในระหว่างศตวรรษที่ 13 และ 14 นั่นคือภาพวาดของอัศวินผู้กล้ากำลังหันหน้าเข้าฟาดฟันกับหอยทาก ที่ถูกพบอยู่เป็นจำนวนมากผ่านบันทึกที่เป็นภาษาอังกฤษ
หอยทากที่ปรากฎในงานศิลปะล้วนมีความแตกต่างกันอยู่ตลอดเวลาตามต้นฉบับของงานศิลปะกอทิก บางครั้งหอยทากก็ตัวใหญ่ บางครั้งก็ตัวเล็ก บางครั้งก็กระจัดกระจายอยู่เต็มไปหมด บางครั้งก็อยู่ใต้เท้าอัศวิน
แต่สิ่งที่คล้ายกันก็คือลักษณะท่าทางของอัศวินที่ดูมึนงง เป็นกังวล และมีอาการตกใจเมื่อเจอกับศัตรูตัวเล็ก ๆ ของเขา
นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าหอยทากที่แบกเปลือกเอาไว้บนหลังคือการล้อเลียนศัตรูที่ใส่ชุดเกราะ พวกเขาเปรียบอัศวินที่งี่เง่าก็เหมือนกับหอยทากตัวหนึ่ง เห็นได้ชัดว่าศิลปินในยุคกลางมีอารมณ์ขัน และพยายามใช้หอยทากแทนบางสิ่งบางอย่างที่เราไม่สามารถตีความได้
แต่นั่นก็เป็นเพียงการคาดเดาเท่านั้น ถึงแม้จะมีหลายคนไม่เชื่อในคำอธิบายนี้ แต่ก็ไม่มีคำอธิบายที่ดีกว่านี้เช่นกัน
ภาพการต่อสู้ของอัศวินกับหอยทากปรากฎขึ้นอย่างแพร่หลายในช่วงเวลาดังกล่าว โดยมีผลงานจำนวนมากถูกเก็บเอาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติของอังกฤษ ไม่มีใครรู้ว่าจริง ๆ แล้วฉากที่เกิดขึ้นในภาพวาดหมายถึงอะไร
หอสมุดแห่งชาติอังกฤษตีความไปลึกซึ้งกว่านั้น พวกเขากล่าวว่า ฉากดังกล่าวอาจเป็นตัวแทนของการคืนชีพของพระเยซูคริสต์ หรือหอยทากอาจเป็นตัวแทนของชาวลอมบาร์ด ชนชาติในยุคกลางที่ถูกกล่าวหามีพฤติกรรมคิดคดทรยศ และการสมคบคิดที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
ลิซา สแปนเกนเบิร์ก จาก Digital Medievalist ได้เสนอแนวคิดอื่น ๆ เธอบอกว่า หอยทากหุ้มเกราะต่อสู้กับอัศวินเป็นการระลึกถึงความตายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยอ้างอิงจากเพลงสดุดีบทที่ 58 ในพระคัมภีร์ไบเบิล กล่าวว่า “ราวกับทากที่ละลายกลายเป็นเมือก พวกมันจะถูกพรากไปราวกับทารกแท้งที่ไม่เคยเห็นดวงอาทิตย์”
สุดท้ายงานศิลปะปริศนาในยุคกลางนี้ก็จะยังคงเป็นปริศนาต่อไป จนกว่าเราจะหาหลักฐานที่แน่ชัดได้ว่าทำไมศิลปินในยุคนั้นถึงวาดภาพอัศวินต่อสู้กับหอยทากกันแน่
ที่มา : smithsonianmag | gotmedieval | เรียบเรียงโดย เพชรมายา