ในขณะที่หลายๆ คนคิดว่า การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่บนโลกนี้เคยเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว เมื่อตอนที่ไดโนเสาร์สูญพันธุ์หายไปจากโลก แต่ในความเป็นจริงแล้ว จากการวิเคราะห์ฟอสซิลจากทะเลส่วนใหญ่ ทำให้ทราบว่าก่อนหน้านั้นหลายสิบล้านปี ยังมีการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เกิดขึ้นถึง 4 ครั้ง ที่ทำให้สิ่งมีชีวิตบนโลกมากมายต้องหายไปในเวลาพร้อมๆ กัน ส่วนจะมีรายละเอียดอะไรบ้าง วันนี้เพชรมายาจะขอพามาชมกัน
1. 450-440 ล้านปีก่อน
ช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ในยุคที่เรียกว่า ยุคออร์โดวิเชียน (Ordovician) ซึ่งเป็นยุคที่ก่อกำเนิดสิ่งมีชีวิตประเภทประการัง ไบรโอซัว ปลาหมึก จนถึงยุค ไซลูเรียน (Sulurian) ที่ก่อกำเนิดสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลลึก โดยใช้พลังงานเคมีจากภูเขาไฟใต้ทะเลเป็นธาตุอาหาร ทำให้เกิดปลาที่มีขากรรไกร และสัตว์บกขึ้นเป็นครั้งแรก พวกถึงพืชต่างๆ ที่ขยายพันธุ์ด้วยสปอร์
ส่วนสาเหตุของการสูญพันธุ์คาดว่าเกิดจากการก่อตัวของก้อนน้ำแข็งยักษ์ ทำให้ระดับน้ำทะเลลดลง และต่อมาเมื่อน้ำทะเลได้เพิ่มระดับขึ้นกระทันหัน จากการละลายของก้อนน้ำแข็งดังกล่าว ส่งผลให้สายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ไปถึง 49-60% และคิดเป็น 85% ของสายพันธุ์สัตว์น้ำทั้งหมด โดยการสูญพันธุ์ครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์โลก
2. 375-360 ล้านปีก่อน
อยู่ในช่วงปลายยุคดีโวเนียน (Devonian) ซึ่งเป็นยุคที่ อเมริกาเหนือ กรีนแลนด์ ยังอยู่รวมกันกับยุโรป เป็นยุคของปลาดึกดำบรรพ์ ปลามีเหงือก ปลามีกระดอง ปลาฉลาม หอยแอมโมไนท์ และแมลงได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก พืชจำพวกเมล็ดเริ่มขยายพันธุ์จนมีป่าเกิดขึ้น
ส่วนสาเหตุของการสูญพันธุ์ในยุคนี้ยังไม่ชัดเจน แต่ผลลัพธ์ของเหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลให้สายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตทุกสกุลสูญพันธุ์ไปถึง 19%
3. 252 ล้านปีก่อน
นี่คือการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ที่เกิดในยุค เพอร์เมียน (Permian) เป็นยุคที่ในทะเลมีแนวประการังและไบโอซัวร์ เกิดการแพร่พันธุ์ของสัตว์บกและสัตว์เลื้อยคลานที่มีลักษณะคล้ายสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
สาเหตุการสูญพันธุ์ในยุคนี้มี 3 สมมติฐานหลักๆ คือ อุกกาบาตชนโลก ภูเขาไฟใต้น้ำระเบิดทำให้ออกซิเจนลดลง และสุดท้ายก็คือ อุกกาบาตชนโลกไปกระตุ้นให้ภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่ และผลลัพธ์คือสิ่งมีชีวิตจำนวนกว่า 95% บนโลกต้องสูญพันธุ์ไปเกือบทั้งหมด
4. 214-199 ล้านปีก่อน
เป็นยุคไทรแอสสิก (Triassic) ที่เป็นการเริ่มต้นของสัตว์ชนิดใหม่ที่เกิดขึ้นหลักการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ สัตว์เลื้อยคลานที่มีลักษณะคล้ายสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ถูกแทนที่ด้วยสัตว์ที่เป็นต้นตระกูลไดโนเสาร์ ผืนแผ่นดินไม่อุดมสมบูรณ์ต่อการเจริญเติบโตของพืช พืชพรรณส่วนใหญ่จึงเต็มไปด้วยสน ปรง และเฟิร์น
และเมื่อภูเขาไฟใต้น้ำระเบิดครั้งใหญ่ที่บริเวณตอนกลางของมหาสมุทรแอตแลนติก ปลดปล่อยลาวาจำนวนมหาศาลออกมา ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนขั้นวิกฤต ส่งผลให้เกิดการสูญพันธุ์ของสัตว์ประมาณ 23% โดยคิดเป็นสัตว์น้ำมากถึง 52% ส่วนสัตว์บกยังไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด
5. 65 ล้านปีก่อน
การสูญพันธุ์ที่โด่งดังที่สุดเกิดขึ้นในยุคครีเตเชียส ซึ่งเป็นยุคที่มีสิ่งมีชีวิตใหม่ๆ เกิดขึ้นเช่น งู นก พืชมีดอก และไดโนเสาร์ที่วิวัฒนาการให้มีนอ ครีบหลัง และผิวหนังหนาสำหรับป้องกันตัว
ทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสาเหตุของการสูญพันธุ์ครั้งนี้ คือ ดาวเคราะห์น้อยขนาดที่มีขนาดความกว้างหลายไมล์พุ่งเข้าชนโลก ทำให้เกิดหลุมอุกกาบาตชิกซูลูบ ที่บริเวณคาบสมุทรยูคาทัน และใต้อ่าวเม็กซิโก จนทำให้สิ่งมีชีวิตบนโลกสูญพันธุ์ไปกว่า 70 %
ส่วนการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ในอนาคต ถูกตั้งข้อสมมติฐานอยู่มากมาย บ้างก็ว่าภายในเวลาอันใกล้นี้ หากมนุษย์ยังใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างไม่เห็นคุณค่า สักวันหนึ่ง อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อโลก จนมนุษย์ต้องประสบกับการสูญพันธุ์ไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิตในอดีตก็เป็นได้
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ
ที่มา : wikipedia | lesa | เรียบเรียงโดย เพชรมายา