ในการทำธุรกิจคุณอาจต้องตัดสินใจบางสิ่งบางอย่างอยู่ตลอดเวลา แต่คุณไม่อาจรู้ได้ว่า การตัดสินใจครั้งไหนที่จะพลิกชีวิตบริษัทคุณได้ในอนาคต และบางครั้งการตัดสินใจบางอย่างก็อาจผิดพลาดจนไม่สามารถประเมิณมูลค่าความเสียหายได้
วันนี้เพชรมายาจะพาทุกท่านไปชม 5 เรื่องราวการตัดสินใจที่ผิดพลาดของบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่มันได้พลิกประวัติศาสตร์ของพวกเขาไปตลอดกาล
1. Kodak ที่ยึดติดในกล้องฟิล์ม
Eastman Kodak คือบริษัทที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีการถ่ายภาพที่เรารู้จักกันดี แต่รู้หรือไม่ว่า Kodak คือผู้พัฒนากล้องดิจิทัลรายแรกของโลก ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975 และได้มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาเรื่อย ๆ โดยพยายามปรับให้กล้องดิจิทัลมีศักยภาพตรงกับกล้องฟิล์ม แทนที่จะไปใส่ใจกับการพัฒนาความเป็นดิจิทัลของกล้องจริง ๆ
ในที่สุดพวกเขาก็กลับไปให้ความใส่ใจกับกล้องฟิล์มแทนเพราะมันทำเงินได้มากกว่าในขณะนั้น ผลสุดท้าย Kodak ต้องประกาศล้มละลายในเดือนมกราคม ค.ศ. 2012 และประกาศเลิกผลิตกล้องดิจิทัล กล้องวิดีโอ แต่ไปทำการตลาดด้านบริการภาพถ่ายดิจิทัลแทน
2. Xerox ผู้สร้างต้นแบบของคอมพิวเตอร์ยุคใหม่
เราคุ้นเคยกับ Xerox หรือ ซีร็อกซ์ ในฐานะเป็นเครื่องถ่ายเอกสารอันดับ 1 แต่คุณอาจไม่เคยรู้ว่า ในทศวรรษที่ 70 พวกเขาเคยคิดค้นคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยสุด ๆ ที่มีหน้าจอ Desktop มีการจัดแบ่งไฟล์แบบ Folder และการ Copy/Paste มาก่อน แต่ปัญหาก็คือผู้รับผิดชอบในขณะนั้นเป็นนักธุรกิจที่ไม่มีความรู้ด้านเทคนิคมากเท่าไหร่
Xerox ไม่ได้ทำอะไรเลยกับนวัตกรรมของพวกเขาแถมยังมอบมันให้กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมไปถึงแสดงให้กับบริษัทอื่นดู ความพีคของเรื่องนี้ก็คือ สตีฟ จ็อบส์ เห็นสิ่งนี้ และภายใน 5 นาทีเขาก็รู้ได้ว่ามันคือ คอมพิวเตอร์ที่จะทำงานได้ในอนาคต เขาเลียนแบบมันเพราะ Xerox ไม่ได้จดสิทธิบัตรนวัตรกรรมคอมพิวเตอร์ของพวกเขา ส่วนที่เหลือก็เป็นประวัติศาสตร์ที่ทำให้เรารู้จัก Apple มาจนถึงทุกวันนี้
3. Nintendo ผู้ยึดติดกับเกมตลับ
หลายคนคงทราบกันดีว่า Nintendo และ Sony ต่างก็เป็นผู้ผลิตเกมคอนโซลชั้นำของโลก และเป็นคู่แข่งที่ห้ำหั่นกันบนธุรกิจเกมมาตั้งแต่อดีต แต่ครั้งหนึ่ง บริษัท Nintendo เคยจับมือกับ Sony เพื่อพัฒนาเกมคอนโซลที่ใช้เล่นกับแผ่น CD-ROM จนถึงกับพัฒนาเครื่องต้นแบบ Nintendo Playstation มาแล้ว
ทุกอย่างเหมือนจะไปได้ด้วยดีแต่การตกลงผลประโยชน์กลับไม่ลงตัว รวมถึงการที่ Nintendo ยังคงยึดติดกับเทคโนโลยี “เกมตลับ” ในขณะที่ Sony มองว่ามันล้าหลังไปแล้ว ทำให้ Nintendo ตัดสินใจยกเลิกสัญญากับ Sony และฉีกหน้าด้วยการไปจับมือกับ Philips แทน
Sony ตัดสินใจเดินหน้าพัฒนาเครื่องเล่นเกมด้วยแผ่น CD-ROm เป็นของตัวเอง และมันกลายเป็นเครื่องเกมที่ขายดิบขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยชื่อของมันคือ Sony Playstation
4. Blockbuster เกือบได้เป็นเจ้าของ Netflix
Blockbuster เคยเป็นอดีตบริษัทร้านเช่าวิดีโอที่ใหญ่ที่สุดในโลกในช่วงต้นยุค 90 โดยมีจำนวนมากกว่า 1,000 สาขา และยังขยับขยายไปทั่วโลก ในขณะที่ Netflix เองได้ก่อตั้งขึ้นในปี 1997 โดยเริ่มจากการเป็นบริษัทให้เช่าแผ่น DVD ทางไปรษณีย์ ที่มาส่งให้คุณถึงบ้าน และกำลังต่อยอดไปสร้างระบบออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
แต่ในขณะที่ธุรกิจของ Netflix กำลังเติบโต พวกเขาก็ประสบปัญหาทางการเงินเช่นกัน และพวกเขาก็หันไปหาเบอร์ 1 ในอุตสาหกรรมเช่าวิดีโอในขณะนั้น โดยหวังว่าทาง Blockbuster จะสนใจซื้อกิจการของพวกเขา การพูดคุยรายละเอียดเป็นไปได้ด้วยดี ติดที่มูลค่าบริษัทที่ Netflix เสนอขายนั้นสูงถึง 50 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 1,500 ล้านบาท ดีลนี้ถูกยกเลิกทันทีเพราะ Blockbuster ไม่เชื่อว่า Netflix ควรจะแพงขนาดนั้น
Blockbuster เข้าสู่สภาวะล้มละลายในปี 2010 ในขณะที่ปัจจุบัน Netflix มีมูลค่าบริษัทที่สูงกว่า 6 ล้านล้านบาท
5. Yahoo! ที่อาจไม่ล่มสลายถ้าได้เป็นเจ้าของ 2 บริษัทนี้
ถ้าพูดถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ด้าน IT เมื่อ 20 กว่าปีก่อนเราต้องยกให้ Yahoo! ที่ครองโลกอินเทอร์เน็ตในยุคเริ่มแรก และในปี 1998 พวกเขาเคยถูกบริษัทสตาร์ตอัพขนาดเล็กมาเสนอขายบริษัทตัวเองในราคา 1 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 30 ล้านบาท แต่พวกเขาปฏิเสธ
ในปี 2002 Yahoo! เริ่มกลับมาสนใจบริษัทดังกล่าว และยื่นข้อเสนอที่มีราคาสูงถึง 3,000 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 9 หมื่นล้านบาท แต่บริษัทนั้นกลับปฏิเสธเพราะคิดว่าตัวเองไปได้ไกลกว่านั้น และทุกวันนี้ทุกคนรู้จักพวกเขาในชื่อ Google
ไม่ใช่แค่พลาดการซื้อ Google เพราะในปี 2006 Yahoo! เคยยื่นข้อเสนอให้กับบริษัทที่เพิ่งตั้งมาได้ 2 ปี ในราคา 1,000 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท แต่คนที่ปฏิเสธพวกเขาคือเด็กหนุ่มวัย 22 ปีที่ชื่อ มาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก ผู้เป็นเจ้าของ Facebook นั่นเอง
ปัจจุบัน Yahoo! ถูกขายและเปลี่ยนชื่อใหม่ จนไม่มีใครในยุคนี้จดจำพวกเขาได้อีกต่อไป
ที่มา : boredpanda | เรียบเรียงโดย เพชรมายา
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ