เราคงเคยได้ยินเรื่องของกฏหมายที่ไม่เป็นธรรมมามากมายหลายคดี แต่ส่วนมากเรามักจะได้ยินเรื่องราวของคนที่กระทำผิดในข้อหาอุกฉกรรจ์ แต่กลับติดคุกอยู่แค่เพียงไม่กี่ปี แต่ในกรณีนี้กลับตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง เพราะนี่เป็นเพียงคดีลักขโมยที่ดูเล็กน้อย แต่ผลการตัดสินของคดีนี้คือการจำคุกตลอดชีวิต
ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1977 เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งรัฐอลาบามา ได้ผ่านร่างกฏหมายเพื่อกวาดล้างอาชญากรที่กระทำความผิดซ้ำซ้อน จนส่งผลให้จำนวนนักโทษที่อาศัยอยู่ในเรือนจำพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อ้างอิงจากข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ในขณะนั้น มีนักโทษที่อยู่ในเรือนจำเพียง 3,455 คน หลังจากผ่านไปแค่หนึ่งทศวรรษ ตัวเลขกลับพุ่งสูงไปถึง 13,541 คน และภายในปี 2014 ตัวเลขก็เพิ่มมากไปอีกถึง 32,467 คน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?
เบธ เชลเบิร์น นักข่าวสาวได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับนักโทษรายหนึ่งที่อยู่ในเรือนจำโฮลแมน ในรัฐอลาบามา ชื่อของเขาคือ วิลลี ไซมอนส์ ชายที่ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต จากข้อกฏหมายที่ระบุว่าเขาเป็น “ผู้กระทำความผิดเป็นนิสัย”
เบธกล่าวเรื่องนี้ในทวิตเตอร์ของเธอว่า “วันนี้ฉันได้พูดคุยกับ วิลลี ไซมอนส์ ที่ใช้เวลาในคุกมานานถึง 38 ปี จากการขโมยเงินเเพียง 9 เหรียญ” เงิน 9 เหรียญ ถ้าตีเป็นเงินไทยในตอนนี้ก็แค่ 270 บาทเท่านั้น
แต่นั่นไม่ใช่ครั้งแรกของเขา วิลลี ไซมอนส์ คือชายจากเมืองเอนเตอร์ไพรส์ในอลาบามาที่มีชีวิตเหลวแหลกมาตั้งแต่ยังเป็นสมัยวัยรุ่น ซึ่งก่อนหน้านั้นเขาเคยกระทำความผิดมาแล้วถึง 3 ครั้งด้วยกัน
วิลลีบอกว่า คดีแรกของเขาก็คือลักทรัพย์ ครั้งที่สองคือการรับของโจร เขาใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำประมาณ 1 ปี ซึ่งมันเกิดขึ้นในช่วงปี 1979 เขาออกมากระทำความผิดซ้ำอีกเหมือนเดิม แต่เขาเองก็จำไม่ได้ว่าทำอะไรลงไปบ้าง
จนกระทั่งในปี 1982 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่เขามีอิสรภาพ ครั้งนี้เอง วิลลี ไซมอนส์ ในวัย 25 ปี ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานลักทรัพย์และถูกตัดสินใจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่มีการรอลงอาญามา โดยเจ้าหน้าที่รัฐได้บอกกับเขาว่า “คุณควรจบชีวิตอยู่ในคุก”
เมื่อเบธถามอายุของวิลลี เขานิ่งไปพักหนึ่งแล้วก็หัวเราะ ในปัจจุบันเขามีอายุ 62 ปีแล้ว “มันนานมากแล้วที่มีคนถามเรื่องนี้กับผม” วิลลีกล่าว นั่นเป็นเพราะไม่มีใครมาเยี่ยมเขาอีกตั้งแต่ที่น้องสาวของเขาเสียชีวิตไปในปี 2005 “ผมก็ไม่ได้พูดคุยกับคนนอกเลยนับจากนั้น”
วิลลีเล่าถึงคดีสุดท้ายที่เขาก่อขึ้น “ผมทุ่มชายคนหนึ่งลงไปที่พื้นและขโมยกระเป๋าสตางค์ของเขาที่มีเงินอยู่ 9 เหรียญ ผมพยายามหนี แต่ตำรวจก็จับผมได้ในอีกไม่กี่ช่วงตึกถัดไป”
เขาจำได้ว่า การพิจารณาคดีของเขากินเวลาเพียงแค่ 25 นาทีเท่านั้นก่อนที่ทนายที่ถูกแต่งตั้งมาจะไม่เรียกพยานใด ๆ อัยการไม่ได้เสนอข้อตกลงใด ๆ ถึงแม้ว่าคดีที่เขาเคยก่อมาทั้งหมดจะไม่ได้รุนแรงก็ตาม
“พวกเขาพูดแค่เพียงว่า เราจะทำอย่างดีที่สุดเพื่อให้คุณได้กลับออกไปยังท้องถนนเพื่อทำความดี” วิลลีกล่าว
ในช่วงตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เขาพยายามยื่นอุทธรณ์หลายครั้ง แต่ก็ไม่มีทนายคนไหนรับทำคดีของเขา ทุกคนต่างปฏิเสธหมด
วิลลีกล่าวว่า “ในสถานที่เช่นนี้ มันทำให้รู้สึกว่าคุณเองกำลังยืนอยู่เพียงลำพัง ผมไม่รู้จักใครข้างนอกที่จะโทรหาหรือคุยด้วย บางครั้ง ผมก็รู้สึกเหมือนตัวเองกำลังหลงทางในอวกาศ”
“ความหวังของผมคือการได้ออกไปจากที่นี่ สร้างครอบครัวกับผู้หญิงสักคน และทำตามประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ผมชอบบอกผู้คนให้รู้ว่า ยาเสพติดมันเลวร้ายแค่ไหน” และนั่นทำให้เขาไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับมันอีก ถึงแม้ว่าภายในเรือนจำจะเต็มไปด้วยสิ่งนี้ก็ตาม
ในปี 2014 ผู้ร่างกฏหมายได้ยกเลิกการอุทธรณ์ครั้งล่าสุดของเขา ทำให้ วิลลี ซิมมอนส์ ต้องรับโทษจำคุกตลอดชีวิตต่อไป แต่เขาก็ไม่ยอมแพ้และภาวนาให้การยื่นอุทธรณ์ครั้งต่อไปประสบผลสำเร็จ
เบธกล่าวว่า วิลลีไม่เคยปฏิเสธในความผิดที่เขาได้กระทำลงไป เธอไม่ได้เขียนเพื่อให้เขากลายเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่เขาได้ชดใช้ในสิ่งที่เขาก่อไปมาตลอดชีวิตไปแล้ว ซึ่งมากเกินไปด้วยซ้ำ มันทำให้ฉันคิดว่า ยังมีคนอื่นที่ถูกขังลืมอยู่ในเรือนจำแห่งนี้มากแค่ไหน
สุดท้าย เธอสรุปว่า หากเราคิดว่าคนร้ายทุกคนสมควรที่จะอยู่ในเรือนจำ เธออยากให้เราดู วิลลี ซิมมอนส์ เป็นตัวอย่างว่าเราควรแก้ไขกฏหมายที่ไม่เป็นธรรมในลักษณะนี้หรือไม่
หลังจากอ่านจบแล้ว คุณคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับกฏหมาย “ผู้กระทำความผิดเป็นนิสัย” ฉบับนี้บ้าง คนกระทำความผิดซ้ำซ้อนยังสมควรได้รับโอกาสให้กลับตัวอยู่อีกหรือไม่ ? หรือคุณคิดว่าการลงโทษผู้กระทำผิด ควรมีความเหมาะสมมากกว่านี้
ที่มา : boredpanda | เรียบเรียงโดย เพชรมายา
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ