พยานพระยะโฮวาฟ้องรัฐบาลสเปน ข้อหาถ่ายเลือดช่วยชีวิตเธอโดยขัดกับความเชื่อ

นี่คือเรื่องราวของ โรซา เอเดลมิรา ปินโด มุลลา หญิงชาวเอกวาดอร์ที่อาศัยอยู่ในสเปน ที่กำลังนำประเทศสเปนไปขึ้นศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป โทษฐานที่ถ่ายเลือดให้กับเธอในระหว่างการผ่าตัด โดยขัดกับความประสงค์ของเธอ

ถึงแม้ว่านี่จะเป็นการผ่าตัดเพื่อช่วยชีวิตเธอ แต่ประเด็นคือเธอเป็นสมาชิกของ “พยานพระยะโฮวา” (Jehovah’s Witness) นิกายย่อยที่มีความคิดแหวกแนวไปจากศาสนาคริสต์สายหลัก

ย้อนกลับไปในปี 2017 หลังจากการตรวจร่างกายหลายครั้ง หญิงวัย 53 ปีรายนี้ได้รับคำแนะนำให้เข้ารับการผ่าตัด

ต่อมาในปี 2018 โรซาได้รับเอกสารเกี่ยวกับการรักษาทางการแพทย์ 3 ฉบับที่ต้องกรอก ซึ่งตอนนี้เอง เธอได้ระบุในเอกสารทั้ง 3 ว่าเธอเป็นพยานพระยะโฮวา และเธอปฏิเสธที่จะรับการถ่ายเลือดใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นเลอด เซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว เกล็ดเกลือดหรือพลาสมา แม้จะแลกด้วยชีวิตของเธอเองก็ตาม

แต่หลังจากที่เธอเจอกับภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้เกิดอาการตกเลือด จนอาจส่งผลถึงแก่ชีวิตในระหว่างผ่าตัด แพทย์ได้ตัดสินใจถ่ายเลือดเพื่อช่วยชีวิตเธอ

ประเด็นก็คือ โรซาอ้างว่า เธอได้ชี้แจงอย่างชัดเจนทั้งเป็นลายลักษณ์อักษรและจากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ว่าเธอปฏิเสธที่จะรับการถ่ายเลือดทุกชนิดด้วยเหตุผลทางศาสนา แต่แพทย์กลับไม่เคารพการตัดสินใจของเธอ

ในขณะที่ทางโรงพยาบาลอ้างว่า เพื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ของโรซา พวกเขาตัดสินใจให้มีการแทรกแซงทางการแพทย์หรือการผ่าตัดที่จำเป็นเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ ปัญหาคือ โรซายินยอมให้เข้ารับการรักษา ยกเว้นเพียงแค่การถ่ายเลือดเท่านั้น

ในเดือนมีนาคม 2020 โรซาได้ยื่นคำร้องต่อศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป รวมถึงก่อนหน้านี้เธอเคยฟ้องศาลยุตธิรรมในกรุงมาดริดและศาลรัฐธรรมนูญของสเปนมาแล้ว แต่คดีของเธอถูกยกฟ้องทั้ง 2 ศาล

ส่วนรัฐบาลสเปนได้รับแจ้งเกี่ยวกับคดีนี้ในเดือนมีนาคม 2021 และฤดูร้อนปี 2023 โดยศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรปจะเข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้

นิโคลัส มาร์ติเนซ โฆษกของรัฐบาลสเปนกล่าวว่า “สถานการณ์ดังกล่าวต้องการการตอบสนองอย่างเร่งด่วน”

ในขณะที่ทนายความของโรซาอ้างว่า เธอเป็นเหยื่อในสถานการณ์นี้ โดยเขากล่าวว่า

“เธอเป็นนผู้อพยพชาวอเมริกาใต้ที่พูดภาษาสเปนและเป็นสมาชิกของพระยะโฮวา ซึ่งมักตกเป็นเป้าของอคติและทัศนคติเหมารวม โรซาตกเป็นเป้าของความสัมพันธ์ทางการแพทย์ที่เรียกว่า Medical Paternalism”

Medical Paternalism เป็นความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยเหมือนพ่อปกครองลูก โดยตั้งอยู่บนฐานคิดว่าแพทย์ย่อมเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ป่วยเสมอ แต่จริง ๆ แล้วการตัดสินใจนี้อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยเสมอไป

แล้วคุณล่ะคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ ลองบอกผมได้ในคอมเมนต์เลยครับ

ที่มา: odditycentral