แม่น้ำในออสเตรเลียแห่งนี้ เป็นบ้านของไส้เดือนยักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ออสเตรเลีย ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งสรรพสัตว์ที่แปลกประหลาดและอันตรายมากมาย และมันอาจรวมถึงสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ผิดปกติเหมือนกับไส้เดือนสายพันธุ์นี้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณแม่น้ำแบส (Bass River) ทางภูมิภาค South Gippsland โดยพวกมันสามารถเติบโตและมีความยาวได้ถึง 3 เมตร และมีเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 3 เซนติเมตร

ไส้เดือนยักษ์กิปส์แลนด์ (Megascolides australis) เป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่น่าฉงนและน่าทึ่งมากที่สุดในโลก ในอดีตที่ผ่านมา พื้นที่บริเวณแม่น้ำแบสเคยปกคลุมไปด้วยป่าทึบ ก่อนที่มนุษย์จะเปลี่ยนมันให้กลายเป็นพื้นที่ทางการเกษตร แต่ไส้เดือนยักษ์กิปส์แลนด์ก็สามารถปรับตัวให้อยู่รอดได้อย่างไม่มีปัญหา

ไส้เดือนยักษ์กิปส์แลนด์ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 เมื่อคนงานสำรวจเส้นทางรถไฟไปพบกับมันเข้าโดยคิดว่าเป็นงูชนิดหนึ่ง พวกเขาจึงเก็บมันไปหาศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น จึงทราบว่ามันเป็นไส้เดือนที่มีขนาดใหญ่ผิดปกติ

คุณสามารถพบไส้เดือนยักษ์กิปส์แลนด์ที่มีความยาวเกิน 1 เมตรได้เป็นเรื่องปกติ แต่บางตัวก็มีขนาดยาวได้ถึง 3 เมตร

ความยาวของไส้เดือนสายพันธุ์นี้อาจไม่ใช่จุดเด่น เมื่อเทียบกับไส้เดือนสายพันธุ์ Microchaetus rappi ของแอฟริกาใต้ ที่เป็นเจ้าของสถิติโลกจากกินเนสบุ๊คเรื่องความยาว เพราะมันมีความยาวถึง 6.7 เมตร แต่ถ้าวัดกันที่ขนาดลำตัวแล้วล่ะก็ ไส้เดือนยักษ์กิปส์แลนด์ถือว่ากินขนาด และได้ชื่อว่าเป็นไส้เดือนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

เช่นเดียวกับไส้เดือนทั่วไป ไส้เดือนยักษ์กิปส์แลนด์มีผิวหนังที่อ่อนนุ่ม ที่เหมาะกับการชอนไชภายในดินที่เปียกชื้น และพวกมันสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็วในโพรงดินจนเกิดเป็นเสียงแปลก ๆ ที่ชวนให้นึกถึงน้ำที่ไหลลงท่อระบายน้ำ เสียงนี้ได้ยินขึ้นมาถึงบนพื้นดินจนสร้างความน่ากลัวให้กับผู้ที่ไม่รู้ว่ามันคือเสียงอะไร

ไส้เดือนยักษ์กิปส์แลนด์จะใช้กล้ามเนื้อบริเวณหัวของมันมุดดินไปเรื่อย ๆ เพื่อตามหาเชื้อรา แบคทีเรีย สาหร่าย และจุลินทรีย์เป็นอาหาร และด้วยความที่มันอาศัยอยู่ใต้ดินตลอดเวลา เราจึงแทบไม่เคยเห็นมันบนพื้นดิน ยกเว้นเฉพาะตอนฝนตกหนักที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในโพรงดินจนทำให้พวกมันต้องโผล่ขึ้นมาบนผิวดิน

ตลอดสองศตวรรษที่ผ่านมา ไส้เดือนยักษ์กิปส์แลนด์ต้องปรับตัวเพื่อเอาชีวิตรอดในถิ่นที่อยู่ของพวกมัน ถึงแม้ว่าพวกมันจะปรับตัวได้เป็นอย่างดี แต่กิจกรรมของมนุษย์ทำให้สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์นี้ต้องอยู่ในรายชื่อสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ โดยเฉพาะสารเคมีที่ใช้ในการทำการเกษตร

ปัญหาที่มนุษย์เราไม่สามารถไปช่วยเหลือพวกมันได้ก็คือ ไม่มีใครรู้ว่าไส้เดือนยักษ์กิปส์แลนด์มีการจับคู่ผสมพันธุ์กันอย่างไร ขนาดโพรงที่อยู่อาศัยของพวกมันก็มีขนาดที่พอดีสำหรับไส้เดือนเพียงแค่ตัวเดียวเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์บางคนก็สันนิษฐานว่า พวกมันอาจใช้วิธียืดตัวให้ยาวขึ้นจนทำให้ลำตัวมีขนาดเล็กลง เพื่อให้ไส้เดือนคู่ของมันเข้ามาอยู่ในโพรงเดียวกันได้ แต่นั่นก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น

แต่เท่าที่พวกเรารู้ก็คือ ไส้เดือนยักษ์กิปส์แลนด์จะผลิตไข่เพียงแค่ 1 ฟองต่อปีเท่านั้น จากนั้นภายในไข่ก็จะมีไส้เดือนแค่ตัวเดียว หลังจากใช้เวลาฟักนานถึง 12 เดือน ความยาวของลูกไส้เดือนที่ฟักออกมาจะยาวเพียงแค่ 1 ฟุต และมีอัตราการเติบโตที่ช้ามาก ซึ่งอายุขัยของพวกมันคาดว่าน่าจะยาวนานกว่า 10 ปีขึ้นไป

ด้วยความที่มันเป็นสัตว์ที่เข้าใจยาก หายาก และมีขนาดใหญ่ยักษ์ จึงทำให้พื้นที่ดังกล่าวถูกใช้ประโยชน์โดยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในท้องถิ่น โดยมีงานเทศกาลประจำปี รวมถึงมีพิพิธภัณฑ์หนอนยักษ์ที่คอยให้ความรู้กับนักท่องเที่ยวที่สนใจพวกมันอีกด้วย

ที่มา : odditycentral | เรียบเรียงโดย เพชรมายา

สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ