17 การละเล่นของเด็กไทยในอดีต ที่เด็กยุคใหม่ไม่เคยรู้

ถ้าพูดถึงการละเล่นของเด็กไทยสมัยนี้ อาจเป็นการโหลดเกมลงในสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต การดูยูทูป การแคสเกม การเล่นสกุชชี่หรือสปินเนอร์ แต่ถ้าย้อนกลับไปในอดีตก่อนยุคดิจิตอล เด็กไทยแบบเราๆ มีการละเล่นที่น่าสนใจอยู่มากมาย และวันนี้เพชรมายาจะพาคุณย้อนอดีตไปชมการละเล่นของไทยในอดีตกันดูว่า จะมีการละเล่นอะไรและคุณจะเคยสัมผัสการละเล่นเหล่านี้สักกี่ข้อ

1. ม้าก้านกล้วย

ตามปกติแล้ว หมู่บ้านของคนไทยในอดีตมักจะปลูกต้นกล้วยไว้แทบทุกแห่ง ดังนั้นใบกล้วยจึงเป็นสิ่งที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์หลายๆ อย่าง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการนำมาทำเป็นม้าก้านหล้วย ซึ่งแล้วแต่เด็กจะเล่นม้าก้านกล้วยในรูปแบบไหน ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งแข่งหรือวิ่งไล่กัน หรือจะนำมาเล่นต่อสู้กัน

2. กระโดดเชือก / กระโดดหนังยาง

การกระโดดเชือกมี 2 แบบ คือ การกระโดดเชือกเดี่ยว และการกระโดดเชือกหมู่ ใช้หนังหนังยางถักร้อยจนเป็นเส้นยาว หรือ เชือกปอ ยาวพอที่จะตวัดพ้นศีรษะ ขมวดหัวท้ายเพื่อกันเชือกลุ่ย เวลาเล่นแกว่งเชือกด้วยมือทั้งสองข้าง แล้วกระโดขึ้นลงตรงกลาง การกระโดดเชือกหมู่จะใช้เชือกที่ยาวกว่า มีผู้เล่นสองคนจับหัวท้ายข้างละคน คอยแกว่งหรือไกวเชือก สามารถกระโดดได้พร้อมกันหลายๆ คน

3. กระต่ายขาเดียว

การเล่นไล่จับชนิดหนึ่ง โดยคนที่เป็นกระต่าย ยืนด้วยขาข้างเดียว แล้วกระโดด เขย่ง เคลื่อนที่ไล่จับ (แตะถูกตัว) เด็กคนอื่น ภายในพื้นที่ที่กำหนด ถ้าใครโดนจับได้ก็ต้องออกจากการแข่งขันเพื่อรอรอบต่อไป

4. ตั้งเต

การกระโดดขาเดียวไปภายในช่องสี่เหลี่ยมที่ขีดขึ้นบนพื้น ขนาด 5 แถว คูณ 2 คอลัมน์ (รวม 10 ช่อง) ทีละช่อง

5. บอลลูนด่าน / บอลลูนโป้ง

เด็กแบ่งเป็นสองทีม เป็นทีมดักจับ กับทีมหนี โดยที่ทีมจับ แต่ละคนจะตั้งด่านวิ่งได้เฉพาะตามแนวเส้นตรง และเส้นนอน ของพื้น ด่านแรกจะจับมือทีมหนีก่อนทั้งสองฝั่งซ้ายและขาว แล้วก็ชูแขนขึ้น พูดว่าบอลลูน…(ลากยาว) และพูดว่าโป้ง สิ้นสุดคำว่าโป้งให้ทีมหนีวิ่งไปผ่านด่านให้ได้ โดยหลบหลีกวงแขนดักจับ วิ่งผ่านลงไปจนสุดด่าน แล้ววิ่งย้อนกลับขึ้นไปยังจุดเริ่มต้น ถ้าผ่านหมดทุกด่านก็จะชนะ

6. โมราเรียกชื่อ

ใช้ลูกปิงปองโยนขึ้นสูงเหนือหัวแล้วเอ่ยชื่อคนอื่น ให้เข้ามารับที่ตกกระเด้งขึ้นมาจากพื้น 1 ครั้ง หากวิ่งมารับทันก็จะเรียกชื่อคนอื่นต่อไป แต่ถ้ารับไม่ทันจะต้องขว้างลูกปิงปองให้โดนคนอื่น ถ้าปาไม่โดนจะต้องขึ้นแท่น แต่ถ้าปาโดนคนไหน คนนั้นก็จะต้องขึ้นแท่นแทน

ส่วนการขึ้นแท่น ก็คือการไปยืนให้คนอื่นปาลูกปิงปองอัดที่น่องด้านหลัง หากยืนขาไม่ชิดกันจนลูกปองรอดขาจะได้รับรางวัลให้ปาเพิ่มอีก 5 ครั้ง ส่วนถ้าลูกปิงปองคาติดอยู่ที่น่อง ก็จะโดนเพิ่มอีก 10 ครั้ง

7. เล่นห่วง

“ห่วง” เป็นอุปกรณ์การเล่นที่ประดิษฐ์จากไม้ไผ่ ซึ่งเหลาจนไม่มีคมเหลืออยู่ นำปลายทั้งสองข้างมาผูกเป็นวงกลม เล่นโดยการนำเข้ามาร่อนที่เอว เช่นเดียวกับการเล่นห่วงในปัจจุบัน นิยมเล่นกันเป็นกลุ่ม การละเล่นนี้จะทำให้เด็กๆ สนุกกับการออกกำลังกาย และได้พบปะเพื่อนฝูง

8. ขี่ม้าส่งเมือง

แบ่งผู้เล่นออกเป็นสองฝ่าย แล้วเลือกผู้เล่น 1 คน มาเล่นเป็นเจ้าเมือง ฝ่ายที่เริ่มก่อนจะกระซิบความลับให้เจ้าเมืองทราบ (อาจจะเป็นชื่อคนหรือเรื่องที่ตกลงกันไว้) ถ้าฝ่ายตรงข้ามทายถูกเจ้าเมืองจะบอกว่า “โป้ง” ฝ่ายที่ทายถูกก็จะชนะ และได้ฝ่ายแรกเป็นเชลย ถ้าทายผิดก็จะต้องตกเป็นเชลย ฝ่ายใดตกเป็นเชลยหมดก่อน ต้องเป็นม้าให้อีกฝ่ายหนึ่งขี่หลังไปส่งเมือง

9. กาฟักไข่

บางแห่งเรียกกว่า “ซิงไข่เต่า” ผู้เล่นเป็นอีกาหรือเต่าจะเข้าไปอยู่ในวงกลมที่ขีดไว้ คนอื่นๆอยู่นอกวงกลม พยายามแย่งเอาก้อนหินที่สมมุติว่าเป็นไข่มาให้ได้ อีกาหรือเต่าจะปัดป่ายแขนขาไปมา ถ้าโดนผู้ใดผู้นั้นจะต้องมาเล่นเป็นอีกาแทนทันที แต่ถ้าไข่ถูกแย่งหมด อีกาหรือเต่าจะต้องไปตามหาไข่ที่ผู้อื่นซ่อนไว้ หากหาไม่พบจะถูกจูงหูไปหาไข่ที่ซ่อนไว้ เป็นการลงโทษ

10. มอญซ่อนผ้า

ทุกคนนั่งล้อมวงช่วยกันร้องว่า “มอญซ่อนผ้า ตุ๊กตาอยู่ข้างหลัง ไว้โน่นไว้นี่ ฉันจะตีก้นเธอ” มอญจะถือผ้าเดินรอบวงแล้วแอบหย่อนผ้า ไว้ข้างหลังผู้เล่นคนใดคนหนึ่ง หากผู้เล่นคนนั้นรู้ตัวก่อนก็จะหยิบผ้ามาไล่ตีมอญ แล้ววิ่งมานั่งที่เดิม แต่หากว่ามอญเดินกลับมาอีกรอบหนึ่ง แล้วผู้เล่นคนนั้นยังไม่รู้ตัว ก็จะถูกมอญเอาผ้าตีหลัง และต้องเล่นเป็นมอญแทน

11. หมาไล่ห่าน

เลือกผู้เล่นคนหนึ่งเป็นหมาวิ่งไล่ อีกคนหนึ่งเป็นห่านวิ่งหนี ผู้เล่นนอกนั้นจับมือล้อมกันเป็นวง เมื่อห่านจวนตัวก็จะวิ่งลอดเข้าไปในวงล้อม ผู้ที่เล่นเป็นประตูต้องพยายาม กันไม่ให้หมาเข้าไปในหรือนอกวงทันห่าน กติกามีอยู่ว่าช่วงใดที่ผู้เล่นเป็นประตูพากันนั่งลง ถือเป็นการปิดประตู หากห่านใดไล่ทันและโดนจับได้ก็ถือว่าแพ้

12. ลิงชิงหลัก

เลือกผู้เล่นคนหนึ่งสมมุติว่าเป็นลิงไม่มีหลัก ยืนอยู่กลางวง ผู้เล่นที่เหลือยืนเกาะหลักของตน (ใช้คนสมมุติเป็นหลักก็ได้) อยู่รอบวง กติกาคือผู้เล่นเป็นลิงมีหลักจะต้องสลับหลักเรื่อยๆ ลิงตัวที่ไม่มีหลักก็จะต้องพยายามแย่งหลักของตัวอื่นให้ได้ ถ้าวิ่งเร็วกว่าก็จะได้หลักไปครอง ลิงที่ช้ากว่าก็จะกลายเป็นลิงชิงหลัก คอยแย่งหลักคนอื่นต่อไป

13. รีรีข้าวสาร

ให้ผู้เล่นสองคน ใช้สองมือจับกัน แล้วยกโค้งขึ้นเสมือนซุ้มประตู ผู้เล่นที่เหลือเอามือจับเอวเดินเป็นแถวลอดประตูนั้นไป พร้อมกับร้องว่า “รีรีข้าวสาร สองทะนานข้าวเปลือก เด็กน้อยตาเหลือก เลือกท้องใบลาน คดข้าวใส่จาน เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน พานเอาคนข้างหลังไว้ให้ดี” เมื่อถึงคำสุดท้าย ซุ้มประตูก็จะลดมือลง กักตัวผู้เล่นที่เดินผ่านมา ผู้เล่นที่ถูกกักตัวจะถูกคัดออก หรืออาจจะถูกลงโทษด้วยการให้รำหรือทำท่าทางอะไรก็ได้

14. ลูกช่วง

ใช้ผ้าเช็ดหน้าผืนใหญ่หรือเศษหญ้าแห้งมาผูกปมเป็นลูกช่วง แบ่งผู้เล่นเป็น 2 ฝ่าย เท่ากัน เริ่มเล่นด้วยการโยนลูกช่วงให้อีกฝ่ายหนึ่งรับ ถ้าฝ่ายตรงข้ามรับได้ก็จะต้องเอาลูกช่วงนั้นปากลับ มายังฝ่ายที่โยนมา ถ้าปาถูกตัวผู้เล่นคนใดคนหนึ่ง ฝ่ายที่โยนมาก็จะได้คะแนน ความสนุกจะอยู่ที่ลีลาในการหลอกล่อ ชิงไหวชิงพริบ ของการหลบและการปาลูกช่วง ซึ่งอาจจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งสับสน

15. โพงพาง

โพงพาง คือ ชื่อของกับดักปลาชนิดหนึ่ง ผู้ที่เล่นเป็น “ปลา” จะถูกผูกตาแล้วหมุน 3 รอบ ผู้เล่นอีกคนอื่นล้อมวงร้องว่า “โพงพางเอ๋ย สำเภาเข้าลอด ปูปลาตาบอด เข้าลอดโพงพาง” จบแล้วถามว่า “ปลาเป็นหรือปลาตาย?” ถ้าปลาตอบว่า “ปลาตาย” แปลว่าห้ามขยับ แต่ถ้าตอบว่า “ปลาเป็น” ก็ขยับได้ หากผู้เล่นเป็นปลา แตะถูกตัวคนใดคนหนึ่งแล้วทายชื่อถูก ผู้นั้นจะต้องกลายเป็นปลาแทน ถ้าไม่ถูกก็ให้ทายใหม่

16. ตี่จับ

แบ่งผู้เล่นเป็นสองฝ่าย มีเส้นแดนตรงกลาง ตัวแทนฝ่ายที่รุกจะต้องส่งเสียง “ตี่” ไม่ให้ขาดเสียง และจะต้องพยายามแตะตัวคนใดคนหนึ่ง ของฝ่ายรับมาเป็นเชลย ส่วนฝ่ายรับหากเห็นว่าคนที่รุกมากำลังจะหมดแรงหายใจ จะถอยกลับก็จะพยายามจับตัวไว้ให้ได้ หากคนที่รุกเข้ามาขาดเสียง “ตี่” ก่อนกลับเข้าแดนของตน ก็จะต้องตกเป็นเชลยของอีกฝ่าย

17. หมากเก็บ

ใช้ก้อนกรวดที่มีลักษณะกลมๆ 5 ก้อน เสี่ยงทายว่าใครจะเล่นก่อน โดยวิธีขึ้นร้าน คือ ถือหมาก ทั้งห้าเม็ดไว้แล้วโยนพลิกหงายหลังมือรับ แล้วพลิกมือกลับรับอีกที ใครเหลือหินอยู่ในหินอยู่ในมือมากที่สุด คนนั้นเล่นก่อน มีทั้งหมด 5 หมาก

หมากที่ 1 ทอดหมากให้ห่างๆ กัน เลือกลูกนำไว้ 1 เม็ด ควรใช้เม็ดกรวดที่ห่างที่สุด โยนเม็ดนำขึ้น แล้วเก็บทีละเม็ดพร้อมกับรับลูกนำที่หล่นลงมาให้ได้ ถ้ารับไม่ได้ถือว่า “ตาย” ขณะที่หยิบเม็ดที่ทอดนั้น ถ้ามือไปถูกเม็ดอื่นถือว่า ตาย

หมากที่ 2 เก็บทีละ 2 เม็ด หมากที่ 3 เก็บทีละ 3 เม็ด หมากที่ 4 ใช้โปะ ไม่ทอด คือ ถือหมากทั้งหมดไว้ในมือ โยนลูกนำขึ้นแล้วโปะเม็ดที่เหลือลงพื้น แล้วรวมทั้งหมดที่ถือไว้

และนี่ก็คือการละเล่นของเด็กไทยในอดีตตั้งแต่หลายสิบปีก่อน ซึ่งเชื่อว่ามีเด็กสมัยใหม่น้อยมากที่จะได้สัมผัสการละเล่นสุดคลาสสิคที่มีเสน่ห์เหล่านี้ แล้วคุณล่ะ เคยเล่นการละเล่นเหล่านี้ทั้งหมดกี่อย่าง หรือจะมีการละเล่นอื่นใดนอกเหนือจากนี้อีกหรือไม่

สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ

ที่มา : wikipedia | เรียบเรียงโดย เพชมายา