เมื่อเร็วๆ นี้ เพชรมายาได้นำเสนอเรื่องราวการทดลองของ ดร.โรเซนฮาน ในปี ค.ศ. 1969 ที่ส่งคนปกติ 8 คนไปยังโรงพยาบาลจิตเวช 8 แห่ง เพื่อพิสูจน์ทฤษฏีที่ว่า การเข้าไปในโรงพยาบาลเหล่านี้มันง่ายมาก แต่การจะกลับออกมามันยากกว่าหลายเท่า อาสาสมัครที่แกล้งมีอาการทางประสาทไม่สามารถถูกปล่อยตัวกลับออกมาได้ง่ายๆ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะบอกว่าตนเองเป็นปกติและหายดีแล้วก็ตาม แถมยังได้รับการปฏิบัติที่แย่ราวกับพวกเขาไม่มนุษย์ และสิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ได้เป็นอย่างดีก็คือ ทางโรงพยาบาลไม่สามารถแยกคนปกติออกจากผู้ป่วยจริงๆ ได้ เพราะอาสามัครที่อยู่ในโรงพยาบาลจิตเวชเหล่านี้ ก็มีคนที่แกล้งป่วยกว่า 30% ที่เป็นศาสตราจารย์ที่มาทำการทดลอง หรือแม้แต่เป็นนักข่าวก็ตาม (อ่านเรื่องเต็มได้ ที่นี่)
ย้อนกลับไปไกลกว่านั้นในปี ค.ศ. 1887 เนลลี บลี คือนักข่าวหญิงคนแรกที่ได้ทำการทดลองลักษณะนี้ และทำให้หลายๆ คนได้ตระหนักถึงความน่ากลัวของโรงพยาบาลจิตเวชอย่างที่ผู้คนภายนอกไม่เคยรู้มาก่อน
เนลลีตกลงที่จะรับงานสายลับให้กับทางหนังสือพิมพ์ นิวยอร์ค เวิลด์ เพื่อเข้าไปตรวจสอบสภาพความเลวร้ายในโรงพยาบาลจิตเวชหญิงบนเกาะแบล็คเวลล์ ในนิวยอร์ค เธอได้เผยประสบการณ์ทั้งหมดลงในหนังสือที่ชื่อว่า “Ten Days In A Mad-House” หรือแปลแบบตรงๆ ก็คือ “สิบวันในบ้านบ้า”
ในหนังสือของเธอได้อธิบายถึงช่วงเวลาที่บรรณาธิการของเธอเสนอโอกาสให้เข้าไปสำรวจในโรงพยาบาลจิตเวชแห่งนี้ เธอถามกับ บก. ว่า “คุณจะพาฉันออกมาได้อย่างไร หลังจากที่ฉันเข้าไปได้แล้ว ?”
“ผมไม่รู้” เขาตอบ “แต่เราจะพาคุณออกมา ถึงแม้เราจะต้องบอกว่าคุณเป็นใคร และแกล้งทำเป็นบ้าเข้ามาเพื่อมีจุดประสงค์อะไร”
เนลลีไม่เชื่อในความสามารถของตนเองว่าจะตบตาผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชได้ และเธอก็ไม่ค่อยเชื่อใน บก. ของเธออีกด้วย ซึ่งจากการตัดสินใจของเธอในครั้งนี้ ได้เปลี่ยนชีวิตของเธอไปตลอดกาล
เพื่อที่จะเข้าไปในโรงพยาบาลจิตเวชแห่งนี้ เธอต้องแกล้งทำเป็นคนบ้า และมันก็ไม่ได้ง่าย เธอใช้เวลาฝึกอยู่หลายวัน แม้แต่การทำหน้าประหลาดๆ หน้ากระจก รวมถึงยังไม่ได้อาบน้ำอีกด้วย จนกระทั่งเธอมั่นใจในการแสดงของเธอ เนลลีจึงได้ไปลงทะเบียนที่ สถานที่พักผู้ป่วยชั่วคราวสำหรับสุภาพสตรี ภายใต้ชื่อ เนลลี บราวน์ และเริ่มทำหน้าที่สายลับของเธอ
สิ่งที่เธอกังวลที่สุดก็คือกลัวถูกจับได้ เนลลีกล่าวว่า “ฉันคิดว่าเป็นงานที่ยาก ที่จะโน้มน้าวให้คนอื่นเชื่อว่าฉันบ้า ฉันไม่เคยใกล้เคียงกับการเป็นคนบ้ามาก่อนในชีวิต และไม่เคยมีไอเดียในหัวเลยว่าคนบ้าต้องทำตัวอย่างไร และฉันต้องถูกตรวจโดยหมอจำนวนมาก ผู้มีประสบการณ์อยู่กับคนบ้าทุกวัน แล้วฉันจะผ่านการทดสอบของหมอเหล่านี้ไปได้ยังไง ฉันกลัวว่าจะถูกจับได้”
แต่ปรากฏว่ามันไม่ยากอย่างที่คิด แค่เพียงไม่นานเนลลีก็เข้าไปอยู่ในฐานะผู้ป่วยได้สำเร็จ วินาทีที่เธอก้าวเข้าไปในโรงพยาบาลแห่งนี้ ก็มีผู้ป่วยคนหนึ่งเดินเข้ามาเรียกเธอทันทีว่า “บ้า” เธอพูดซ้ำๆ อย่างไม่เชื่อว่า “มันไม่ปรากฏอยู่บนใบหน้าของคุณ”
เนลลีใช้เวลา 10 วันอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวช และเธอก็ต้องช็อคกับสิ่งที่ต้องเจอ ถ้าเธอเข้ามาในโรงพยาบาลแห่งนี้ในสภาพปกติสมบูรณ์ เธอจะต้องทิ้งความสับสนและความหวาดกลัวทั้งหมดให้ได้ ในหนังสือของเธอเขียนถึงวิธีที่ผู้ป่วยทั้งหมดถูกทรมานด้วยวิธีที่โหดร้ายอย่างคาดไม่ถึง เช่น
1. ผู้ป่วยจะถูกทิ้งให้หนาวสั่น การขอผ้าห่มเพิ่มไม่เคยได้รับการตอบรับจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแต่อย่างใด
2. ผู้ป่วยหญิงเหล่านี้จะถูกทุบตีตลอดเวลา ถ้าไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง
3. ไม่มีมาตรการด้านความปลอดภัยเพื่อปกป้องผู้ป่วยหญิงเหล่านี้เลย ในกรณีถ้าเกิดไฟไหม้ พวกเธอจะต้องถูกเผาอยู่ในห้องที่ปิดตาย ไม่มีใครสามารถออกมาได้
4. ผู้ป่วยอันตรายจะถูกมัดด้วยเชือก แทนที่จะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม
เนลลียังกล่าวด้วยว่า หนึ่งในสิ่งที่เลวร้ายที่สุดของโรงพยาบาลจิตเวชก็คือ “อาหาร” ผู้ป่วยหญิงเหล่านี้จะได้รับชาที่เย็นชืดและขนมปังทาเนยที่แข็งจนแทบกินไม่ได้ เธอเคยแม้แต่พบแมงมุมในอาหารของเธอ ที่เลวร้ายไปกว่านั้นก็คือ ผู้ป่วยเหล่านี้จะถูกบังคับให้กินอาหารและถูกทุบตีถ้าพวกเธอไม่ยอมกิน
สำหรับการอาบน้ำก็เลวร้ายไม่แพ้กัน ผู้ป่วยหญิงจะถูกบังคับให้เปลือยต่อหน้าคนอื่นๆ และอาบน้ำด้วยน้ำที่เย็นจัด เนลลีกล่าวว่า “ฟันของสั่นจนกระทบกัน ร่างกายขนลุกไปทั้งตัวด้วยความหนาว น้ำที่อยู่ในถังที่เย็นราวกับน้ำแข็งถูกเทราดลงเหนือหัว เข้าไปในตา หู จมูก และปาก ฉันคิดว่าฉันเข้าใจความรู้สึกของคนที่กำลังจะจมน้ำ พวกเขาลากฉันออกมาจากอ่าง หายใจหอบ ตัวสั่นไม่หยุด จนฉันดูเหมือนกับคนบ้าจริงๆ”
ผู้ป่วยจะถูกบังคับให้นั่งบนม้านั่งตั้งแต่เวลา 6.00 – 8.00 น. ในตอนเช้าโดยที่ห้ามขยับหรือพูดคุยใดๆ พวกเธอไม่ได้รับอนุญาตให้อ่านหรือเขียนอะไรทั้งสิ้น และด้วยการกระทำเหล่านี้ก็สามารถทำให้คนปกติที่ไม่บ้า กลายเป็นคนบ้าได้อย่างรวดเร็ว
หลังจากที่เนลลีออกมาจากโรงพยาบาลได้ เธอได้เขียนประสบการณ์ 10 วันอันเลวร้ายที่ได้พบเจอมา เพื่อเผยถึงเบื้องหลังสถานที่ๆ ถูกเรียกว่าโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วย แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เลย และแค่เพียงไม่นานหนังสือของเธอก็โด่งดังเป็นอย่างมาก จนทำให้ทางคณะลูกขุนใหญ่เข้ามาตรวจสอบเรื่องราวในครั้งนี้ และได้มีเพิ่มงบประมาณกว่า 850,000 เหรียญ เพื่อปรับปรุงโรงพยาบาลจิตเวชทั้งหมดให้ดีขึ้น และมั่นใจว่าจะรับการรักษาได้เฉพาะผู้ป่วยหนักจริงเท่านั้นในอนาคต
เนลลีกล่าวในหนังสือว่า “อย่างน้อยฉันก็รู้สึกพอใจที่ได้รู้ว่า งานของฉันจะช่วยให้ผู้ป่วยที่น่าสงสารเหล่านั้นจะได้รับการปฏิบัติที่ดีขึ้น”
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ
ที่มา : boredpanda | เรียบเรียงโดย เพชรมายา