ผู้กำกับถูกขอให้ถ่ายหนังสะท้อนชีวิตแสนสุขในเกาหลีเหนือ แต่เขาแอบเล่าความจริงแทน

วิทาลี แมนสกี ผู้กำกับภาพยนตร์แนวสารคดีชาวรัสเซียเป็นหนึ่งในหลาย ๆ คนที่มีความสนใจชีวิตของผู้คนในประเทศเกาหลีเหนือมานาน และก็เหมือนอีกหลาย ๆ คนที่ไม่เคยเข้าใจจริง ๆ ว่า ประชาชนในเกาหลีเหนืออาศัยอยู่ในประเทศนี้กันอย่างไรในศตวรรษที่ 21 นี้

ครั้งหนึ่ง วิทาลีได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของเกาหลีเหนือและพวกเขาก็ขอให้ทางผู้กำกับมาช่วยถ่ายภาพยนตร์ให้ แน่นอนว่าวิทาลีตกลง ไม่ใช่ว่าเขาต้องการถ่ายทำภาพยนตร์ตามที่ขอมา แต่สิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดก็คือการเข้าใจว่าประเทศที่ตัดขาดจากโลกมากที่สุดนั้นเป็นอย่างไรกันแน่

และนี่จึงเป็นที่มาของภาพยนตร์สะท้อนชีวิตของประชาชนชาวเกาหลีเหนือที่มีชื่อว่า Under The Sun

จุดประสงค์ของภาพยนตร์เรื่องนี้คือทางเกาหลีเหนือต้องการให้ชาวโลกได้เห็นว่าประชาชนชาเกาหลีเหนือมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขมากแค่ไหน เนื้อหาของภาพยนตร์ได้สะท้อนให้เห็นชีวิตของเด็กหญิงวัย 8 ขวบที่เตรียมตัวเข้าสู่พิธีประดับเหรียญเพื่อเข้าเป็น “สมาชิกสหพันธ์ยุวชนเกาหลี” ที่จะเกิดขึ้นทุก ๆ ปีในระหว่าง “วันแห่งดาวจรัสแสง” ซึ่งเป็นวันรำลึกวันคล้ายวันเกิดของท่านผู้นำสูงสุด คิม จอง-อิล

นี่คือ ซิน-มี เด็กสาวหน้าตาน่ารักที่ถูกให้มารับบทนำใน Under The Sun รวมถึงพ่อแม่ของเธอด้วย

ในส่วนของการถ่ายทำ ทางรัฐบาลเกาหลีเหนือได้เป็นผู้จัดการในเรื่องของนักแสดง ทีมงานผู้ช่วย รวมถึงทีมเซ็นเซอร์ที่จะนำวีดีโอที่ถ่ายทั้งหมดไปตรวจสอบ การถ่ายทำทุกขั้นตอนถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด วิทาลีมีทีมงานผู้ช่วยคือ ตากล้อง คนบันทึกเสียง และล่ามภาษารัสเซีย และนี่อาจเป็นการถ่ายทำที่แปลกกว่าภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ เพราะผู้กำกับไม่ได้รับอนุญาตให้คุยกับนักแสดงโดยตรง หรือชาวบ้านคนอื่น ๆ ในกรุงเปียงยางเลย

ภาพชีวิตที่แสนสุขในภาพยนตร์ถูกจัดฉากเอาไว้อย่างแนบเนียน ซิน-มีและพ่อแม่ของเธอได้รับอนุญาตให้ย้ายจากห้องพักเล็ก ๆ ใกล้สถานีรถไฟ มาอยู่ในบ้านหลังใหม่ที่สวยงามในย่านใจกลางเมือง ซึ่งบ้านหลังดังกล่าวถูกตกแต่งขึ้นมาอย่างลวก ๆ เท่านั้น เสื่อน้ำมันถูกปูบนพื้นคอนกรีต ตู้เสื้อผ้าว่างเปล่า ห้องน้ำที่ไม่มีใครใช้ และบ้านหลังนี้ไม่มีแม้แต่ทางเข้าหน้าบ้านด้วยซ้ำไป

นอกจากนั้น พ่อของซิน-มีที่เป็นนักข่าวก็ถูกให้มารับบทเป็นวิศวกรผู้ประสบความสำเร็จ ส่วนแม่ของเธอที่เป็นคนงานในโรงอาหารก็ถูกให้มารับบทเป็นพนักงานที่ทำงานในโรงงานผลิตถั่วเหลือง ภาพครอบครัวที่ถูกถ่ายทำก็มีฉากหลังปลอม ๆ พวกเขาต้องการทำให้มันดูดีเกินจริง วิทาลีกล่าวว่า “ประชากรในเปียงยางที่เห็นในหนังเป็นการจัดฉากทั้งหมด”

“ตัวอย่างเช่น คุณจะเห็นสนามหญ้าเขียวขจีอยู่ทุกหนแห่ง ทั้งตอนเช้าและหลังเลิกงานจะเห็นได้ว่ามีคนมานั่งเล่นอยู่เต็มไปหมด”

ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามที่ทางเกาหลีเหนือคาดไว้ ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้จะกลายเป็นสื่อโฆษณาชวนเชื่อที่สมบูรณ์แบบที่สุด แต่เรื่องราวกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะวิทาลีได้ตัดสินใจทำในสิ่งที่คาดไม่ถึง

ถึงแม้ทางวิทาลีจะถูกควบคุมการถ่ายทำอย่างเข้มงวด แต่เขากับทีมงานก็ยังแอบลักลอบถ่ายวีดีโอเบื้องหลังเก็บเอาไว้อีกหนึ่งชุด ตากล้องของวิทาลีได้แอบถ่ายความจริงที่ถูกปกปิดเอาไว้ของที่นี่ผ่านทางหน้าต่างห้อง เนื่องจากทีมงานทั้งหมดถูกห้ามออกจากห้องพักโดยไม่มีเจ้าหน้าที่ไปด้วย ในทุก ๆ วัน ตากล้องจะบ่นว่าปวดท้องและแอบก๊อปปี้วีดีโอลับไปยังอีกเมมโมรีการ์ด การกระทำเช่นนี้ถือว่าเสี่ยงต่อชีวิตของพวกเขาอย่างมาก เพราะก่อนหน้านี้ไม่นาน ได้มีเด็กหนุ่มชาวอเมริกันถูกตัดสินไปใช้แรงงานในคุกนาน 15 ปี เพียงเพราะไปฉีกโปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อภายในโรงแรมที่เขาพัก

ด้วยสาเหตุนี้เอง ทำให้ภาพยนตร์เรื่อง Under The Sun มีความยาวกว่าที่ทางเกาหลีเหนือตั้งใจไว้ถึง 26 นาที และส่วนที่เพิ่มมานี่แหละ ที่เป็นการเปิดเผยเบื้องหลังที่แท้จริง ที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน

ก่อนหน้าที่จะเดินทางมายังเกาหลีเหนือ วิทาลีได้ศึกษาข้อมูลของเกาหลีเหนือมาพอสมควรและเขาก็คิดว่าตัวเองเข้าใจประเทศนี้อย่างชัดเจนและรู้ว่าจะนำอะไรใส่เข้าไปในภาพยนตร์บ้าง แต่หลังจากใช้เวลาหลายเดือนที่นี่ทำให้เขาได้เปลี่ยนความคิดตัวเองไปอย่างสิ้นเชิง วิทาลีกล่าวว่า “ตอนนี้ผมไม่เข้าใจอะไรเลย ว่าพวกเขาอาศัยอยู่ที่นั่นกันได้อย่างไร”

แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจที่สุดสำหรับผู้กำกับก็คือ ประชาชนในเกาหลีเหนือไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุข พวกเขาไม่รู้ว่ามีโลกที่แตกต่างออกไปข้างนอก

“ตอนแรกผมคิดว่ามันเป็นระบบที่ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของความกลัวและการกดขี่ แต่ผู้คนก็ยอมรับมันได้” วิทาลีอธิบาย “แต่หลังจากที่ผมไปเห็นจริง ๆ ผมเลยรู้ว่า ผู้คนที่นี่ไม่ใช่ว่ายอมรับได้ แต่พวกเขาไม่ได้คิดว่ากำลังถูกกดขี่ด้วยซ้ำ”

“ครั้งหนึ่งผมเคยคุยกับคนฝึกเสือ เขาอธิบายให้ผมฟังว่า เมื่อมีเสือตัวหนึ่งเกิดในคณะละครสัตว์ มันไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคือเสือ ดังนั้นเวลาที่มันโตขึ้น มันจะมีกรงเล็บ มีเขี้ยว กระโดดได้ แต่มันก็ไม่รู้ตัวอยู่ดีว่ามันคือเสือ” วิทาลีเปรียบเทียบได้น่าสนใจ

นอกจากนั้น ทางผู้กำกับยังได้เปิดเผยถึงสิ่งที่เขาได้เจอต่าง ๆ ได้แก่

1. นอกจากครอบครัวที่แสดงนำในภาพยนตร์ เขาไม่เคยเห็นแม่หรือพ่อที่ออกมาเดินกับลูก ๆ เลย

2. คนงานบางคนอาศัยอยู่ในโรงงาน และเด็ก ๆ บางคนก็นอนที่โรงเรียน

3. ผู้ชายเกาหลีเหนือต้องรับราชการทหารนาน 10 ปี และหนึ่งในไม่กี่วันที่พวกเขาจะได้เจอครอบครัวก็คือวันจัดแสดงดอกไม้ พวกเขาจะไม่ได้เจอกับครอบครัวตามลำพัง แต่จะเห็นกันในที่สาธารณะระหว่างการแสดง

4. ผู้คนจะนำดอกไม้ปลอมไปที่อนุเสาวรีย์ เมื่อมีดอกไม้มากเกินไป จะมีรถเข็นมาเก็บดอกไม้เหล่านี้ไปไว้ที่ร้านค้าเหมือนเดิม

5. นักท่องเที่ยวไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นรถไฟใต้ดิน ส่วนวิทาลีเองได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปถ่ายทำฉากสำคัญได้แค่ 2 สถานีเท่านั้น และตอนที่วิทาลีบอกว่าเขาไม่สามารถถ่ายได้ถ้ามีผู้โดยสารคนอื่นอยู่ด้วย ผู้โดยสารในรถไฟก็ถูกบอกให้ย้ายออกไปรถไฟขบวนอื่น

6. ไม่มีโฆษณาบนทีวีท้องถิ่นหรือในวิทยุ มีทีวีเพียงแค่ 2 ช่องเท่านั้นที่ออกอากาศแต่ผู้นำของพวกเขาซ้ำไปซ้ำมา

7. มีหนังสือพิมพ์เพียงแค่ 2 ฉบับ ฉบับแรกจะโชว์รูปภาพใหญ่ ๆ ของท่านคิมเสมอ ส่วนอีกฉบับจะมีรูปท่านคิมที่เล็กกว่า และมีรายละเอียดเกี่ยวกับชัยชนะของท่านคิมในเหตุการณ์ต่าง ๆ ในต่างประเทศ

8. สุดท้ายไม่มีใครจูบกันในหนังเกาหลีเหนือ

วิทาลีกล่าวสรุปว่า “ผู้คนเกิดมาในความจริงนี้ บรรพบุรุษของพวกเขาอาศัยอยู่ที่นี่ และพวกเขาเองก็ไม่ได้รู้เลยว่าสามารถใช้ชีวิตแตกต่างจากนี้ได้ พวกเขาไม่เคยไปเที่ยวที่ไหน ไม่มีอินเทอร์เน็ต”

สุดท้ายภาพยนตร์ของวิทาลีก็สามารถคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังด็อคอะวีฟในอิสราเอล, รางวัลจูรี ไพรซ์ จากเทศกาลหนังฮ่องกง, รางวัลยอดเยี่ยมจากเทศหนังหนังมิลเลนเนียมด็อคส์ อะเกนส์ กราวิตี้ ในโปแลนด์ และเข้าฉายในเทศกาลต่าง ๆ อีกมากมายกว่า 50 เทศกาล หากใครที่ชื่นชอบภาพยนตร์แนวสารคดี แนะนำว่าไปหาชมเรื่องนี้แล้วจะเปิดโลกของคุณเกี่ยวกับประเทศเกาหลีเหนือมากขึ้นอีกเยอะจริง ๆ

ที่มา : brightside | เรียบเรียงโดย เพชรมายา

สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ