10 สถานที่บนโลกนี้ที่อาจหายไป ภายในชั่วชีวิตของเรา

ผลจากสภาวะโลกร้อนและความมักง่ายของมนุษย์ อาจทำให้โลกของเราใบนี้เปลี่ยนไป หลายคนคงคิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องไกลตัว แต่ใครจะรู้ว่า ผลกระทบอันร้ายแรงที่ค่อย ๆ เกิดขึ้นทีละน้อย จะส่งผลเสียให้สถานทีท่องเที่ยวหลายแห่ง กำลังถูกทำลายลงอย่างช้า ๆ และอาจหายไปในชั่วชีวิตเราก็เป็นได้

1. เกาะอีสเตอร์, ชิลี

ถ้าพูดถึงเกาะที่มีความลึกลับน่าค้นหาที่สุด ต้องมีชื่อของเกาะอีสเตอร์ที่ประเทศชิลี อยู่ในลิสต์อันดับต้น ๆ และนั่นทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากมายหลั่งไหลกันไปจนสร้างความเสียหายให้กับอนุเสารีย์ที่เก่าแก่ ระบบนิเวศบนเกาะที่เปราะบาง และการทิ้งขยะไม่เป็นที่อีกมากมายด้วย

2. ยอดเขาคิลิมันจาโร, แทนซาเนีย

ยอดเขาคิลิมันจาโรได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ ๆ สูงที่สุดในแอฟริกา ซึ่งมีอากาศหนาวขนาดมีหิมะปกคลุมอยู่ อย่างไรก็ตาม ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา หิมะเริ่มละลายลงอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถป้องกันได้ นักวิทยาศาสตร์ทำนายไว้ว่า หิมะบนยอดเขาแห่งนี้จะหายไปในปี 2033

3. เกาะคูเลบรา, เปอร์โตริโก

ในอดีตที่ผ่านมา กองทัพเรือสหรัฐใช้เกาะแห่งนี้ในการฝึกทิ้งระเบิด ซึ่งนั่นส่งผลต่อพืชและสัตว์จำนวนมาก จนกระทั่งในปี 1975 การทิ้งระเบิดยุติลง แต่สิ่งที่เข้ามาทำลายระบบนิเวศบนเกาะแห่งนี้แทนก็คือบรรดานักท่องเที่ยว ที่ทำให้สิ่งมีชีวิตบนเกาะแห่งนี้อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

4. มาดากัสการ์

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ป่าทั้งหมดบนแผ่นดินมาดากัสการ์จะหายไปจนหมดในปี 2025 ถ้าพวกมันไม่ได้รับการช่วยเหลือ มีสัตว์หลากหลายสายพันธุ์บนเกาะแห่งนี้ที่ยังไม่เคยถูกศึกษามาก่อน และพวกมันมีโอกาสที่จะสูญพันธุ์ไปก่อนที่เราจะทันได้รู้ว่า เคยมีพวกมันอยู่บนโลกด้วย

5. กำแพงเมืองจีน

นี่คือสถานที่ท่องเที่ยวที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวหลายล้านคนต่อปี และมีนักท่องเที่ยวหลายคนที่มักจะหยิบหินกลับไปเป็นที่ระลึก รวมถึงธุรกิจอย่างการนำหินมาสลักเป็นชื่อขาย การขโมยหินมาทำเป็นรั้ว รวมถึงการพังทลายของพายุทราย ซึ่งตอนนี้ กำแพงเมืองจีนมีความเสียหายไปแล้วกว่า 22% หรือคิดเป็นระยะทางถึง 2,000 กม. เลยทีเดียว

6. พุกาม, เมียนมาร์

พุกาม เป็นสถานที่ตั้งของวัดและเจดีย์มากกว่า 2,000 แห่ง ที่ถูกสร้างมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 11-12 และได้รับการบูรณะอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 1995-2008 แต่หลังจากที่พุกามเริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้น จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของเมียนมาร์ นักท่องเที่ยวก็หลั่งไหลเข้ามามากมายจนสร้างความเสียหายจนวัดหลายแห่งเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว

7. นุก, กรีนแลนด์

นุก คือเมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดของกรีนแลนด์ที่ปกคลุมด้วยหิมะและหมีขั้วโลก แต่ตอนนี้รัฐบาลมีแผนที่จะต่อยอดอุตสาหกรรมอัญมณีที่นี่ และนั่นจะนำไปสู่การก่อสร้างเหมืองที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ นอกจากนี้ น้ำแข็งบริเวณชายฝั่งอาจละลายหมดได้ภายในปี 2100 ซึ่งจะทำให้เมืองหลวงของที่นี่ตั้งอยู่บนขอบของเกาะ

8. ทะเลสาบนิคารากัว

ทะเลสาบนิคารากัว เป็นสถานที่เดียวในโลกที่มีฉลามน้ำจืดอาศัยอยู่ โดยในปี 2014 รัฐบาลได้อนุมัติให้มีการก่อสร้าง “คลองนิคารากัว” เพื่อเชื่อมต่อกับมหาสมุทรแปซิกฟิกและแอตแลนติก ชาวบ้านหลายร้อยคนต้องอพยพออกไป ซึ่งคลองดังกล่าวจะพาดผ่านพื้นที่กว่า 3.12 ล้านไร่ และทำให้ป่าดิบชื้นทั้งหมดหายไปด้วย

9. หมู่เกาะเซเชลส์

นี่คือประเทศที่ประกอบไปด้วยเกาะ 115 เกาะในมหาสมุทรอินเดีย โดยชายหาดของเซเชลส์หลายแห่งกำลังค่อย ๆ จมอยู่ใต้ผืนน้ำ เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล นอกจากนั้นยังทำให้เกิดการสูญพันธุ์ของปะการัง การกัดเซาะบริเวณชายฝั่งที่ทำให้เกาะเหล่านี้ค่อย ๆ หายไป คำถามที่นักวิทยาศาสตร์อยากรู้ ไม่ใช่ว่าเกาะแห่งนี้จะจมน้ำหรือไม่ แต่เป็นเกาะแห่งนี้จะจมน้ำทั้งเกาะเมื่อไหร่

10. เกรตแบร์ริเออร์รีฟ, ออสเตรเลีย

นี่คือแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดและยาวที่สุดในโลกที่ยาวกว่า 2,000 กม. ครอบคลุมพื้นที่กว่า 345,000 ตร.กม. แต่ผลจากสภาวะโลกร้อนที่เป็นภัยคุกคามต่อแนวปะการังอย่างร้ายแรง จึงทำให้ปะการังเหล่านี้ค่อย ๆ สูญพันธุ์ไปเรื่อย ๆ ซึ่งถ้ามีอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นแม้แต่เพียงองศาเดียว สาหร่ายจะเริ่มตาย ปะการังก็จะได้รับแสงอาทิตย์ที่รุนแรงขึ้น และส่งผลต่อเนื่องไปถึงระบบนิเวศอื่น ๆ ทั้งหมดตามมา

ที่มา : brightside | เรียบเรียงโดย เพชรมายา