ในระบบสุริยะของเรามีดวงจันทร์มากกว่า 200 ดวง โคจรรอบดวงดาวต่างๆ อย่างเช่นดวงจันทร์ของโลกเราก็มี 1 ดวง ซึ่งมนุษย์ได้ขึ้นไปเหยียบเป็นที่เรียบร้อย และรู้แล้วว่าดวงจันทร์ของเรามีลักษณะเป็นอย่างไร วันนี้เพชรมายาจะขอพามาชมดวงจันทร์ที่ไม่ธรรมดาในระบบสุริยะจักรวาลของเรา ส่วนจะมีดวงจันทร์ของดาวดวงไหนบ้าง ลองไปชมกัน
1. เนรีด (Nereid) ดวงจันทร์ของดาวเนปจูน
ดวงจันทร์เนรีด ถูกค้นพบในปี 1940 โดย เจราร์ด คูเปอร์ โดย เนรีด ถือเป็นดวงจันทร์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของดาวเนปจูน และเป็นดวงจันทร์ที่มีวงโคจรที่แหกคอกที่สุดในระบบสุริยะ นั่นทำให้ระยะทางระหว่างเนรีดและเนปจูนค่อนข้างห่างกันมาก ระยะทางที่เนรีดโคจรมาใกล้เนปจูนที่สุดคือ 841,100 ไมล์ ส่วนห่างที่สุดคือ 5,980,200 ไมล์ ด้วยระยะห่างไกลขนาดนี้ ทำให้มันต้องใช้เวลานานถึง 360 วันของโลก กว่าจะโคจรครบ 1 รอบดาวเนปจูน (ดวงจันทร์ของโลกใช้เวลาโคจรรอบโลก 27.3 วัน)
2. ไมมัส (Mimas) ดวงจันทร์ของดาวเสาร์
ไมมัส เป็นดวงจันทร์ขนาดเล็กที่ถูกค้นพบในปี 1789 โดย วิลเลียม เฮอร์เชล โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 246 ไมล์เท่านั้น สิ่งที่ทำให้ไมมัสเป็นดวงจันทร์ที่น่าสนใจเพราะ บนพื้นผิวของมันมีหลุมอุกกาบาตที่มีความกว้าง 88 ไมล์ และลึก 6 ไมล์ ถึงแม้นี่จะไม่ใช่หลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุด แต่มันกินพื้นที่ไปมากถึง 1 ใน 3 จนทำให้มันมีลักษณะเหมือนกับ ดาวมรณะ (Death Star) จากเรื่อง Star Wars
3. ไอแอพิตัส (Iapetus) ดวงจันทร์ของดาวเสาร์
ไอแอพิตัส ถูกค้นพบในปี 1671 โดย จิโอวานนี แคสซินี โดยเป็นดวงจันทร์ที่หันหน้าด้านเดียวเข้าหาดาวเสาร์ และสิ่งที่ทำให้มันแปลกก็คือ มันมีสีและสะท้อนแสงได้ ครึ่งหนึ่งของไอแอพิตัส เป็นสีดำมืดสนิทเหมือนถ่าน ส่วนอีกครึ่งเป็นสีขาวที่สว่างสดใส และคุณจะมองเห็นไอแอพิตัสได้ จากการที่มันโคจรมาทางฝั่งตะวันตกของดาวเสาร์
4. แด็กทิล (Dactly) ดวงจันทร์ของดาวเคราะห์น้อยไอดา (Ida)
แด็กทิล ถูกค้นพบในปี 1995 โดยยานอวกาศกาลิเลโอ แด็กทิล เป็นดวงจันทร์ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 1 ไมล์ และเป็นดวงจันทร์ดวงแรกที่ถูกค้นพบว่าโคจรรอบดาวเคราะห์น้อย นักวิทยาศาสตร์เองก็ไม่แน่ใจว่า ดวงจันทร์ดวงจิ๋วนี้เป็นชิ้นส่วนที่แตกหักออกมาจากดาวเคราะห์น้อยหรือเปล่า ซึ่งหลังจากการค้นพบครั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ก็ค้นพบดวงจันทร์อีกมากที่โคจรรอบดาวเคราะห์น้อย
5. ยูโรปา (Europa) ดวงจันทร์ของดาวพฤหัส
ยูโรปา ถูกค้นพบโดย กาลิเลโอ กาลิเลอิ เมื่อเดือนมกราคมปี 1610 โดยมันมีขนาดเล็กกว่าดวงจันทร์ของโลกเล็กน้อย และพื้นผิวของมันมีความโดดเด่นเพราะมีเส้นทึบที่ดูราวกับถูกขูดขีดไปมา สาเหตุของรอยดังกล่าวยังไม่สามารถหาคำอธิบายที่ชัดเจนได้ นอกจากนั้นนักวิทยาศาสตร์ยังเชื่อว่า ภายใต้พื้นผิวน้ำแข็งหนาๆ อาจมีมหาสมุทรในรูปแบบน้ำของเหลวอยู่ และด้วยความร้อนจากแรงดึงดูดของดาวพฤหัส อาจส่งผลให้มีสิ่งมีชีวิตอยู่ในนั้นก็เป็นได้
6. เอนเซลาดัส (Enceladus) ดวงจันทร์ของดาวเสาร์
เอนเซลาดัส ถูกค้นพบในปี 1789 โดย วิลเลียม เฮอร์เชล โดยเป็นดวงจันทร์ที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของดาวเสาร์ แต่สิ่งที่แปลกคือ มันเป็นดวงจันทร์ที่สว่างที่สุดในระบสุริยะ เพราะพื้นผิวของมันสะท้อนแสงอาทิตย์เกือบ 100% นั่นส่งผลทำให้อุณหภูมิบนเอนเซลาดัสหนาวมาก โดยติดลบถึง 200 องศาเซลเซียส ส่วนบริเวณขั้วโลกใต้จะมีรอยแตกทึบที่ถูกเรียกว่า “ลายเสือ” ซึ่งเป็นภูเขาไฟน้ำแข็งที่พ่นอนุภาคน้ำแข็งขนาดเล็กขึ้นสู่ท้องฟ้า ซึ่งอนุภาคบางส่วนจะตกกลับลงมาเป็นหิมะ และบางส่วนจะกระจายสู่อวกาศเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวงแหวนดาวเสาร์
7. ไอโอ (Io) ดวงจันทร์ของดาวพฤหัส
ไอโอ ถูกค้นพบพร้อมๆ กับยูโรปา โดยกาลิเลโอ และนี่คือสถานที่ๆ มีภูเขาไฟเยอะที่สุดในระบสุริยะจักรวาล แต่ละพื้นที่จะเต็มไปด้วยภูเขาไฟที่ยังมีพลังงานมากถึง 200-300 แห่ง ที่แข่งกันปะทุขึ้นไปสูงถึง 50-300 กิโลเมตร แน่นอนว่าบรรยากาศของดวงจันทร์แห่งนี้จะเต็มไปด้วยไอกรดกำมะถัน ส่วนสาเหตุที่ดวงจันทร์แห่งนี้มีพลังงานเต็มเปี่ยมเพราะได้รับอิทธิพลความร้อนจากดาวพฤหัสในขณะที่โคจรเข้าใกล้นั่นเอง
8. ไททัน (Titan) ดวงจันทร์ของดาวเสาร์
ไททัน ถูกค้นพบในปี 1655 โดย คริสเตียน ฮายเจนส์ ถือเป็นดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ในระบบสุริยะ บรรยากาศของไททันปกคลุมด้วยก๊าซไนโตรเจน มีเทน และอีเทน ที่หนามากจนยากที่จะศึกษาถึงพื้นผิวของมัน แต่ถึงอย่างนั้น มันเป็นสถานที่แห่งเดียว (นอกจากโลก) ในระบบสุริยะของเราที่มีของเหลวอยู่บนพื้นผิว ถึงแม้ว่าของเหลวนั้นจะเป็นมีเทนก็ตาม
9. ไทรทัน (Tritan) ดวงจันทร์ของดาวเนปจูน
ไทรทัน ถูกค้นพบในเดือนตุลาคม 1846 โดย วิลเลียม แลซเซล แค่เพียง 17 วัน หลังจากดาวเนปจูนถูกค้นพบ มันคือดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดของดาวเนปจูน และยังเป็นดวงจันทร์ขนาดใหญ่เพียงดวงเดียวในระบบสุริยะ ที่โคจรในทิศทางตรงกันข้ามกับดาวที่มันโคจรรอบ นอกจากนั้น มันยังเป็นดาวที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุดในระบบสุริยะของเรา เมื่อยานโวยาเจอร์ 2 บินไปถึงในปี 1989 ก็พบว่า ไทรทันมีอุณหภูมต่ำขนาด -235 องศาเซลเซียส
10. แกนีมีด (Ganymede) ดวงจันทร์ของดาวพฤหัส
แกนีมีด ถูกค้นพบพร้อมๆ กับยูโรบาและไอโอ โดยกาลิเลโอ โดย แกนีมีด เป็นดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะจักรวาล มันมีขนาดใหญ่กว่าดาวพุธ และมีขนาดถึง 3 ใน 4 ของดาวอังคาร จริงๆ แล้วมันควรถูกพิจารณาเป็นดาวเคราะห์ ถ้าไม่เป็นเพราะมันโคจรรอบดาวพฤหัส แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือ มันเป็นดวงจันทร์เพียงดวงเดียวในระบบสุริยะที่ผลิตสนามแม่เหล็กเป็นของตัวเองได้ และในปี 1996 กล้องโทรทรรศน์ฮับเบิล ได้พบร่องรอยของออกซิเจนบางๆ บนชั้นบรรยากาศรอบแกนีมีด แต่นั่นก็น้อยเกินไปสำหรับสิ่งมีชีวิต
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ
ที่มา : listverse | เรียบเรียงโดย เพชรมายา