โลกเราจะเป็นอย่างไร ถ้าน้ำแข็งขั้วโลกละลายจนหมด

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราได้เรียนรู้ว่ามนุษย์กำลังย่ำยีโลกอย่างรุนแรง และจากปรากฏการณ์เรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนขึ้น ส่งผลให้น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกค่อยๆ ละลายทุกปี และสิ่งที่ตามมาก็คือระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น จนอาจเปลี่ยนหน้าตาโลกของเราจนไม่เหลือเค้าเดิมในอนาคต

ทาง เนชันแนล จีโอกราฟฟิค ได้สร้างแผนที่ๆ แสดงให้เห็นว่า โลกของเราจะแตกต่างไปแค่ไหนถ้าเกิดน้ำแข็งขั้วโลกละลายจนหมด

แผนที่ด้านบนแสดงให้เห็นถึงระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นถึง 216 ฟุต ทำให้เกิดชายฝั่งใหม่ๆ ขึ้นมากมาย และหลายพื้นที่ๆ จมลงสู่ใต้ทะเล แต่คงไม่ใช่แผ่นดินทั่วโลกจะจมลงสู่ใต้น้ำทั้งหมด

ปัจจุบันนี้ มีน้ำแข็งขั้วโลกอยู่ประมาณ 5 ล้านลูกบาศก์ไมล์ และนักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่า หากเรายังคงเพิ่มปริมาณคาร์บอนไปสู่ชั้นบรรยากาศเรื่อยๆ ยังต้องใช้เวลานานถึง 5,000 ปี กว่าที่น้ำแข็งจะละลายจนหมดโลก และอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะสูงขึ้นอยู่ที่ 26 องศาเซลเซียส จากที่ปัจจุบันอยู่ที่ 14 องศาเซลเซียส (ส่วนประเทศไทยคิดกันเล่นๆ ว่าร้อนไปอีก 10 กว่าองศา จะเลวร้ายขนาดไหน)

อเมริกาเหนือ

บริเวณเส้นสีฟ้า แสดงให้เห็นถึงชายฝั่งเดิม ซึ่งจะเห็นว่าชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกทั้งหมดจะหายไปพร้อมกับฟลอริดาและอ่าวเม็กซิโก ส่วนเมืองซานฟรานซิสโกในแคลิฟอร์เนีย จะกลายเป็นแอ่งจมอยู่ใต้น้ำ พื้นที่บริเวณเซ็นทรัลวัลเลย์จะกลายเป็นอ่าวขนาดยักษ์ พื้นที่ทางตะวันออกหลายแห่งจะจมอยู่ใต้น้ำเช่นกัน

อเมริกาใต้

ลุ่มน้ำอเมซอนทางภาคเหนือและลุ่มแม่น้ำปารากวัยจะกลายเป็นแอ่งเวิ้งทะลุเข้ามา เมืองบูอเโนสไอเรสในอาร์เจนตินา ชายฝั่งอุรุกวัย และพื้นที่ประเทศปารากวัยส่วนใหญ่ จะจมอยู่ใต้น้ำ ส่วนผู้คนที่อาศัยอยู่แถบบริเวณเทือกเขาสูงเรียบไปตามทะเลแคริบเบียนและในอเมริกากลางจะอยู่รอดได้

แอฟริกา

เปรียบเทียบกับทวีปอื่นๆ แอฟริกาจะสูญเสียต่อภัยพิบัตินี้น้อยที่สุด แต่กรุงไคโรและอเล็กซานเดรียในอียิปต์จะจมอยู่ใต้ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และด้วยความร้อนของโลกที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ทวีปที่ร้อนอบอ้าวอยู่แล้วแห่งนี้ ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้อีกต่อไป

ยุโรป

เมืองสำคัญๆ ของยุโรปหลายแห่งที่อยู่ใกล้ชายฝั่งจะไม่รอดจากภัยพิบัติครั้งนี้ ลอนดอน เวนิส อัมเสตอร์ดัม สตอกโฮล์ม โคเปนเฮเกน เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และอีกหลายๆ แห่งจะจมอยู่ใต้ทะเล และอีกหลายเมืองที่สุ่มเสี่ยงอย่าง ลิสบอน บาเซโลนา โรม บรัสเซลล์ ในขณะที่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจะขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมไปถึงทะเลดำและทะเลแคสเปียนอีกด้วย

ออสเตรเลีย

พื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปจะเป็นทะเลทราย และอีกหลายแห่งจะกลายเป็นพื้นที่ชายฝั่งแทน บริเวณกลางทวีปจะมีแอ่งน้ำที่ใหญ่ขึ้น ส่วนเมืองท่าที่สำคัญๆ ของออสเตรเลีย 4-5 เมือง จะกลายเป็นพื้นที่ๆ อยู่อาศัยได้ แต่ก็มีโอกาสที่จะจมอยู่ใต้น้ำได้เช่นกัน

แอนตาร์กติกา

บริเวณพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแอนตาร์กติกาประกอบด้วยแผ่นน้ำแข็งถึง 4 ใน 5 ของน้ำแข็งทั้งหมดบนโลก แผ่นดินทางฝั่งตะวันออกยังคงเหลือพื้นที่อยู่พอสมควร ส่วนทางฝั่งตะวันตกก็จมอยู่ใต้น้ำจนเกือบหมด และด้วยอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น พื้นที่บนทวีปแห่งนี้ก็จะไม่มีน้ำแข็งอีกต่อไป

เอเชีย

ประเทศที่มีพื้นที่ติดทะเลทั้งหมดจะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะประเทศจีนฝั่งตะวันออกที่จะจมหายไปใต้น้ำไปมาก เซี่ยงไฮ้จะไม่รอด ส่วนปักกิ่งก็ร่อแร่ เมืองหลวงอย่างโซลและโตเกียวก็อยู่ในสภาพเดียว บังกลาเทศจะหายไปทั้งประเทศพร้อมกับประชากรกว่า 160 ล้านคน

ทางฝั่งตะวันออกกลาง เมืองหลักๆ ที่สำคัญส่วนมากจะอยู่ติดชายฝั่ง เช่น ดูไบ โดฮา แบกแดด คูเวตซิตี้ เหล่านี้อาจไม่รอด ส่วนทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเราจะได้รับผลกระทบไม่น้อยไปกว่าที่อื่น เพราะเมืองหลักๆ อย่งา กัวลาลัมเปอร์ โฮจิมินห์ซิตี้ จาการ์ตา สิงคโปร์ รวมถึงจังหวัดสำคัญๆ ในไทยอีกด้วย

ประเทศไทย

ต้องขอบอกว่าโชคร้ายที่ กรุงเทพ เมืองหลวงของเราจะไม่รอดจากภัยพิบัติครั้งนี้ น้ำทะเลจากอ่าวไทยจะดัดขึ้นสูงจนท่วมพื้นที่ทางภาคตะวันออกและภาคกลางของไทยจนหมด บริเวณชายฝั่งทางภาคใต้หลายแห่งจะโดนผลกระทบนี้ รวมไปถึงเกาะสำคัญๆ ของไทยหลายแห่งก็อาจจมลงสู่ใต้ทะเลด้วยเช่นกัน แต่กว่าจะถึงตอนนั้น พวกเราคงไม่ได้อยู่เห็นภัยพิบัติเหล่านี้แล้ว

สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ

ที่มา : nationalgeographic | เรียบเรียงโดย เพชรมายา