ในทางเศรษฐศาสตร์ มีศัพท์ทางวิชาการที่เรียกว่า “Shrinkflation” ซึ่งหมายถึงการที่บริษัทปรับลดปริมาณหรือขนาดของสินค้าให้ลดลง เล็กลง แต่ยังคงขายในราคาเดิม โดยมีจุดประสงค์เพื่อรักษาอัตรากำไรของสินค้านั้น ๆ ไว้ หลายบริษัทเลือกใช้วิธีการนี้แบบแอบแฝง แต่ก็มีบางบริษัทที่ประกาศออกมาอย่างชัดเจนให้ลูกค้าได้รู้กัน
วันนี้เพชรมายาจะพาทุกท่านไปชมแบรนด์ดังที่เราคุ้นเคยกันดีกับการทำ Shrinkflation ของพวกเขา ซึ่งในมุมของผู้บริโภคเราอาจมองว่ากำลังถูกเอาเปรียบอยู่นั่นเอง
1. Doritos
เมื่อปีที่แล้ว มีชาว Reddit คนหนึ่งสังเกตว่า ถุงขนม Doritos ที่เขียนว่า “Bigger Bag More To Share” หรือ “ถุงใหญ่กว่า แบ่งได้มากขึ้น” แต่ในความเป็นจริงแล้ว ขนมข้างในซองกลับมีปริมาณ 500 กรัมเท่าเดิม ดูเหมือนผู้บริโภคจะได้แบ่งอากาศมากกว่า
2. Pringles
ในปี 2016 แฟน ๆ ของ Pringles สังเกตว่า มันฝรั่งแผ่นที่แสนอร่อยของพวกเขามีขนาดเล็กลงกว่าเดิม นอกจากนั้นขนาดของกระป๋องที่บรรจุมันยังเล็กลงกว่าเดิม จนทำให้พวกเขาเอื้อมลงไปหยิบได้ยากขึ้น ส่วนราคาไม่ต้องพูดถึง เพราะมันยังคงเท่าเดิมอยู่
ส่วนทางบริษัทได้ออกมาชี้แจงว่า เหตุผลที่ทุกอย่างเปลี่ยนไปเพราะพวกเขาย้ายฐานการผลิตจากอเมริกาไปยังมาเลเซีย อุปกรณ์ที่ใช้ผลิตจึงแตกต่างกันเล็กน้อย ทั้งกระป๋องและมันฝรั่งมีขนาดเล็กลงเพื่อให้เข้ากับโรงงานผลิต
3. Toblerone
เรื่องนี้เคยกลายเป็นไวรัลในปี 2016 เมื่อ Toblerone ออกมาประกาศเองว่า พวกเขาได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบ “เนินเขาช็อกโกแลต” ที่เป็นเอกลักษณ์ของช็อกโกแลต Toblerone เสียใหม่ โดยเว้นช่องว่างให้กว้างขึ้น แต่สิ่งที่พวกเขาไม่ได้บอกก็คือ ช็อกโกแลตที่ผู้บริโภคได้จะมีปริมาณลดลงถึง 10% ด้วยราคาที่เท่าเดิม
เห็นได้ชัดว่าเรื่องนี้เกิดมาจากราคาต้นทุนส่วนผสมที่เพิ่มขึ้น และแฟน ๆ ของ Toblerone เองก็ไม่โอเคกับสิ่งนี้ จนกระทั่ง 2 ปีต่อมา ทางบริษัทตัดสินใจนำช็อกโกแลตรูปทรงเดิมกลับมาวางจำหน่ายอีกครั้ง แต่น่าเสียดายที่ราคาของมันก็ถูกปรับให้สูงขึ้นอีกด้วย
4. Twix
ช็อกโกแลตแท่งที่มีขนาดหดลงอยู่ตลอดเวลาแต่ราคาของมันไม่เคยเปลี่ยน Twix ในวันนี้มีขนาดเล็กลงกว่าเดิมถึง 14% จากตอนแรกที่มันวางจำหน่าย สาเหตุหลัก ๆ มาจากปี 2012 เมื่อบริษัท Mars (ผู้ผลิต Twix) ได้ออกมาประกาศว่า พวกเขาจะจำกัดปริมาณแคลอรีสำหรับช็อกโกแลตแท่งทั้งหมดไม่ให้เกิน 250 แคลอรี นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ผลิตภัณฑ์ของพวกเขาต้องลดขนาดลงตามไปด้วย
5. Charmin
แบรนด์กระดาษชำระจากอเมริกาที่เคยตกเป็นข่าวว่าม้วนกระดาษชำระของพวกเขามีขนาดสั้นลง โดยปกติแล้วกระดาษชำระจะมีขนาดมาตรฐานคือ 4.5 นิ้ว แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ตอนนี้ความยาวของมันหดลงเหลือแค่ 3.8 นิ้ว ซึ่งผู้บริโภคยังคงต้องจ่ายในราคาเดิมอยู่
6. Mars
เมื่อปีที่แล้ว ชายคนหนึ่งนามว่า วิลเลียม ไนท์ ได้พบกับลังเก่าในห้องใต้หลังคาของเขา ในนั้นมีช็อกโกแลตแท่ง Mars ที่ถูกผลิตในปี 1996 อยู่ข้างใน เขาตัดสินใจนำช็อกโกแลตแท่งเก่ามาเปรียบเทียบกับช็อกโกแลตแท่ง Mars ที่วางขายอยู่ในปัจจุบัน แล้วเขาก็ต้องประหลาดใจเมื่อพบว่ามันมีขนาดต่างกันมาก แถมช็อกโกแลตของใหม่ที่มีขนาดเล็กกว่า ยังมีราคาแพงขึ้นถึง 2 เท่า
7. Oreo
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา Double Stuf Oreo มีขนาดเล็กลง โดยเปลี่ยนจากขนาด 16.6 ออนซ์ เป็น 15.35 ออนซ์ โดยยังขายในราคาเดิมอยู่
8. Coca-cola
ในปี 2014 โค้กได้ลดขนาดขวดใหญ่ของพวกเขาลง จาก 2 ลิตรเป็น 1.75 ลิตร แน่นอนว่าราคานั้นยังคงเท่าเดิม
9. Lay’s
เป็นที่น่าสงสัยว่า ทำไม Lay’s บางรสชาติถึงมีมันฝรั่งน้อยกว่ารสอื่น ๆ ตัวอย่งาเช่น Lay’s ขนาด “Family Size” แพ็ก 10 ออนซ์ แต่บางรสชาติกลับมีปริมาณแค่ 9.5 ออนซ์ แต่ทั้ง 2 รสชาติก็ขายในราคาเดียวกัน โดยมีข้อมูลระบุว่า ปริมาณมันฝรั่งแผ่นนั้นแตกต่างกันประมาณ 5-6 แผ่น
10. Tropicana
ย้อนกลับไปในปี 2017 ผู้บริโภคเริ่มสังเกตว่า ปริมาณน้ำผลไม้ Tropicana แบบกล่องขนาด Family Size มีขนาดเล็กลงกว่าเดิมเกือบ 9% จาก 1.75 ลิตร เหลือ 1.6 ลิตร ซึ่งราคายังคงเท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
11. Heinz
เมื่อปีที่แล้ว น้ำสลัดของ Heinz มีปริมาณลดลงประมาณ 9% จาก 655 กรัม เหลือ 605 กรัม แถมราคายังแพงขึ้นอีกด้วย
12. Cadbury
บริษัทผลิตช็อกโกแลตจากสหราชอาณาจักรประกาศว่า ภายในสิ้นปี 2021 พวกเขาจะลดปริมาณแคลอรีของช็อกโกแลตแท่งไม่ให้เกิน 200 แคลอรี พวกเขากล่าวว่า “เราต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญาโรคอ้วนและมุ่งมั่นจะทำเช่นนั้นโดยไม่ลดทอนทางเลือกของผู้บริโภค”
อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่ได้มีแผนที่จะเปลี่ยนแปลงราคาแต่อย่างใด
ที่มา : boredpanda | เรียบเรียงโดย เพชรมายา
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ