ภาพลักษณ์ของ “แบรนด์” เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรักษาเอาไว้ให้ดี เพราะหลายครั้งที่แบรนด์ดังระดับประเทศหรือแม้แต่ระดับโลกต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาบางอย่าง จนส่งผลต่อภาพลักษณ์ของพวกเขายับเยินไม่มีชิ้นดี โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ที่ข่าวฉาวมักแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว
วันนี้เพชรมายาขอหยิบยกเอาประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ดังต่าง ๆ ที่เรารู้จักกันดี มาดูกันว่าพวกเขาทำวีรกรรมอะไรไว้กันบ้าง
1. United Airlines
ในปี 2017 ผู้โดยสารรายหนึ่งถูกลากลงจากเที่ยวบินของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ สาเหตุเกิดจากเที่ยวบินนี้ถูกจองเกินจำนวนที่นั่ง และเมื่อไม่มีใครยอมออกโดยสมัครใจ พวกเขาก็เลือกสุ่มใครสักคนที่ถูกบังคับให้สละที่นั่ง
เมื่อผู้โดยสารดังกล่าวปฏิเสธ พนักงานรักษาความปลอดภัยจึงถูกเรียกขึ้นมาใช้กำลังบังคับและลากเขาออกจากเครื่องบิน สิ่งนี้ทำให้ผู้โดยสารที่เหลือรู้สึกแย่และโพสต์เรื่องนี้บนโลกออนไลน์ สุดท้ายทางสายการบินต้องออกมาขอโทษและชดเชยให้ผู้โดยสารรายนี้
2. P&G
P&G ได้รับกระแสเชิงลบจำนวนมาก จากแคมเปญโฆษณาวันแม่ที่ภาพของผู้หญิงกำลังทำความสะอาด พร้อมกับสโลแกนที่ระบุว่า “วันแม่นี้ กลับไปทำงานที่มีความสำคัญจริง ๆ” ซึ่งผู้คนมองว่ามันคือการยัดเยียดงานบ้านให้เป็นภาระของเพศหญิงเท่านั้น
3. Bacardi
Bacardi ได้รับกระแสเชิงลบอย่างมากเช่นกัน เนื่องจากสโลแกนของพวกเขาที่ระบุว่า “หน้าร้อนนี้อยากดูดีขึ้นไหม คว้าเครื่องประดับที่เพิ่มความร้อนแรงได้แล้ว: แฟนสาวที่น่าเกลียด!”
ซึ่งภาพประกอบของโฆษณานี้เป็นหญิงรูปร่างท้วม ผมสั้น ใส่แว่น และผู้คนมองว่ามันคือการเหยียดอย่างรุนแรง
4. Better.com
CEO ของ Better.com บริษัทสตาร์ตอัปเกี่ยวกับสินเชื่อบ้านออนไลน์ในสหรัฐอเมริกาได้เรียกประชุมพนักงานทั้งหมด 900 คนผ่าน Zoom และประกาศว่าพวกเขาทั้งหมดถูกเลิกจ้าง ภาพการประชุมออนไลน์ถูกโพสต์ลงบนโซเชียลมีเดีย และมันก็กลายเป็นกระแสไปทั่วโลกทันที
5. Burberry
ในปี Burberry พบว่าแบรนด์ของพวกเขาต้องเผชิญกับกระแสลบบนโลกออนไลน์ จากงานแฟชันโชว์ของพวกเขาที่มีเสื้อฮูดตัวหนึ่่งมีเชือกที่คล้ายกับถูกคล้องเอาไว้ที่คอ นางแบบคนหนึ่งที่เดินในงานแฟชันโชว์นี้ออกมาเรียกร้องทางแบรนด์บนโซเชียลมีเดียว่า “การพรากชีวิตตนเองไม่ใช่แฟชัน”
ภายหลังทาง Burberry ได้ออกมาขอโทษต่อสาธารณะชนว่ามันเป็นความไม่ละเอียดรอบคอบจริง
6. Burger King
ในปี 2021 แบรนด์ฟาสฟูดดังอย่าง Burger King ได้ทวีตว่า “ผู้หญิงคู่กับครัว” ซึ่งมันเป็นวันสตรีสากลพอดี และนั่นทำให้ชาวเน็ตออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากเพราะมันเหมือนการกีดกันทางเพศ
ในขณะที่ Burger King ออกมาตอบโต้ว่า พวกเขาแค่ต้องการสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าครัวก็แค่นั้น
7. Dolce and Gabbana
แบรนด์แฟชันดังพบว่าพวกเขาถูกกระแสวิจารณ์อย่างหนัก หลังจากเปิดตัวรองเท้ารุ่นหนึ่งที่มีข้อความบนนั้นมากมาย หนึ่งในนั้นคือคำว่า “ฉันผอมและสวย” แต่กระแสนั้นก็ไม่อาจทำอะไร Dolce and Gabbana ได้เลย เพราะทางแบรนด์ไม่ได้ออกมาแสดงความเสียใจ แต่ตอบกลับชาวเน็ตว่า “คราวหน้าเราจะเขียนว่า ชอบความอ้วนและเต็มไปด้วยคอเลสเตอรอล”
8. Pringles
Pringles ตัดสินใจผลิตมันฝรั่งแผ่นของพวกเขาในแบบที่ปราศจากไขมัน และมันประสบความสำเร็จจนกระทั่งพบว่ามีลูกค้าหลายคนเริ่มปวดท้อง เนื่องจากมีส่วนผสมของวัตถุดิบที่ใช้แทนไขมันมีผลเป็นยาระบายด้วย
9. Domino’s
ร้านพิซซ่าดังเจอกระแสในแง่ลบหลังจากที่พนักงานของพวกเขาอัปโหลดวิดีโอบนยูทูปที่ทำให้เห็นว่า พวกเขาเอาชีสไปแคะจมูก เอาผ้าทำความสะอาดไปเช็ดตัว แน่นอนว่าเรื่องนี้ทำให้พวกเขาถูกไล่ออกทันที ซึ่งภาพลักษณ์ของ Domino’s ก็เสียไปแล้ว
10. Samsung
ในปี 2016 แบรนด์ดังอย่าง Samsung ต้องตกที่นั่งลำบากอย่างมากหลังจากที่มีผู้ใช้หลายคนระบุว่า โทรศัพท์ Galaxy Note 7 ของพวกเขาร้อนเกินไปจนเกิดไฟลุกไหม้ และนั่นทำให้พวกเขาต้องยุติการขายมือถือรุ่นนี้ทั้งหมด รวมถึงต้องส่ง ‘กล่องกันไฟ’ ไปให้ผู้ใช้ทั้งหมดส่งมือถือคืนกลับมาให้กับทางบริษัท
11. Singapore Airlines
ในปี 2020 สายการบินสิงคโปร์แอไลน์เปิดตัวแคมเปญที่ชื่อว่า Flight To Nowhere ซึ่งเป็นเที่ยวบินยาว 3 ชั่วโมง เพื่อให้ผู้โดยสารขึ้นไปรับประทานอาหารพร้อมกับชมวิวบนท้องฟ้าเฉย ๆ ซึ่งไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อการเดินทางอย่างแท้จริง
แคมเปญนี้ได้รับกระแสในแง่ลบค่อนข้างมากจากนักสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมันเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานโดยใช่เหตุ ทางสิงคโปร์แอร์ไลน์จึงตอบสนองด้วยการเปลี่ยนแคมเปญเป็นการนั่งรับประทานอาหารบนเครื่องบินที่จอดอยู่แทน
12. McDonald’s
แบรนด์ฟาสฟูดดังที่ต้องการสร้างแคมเปญซึ้ง ๆ โดยต้องการให้ผู้ใช้ทวิตเตอร์แบ่งปันประสบการณ์ดี ๆ ที่พวกเขาได้รับกับบริษัทภายใช้แฮชแท็ก #McDStories
แต่ปัญหาคือผู้คนมากมายกลับออกมาแบ่งปันประสบการณ์สยองขวัญแทน ไม่ว่าจะเป็นการพบเล็บนิ้วมือ จนไปถึงเมนูที่ส่งพวกเขาให้เข้าโรงพยาบาล
13. IKEA
ในปี 2013 กระทรวงสาธารณสุขได้สุ่มทดสอบเมนูมีตบอลของ IKEA และพวกเขาพบว่ามีร่องรอยของเนื้อม้าอยู่ในนั้น เรื่องนี้ทำให้ทาง IKEA ต้องเรียกคืนวัตถุดิบของพวกเขากลับเป็นจำนวนมาก รวมถึงส่งผลกระทบต่อลูกค้าที่ลังเลว่าจะทานอาหารที่ IKEA อีกหรือเปล่า
14. Gucci
แบรนด์แฟชันดังต้องกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์บนโซเชียลมีเดียหลังจากที่พวกเขาเปิดตัวชุดจัมเปอร์ที่ปกคลุมใบหน้าในราคา 890 เหรียญ (ราวเกือบ 30,000 บาท) ซึ่งเป็นคอลเลกชัน Autumn/Winter
สาเหตุที่ผู้คนไม่พอใจเนื่องจากชุดจัมเปอร์ดังกล่าวมีการปกปิดใบหน้าเปรียบเสมือนกับคำว่า Blackface ซึ่งหมายถึงการล้อเลียนคนที่มีสีผิวแตกต่างกัน
15. Airbnb
ช่วงเวลาที่ไม่ดีก็อาจส่งผลร้ายต่อแคมเปญได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่นแคมเปญของ Airbnb ที่ชื่อว่า Floating World ซึ่งเป็นการโปรโมตทริปการท่องเที่ยวพักผ่อนบนทะเลสาบ โดยที่ไม่ต้องเหยียบแผ่นดินเลย แต่มันดันเป็นช่วงเวลาที่เกิดพายุเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์พอดิบพอดี
ที่มา : boredpanda | เรียบเรียงโดย เพชรมายา